แกะงบฯ ‘ขสมก.’แบกหนี้ 1.3 แสนล้าน ‘คลัง’จี้เร่งปฏิรูปลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง และต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาและกำกับให้ดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูฯมาตั้งแต่ปี 2560
ปัจจุบัน ขสมก.ยังไม่สามารถที่จะพลิกฟื้นสถานะขององค์กรให้กลับมามีกำไรได้ และต้องมีการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทุกปี เช่นเดียวกับในปีงบประมาณ 2566 ขสมก.ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อกู้เงินเสริมสภาพคล่องประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 7,516.909 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ และกำหนดวิธีการกู้เงิน และรายละเอียดต่างๆ
ทั้งนี้ ขสมก.ได้รายงานต่อ ครม.ว่าการเสนอขออนุมัติการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เนื่องจาก ขสมก.ประสบภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง และขาดสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งไม่ได้รับเงินชดเชยผลการขาดทุนตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริงซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ ขสมก.เก็บค่าโดยสารตามอัตราที่ภาครัฐกำหนด
ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงและไม่สามารถปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามสภาวการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้มีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน ภาระหนี้สินสะสม และดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในปัจจุบัน ขสมก.อยู่ระหว่างดำเนินการทบทวน (ร่าง) แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. (ฉบับปรับปรุงใหม่) ร่างแผนฟื้นฟูกิจการฯ ทำให้ ขสมก.ยังคงมีหนี้สินค้างชำระรวมทั้งสิ้น 132,565.3 ล้านบาท
โดย ขสมก.มีรายการหนี้สินโดยประมาณดังนี้
1.หนี้พันธบัตรเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย 8.96 หมื่นล้านบาท
2.หนี้เงินกู้ระยะยาวพร้อมดอกเบี้ย 3.34 หมื่นล้านบาท
3.หนี้ค่าเชื้อเพลิง 126.5 ล้านบาท
4.หนี้ค่าซ่อมซ่อม 130.01 ล้านบาท
5.ภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงาน 1,573.377 ล้านบาท
6.หนี้กองทุนบำเหน็จพนักงาน 3,775.82 ล้านบาท
7.เจ้าหนี้ตามสัญญาเช่าระยะยาว 38.28 ล้านบาท
8.เงินประกันตัวพนักงาน 37.07 ล้านบาท
9.เงินสำรองอุบัติเหตุ 60 ล้านบาท
และ 10.หนี้สินอื่นๆ 3,709 ล้านบาท
ทั้งนี้ ขสมก.ได้จัดทำประมาณการเงินสดรับ – จ่าย ในปีงบประมาณ 2566 คาดว่าจะมีเงินสดคงเหลือปลายงวดขาดมือ จำนวน 42,640.66 ล้านบาท มาจากประมาณการเงินสดรับ 8,695.45 ล้านบาท ประมาณการเงินสดจ่าย 51,336.12 ล้านบาท ประมาณการเงินสดคงเหลือปลายงวดจึงขาดเงินทั้งสิ้น 4.2 หมื่นล้านบาท ขสมก.จึงต้องขอกู้เงินในจำนวนดังกล่าว โดยส่วนหนี่งจะนำไปชำระหนี้เงินกู้และไถ่ถอนพันธบัตรเงินกู้ จำนวน 3.51 หมื่นล้านบาท
ขสมก.ได้นำเสนอต่อกระทรงงการคลัง เพื่อขอให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อบรรจุเข้าแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2566 ในส่วนของเงินกู้ที่ ขสมก.ต้องขอกู้เพิ่มเติมจำนวน 7.51 พันล้านบาทตามที่ ครม.อนุมัติ โดยวงเงินในส่วนนี้แบ่งเป็นค่าเชื้อเพลิง 2.25 พันล้านบาท ค่าเหมาซ่อม 1.422 ล้านล้านบาท และเสริมสภาพคล่องทางการเงิน รวม 3.844 พันล้านบาท
กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และค้ำประกันเงินกู้ให้กับ ขสมก.ให้ความเห็นประกอบว่า ขสมก. ต้องดำเนินการกู้เงินให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 และระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561 โดยเคร่งครัด เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สะสมและพัฒนาการให้บริการแก่ประชาชนของ ขสมก. รวมทั้ง ลดภาระทางการคลังของภาครัฐ เห็นควรให้คมนาคมโดย ขสมก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1.ให้ ขสมก. เร่งทบทวนแนวทางการปฏิรูปและจัดทำร่างแผนฟื้นฟูกิจการฯ เพื่อให้การแก้ไข ปัญหาภาระหนี้สะสมของ ขสมก. เป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนแปลงไป ต้นทุนและเทคโนโลยีของรถโดยสารไฟฟ้า (EV ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ได้จัดทำในปี 2563 และบทบาทของ ขสมก. ในการช่วยเหลือประชาชนให้มีค่าใช้จ่าย ในการเดินทางที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี ในระหว่างการจัดทำร่างแผนฟื้นฟูฯ ขอให้กระทรวงคมนาคมกำกับให้ ขสมก. เร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ขององค์กร
โดยการจัดทำแผนการดำเนินงานในระยะสั้นสำหรับกิจกรรมที่สามารถดำเนินการได้ก่อนในส่วนที่สอดคล้องกับร่างแผนพื้นฟูกิจการฯ โดยเฉพาะแผนการจัดหารถโดยสารในส่วนที่มีความจำเป็นเร่งด่วน การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ แผนการศึกษาพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจ ตลอดจนการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความกระชับ เป็นตัน รวมทั้งให้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการดังกล่าวให้กระทรวงการคลังทราบด้วย
2.ให้ ขสมก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คนน.) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 เรื่องแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ไปพิจารณาดำเนินการ โดย คนน.ได้มีความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ของ ขสมก. ว่า ครม.มีมติให้รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยจ่ายสำหรับหนี้เงินกู้ของ ขสมก. ที่เกิดขึ้นก่อน วันที่ 25 มิถุนายน 2562 แล้ว จึงเห็นควรให้รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยจ่ายสำหรับหนี้ที่เกิดหลังวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ ขสมก. ก่อหนี้สะสมเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น และเนื่องจาก ขสมก. จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการขนส่งสาธารณะแก่ประชาชนได้
ดังนั้น จึงเห็นควรให้รัฐบาลชดเชยผลขาดทุนรายปีให้แก่ ขสมก. ตามมาตรา 11 แห่งพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2559 ตามจำนวนเท่าที่จำเป็น รวมทั้งดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้เงินที่เป็นผลมาจากการขาดทุนดังกล่าวเมื่อ ขสมก. สามารถปิดงบการเงินประจำปี และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รับรองแล้ว และขอให้ ขสมก. ดำเนินการลดสัดส่วนพนักงานต่อค้นรถเพื่อให้การดำเนินงานและการบริหารต้นทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง
การเช่ารถโดยสารจากเอกชนโดยให้คำนวณระยะทางในการเช่าเดินรถตั้งแต่ต้นสายจนถึง ปลายสายเท่านั้น