เปิดข้อเสนอ 'แพคเกจ ABC' เอกชนเสนอรัฐบาลช่วยฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวไทย
สศช.เผยเตรียมประสานทุกหน่วยงานเดินหน้าช่วยภาคท่องเที่ยว เปิดข้อเสนอเอกชนท่องเที่ยวเข้าพบนายกรัฐมนตรี ชงชุดมาตรการ ABC เสนอขอฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวถึงสิ้นปี ช่วยให้นักท่องเที่ยวเข้าไทย 10 ล้านคนในปีนี้ นายกฯหวังดึงกลุ่มDigital Nomad เข้าไทยมากขึ้น
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมานายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำผู้บริหารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผู้บริหารการกีฬาแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว 12 หน่วยงาน เข้าพบหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อนำเสนอข้อมูล และแนวทางการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าข้อเสนอของเอกชนภาคท่องเที่ยวที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณานั้น รัฐบาลได้มีการรับข้อเสนอไว้และนำข้อเสนอนี้ไปหารือเพิ่มเติมกับกระทรวงท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และภาคเอกชน เพื่อลงในรายละเอียดที่มีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ และจัดลำดับความสำคัญของมาตรการที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือและสนับสนุนก่อนและหลังว่ามีอะไรบ้าง
ทั้งนี้เมื่อหารือในรายละเอียดที่ชัดเจนแล้วจากนั้นจะเอาข้อเสนอของภาคเอกชนไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตรง เช่น ข้อเสนอเรื่องวีซ่าก็ต้องหารือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ข้อเสนอเรื่องภาษีก็ต้องหารือกับกระทรวงการคลัง ข้อเสนอเรื่องของการพัฒนาทักษะแรงงาน Up Skills และ Re Skills ส่วน จะมีการหารือกับกระทรวงแรงงาน เป็นต้น
ทั้งนี้การพิจารณามาตรการในครั้งนี้จะไม่ใช้กลไกของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) และไม่ได้ใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท
“ข้อเสนอในครั้งนี่้เป็นการขอให้ภาครัฐช่วยสนับสนุน อำนวยความสะดวก ปรับปรุงกฎเกณฑ์บางอย่างให้กับภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งในข้อเสนอไม่มีเรื่องของการขอใช้งบประมาณแต่อย่างไร ”
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าการนำเสนอข้อมูล และแนวทางการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้เสนอชุด “มาตรการ ABC” เพื่อฟื้นฟูประเทศและพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทย เพื่อจะช่วยกระตุ้น เศรษฐกิจ กระจายรายได้อย่างทั่วถึงตลอดห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ก่อให้เกิดการจ้างงาน รวมทั้งเป็นการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้แก่
1.“มาตรการ A” หรือ Accelerate Travel & Tourism Spending เป็นการเร่งรัดให้เกิดการ ใช้จ่ายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ช่วยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติพำนักในไทยในระยะเวลาที่นานขึ้น โดยพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าเป็นการชั่งคราวจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2565 และขอขยายระยะเวลาพำนักของ Tourist Visa จาก 15 วันเป็น 45 วัน และ Visa on Arrival (VOA) จาก 30 วันเป็น 45 วัน
โดยการขยายระยะเวลาวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติพำนักนานขึ้น มีการใช้จ่ายมากขึ้น เป็นการเพิ่มเติมกำลังซื้อสำหรับเศรษฐกิจในประเทศ และยังสอดรับกับปีท่องเที่ยวไทย (Visit Thailand Year 2022-2023) ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย
2. “มาตรการ B” หรือ Booster shot เพื่อผลักดันการฟื้นการท่องเที่ยวทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยมุ่งส่งเสริมให้สายการบินเพิ่มความถี่และจำนวนที่นั่งตามแผนการบินระหว่างประเทศขาเข้า (International Seat Capacity) และแผนการบินภายในประเทศ (Domestic Seat Capacity) ในการเดินทางในเส้นทางการบินเดิม การเปิดเส้นทางใหม่ หรือการเช่าเหมาลำ (Chartered Flights) ทำให้เกิดความสะดวกในการเดินทาง ในราคาค่าโดยสารสมเหตุสมผล เพิ่มการเชื่อมโยงและยังช่วยกระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองท่องเที่ยว หลักและเมืองรอง
ตั้งเป้าหมายในการนำความถี่และจำนวนที่นั่งตามแผนการบินระหว่างประเทศขาเข้า (International Seat Capacity) และแผนการบินภายในประเทศ (Domestic Seat Capacity) กลับมาไม่น้อยกว่า 50% ของความถี่และจำนวนที่นั่งตามแผนการบินระหว่างประเทศขาเข้า (International Seat Capacity) และแผนการบินภายในประเทศ (Domestic Seat Capacity) ที่เคยมีในปี 2562 ภายในสิ้นปี 2565 นอกจากนี้ยังจะนำผู้ประกอบการทำการตลาด เชิงรุกผ่านเทรดโชว์และ โรดโชว์อย่างเข้มข้นในต่างประเทศ พร้อม ๆ กับการทำงาน ร่วมกับพันธมิตร เพื่อส่งเสริมการขาย และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทยไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2565
สำหรับตลาดในประเทศ มุ่งกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศที่เน้นการเพิ่มวันพักค้างและความถี่ในการเดินทาง โดยตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยว 160 ล้านคน/ครั้ง และอัตราการเข้าพักแรม (Occupancy Rate) เฉลี่ยทั่วประเทศของโรงแรมที่กลับมาเปิดให้บริการ อยู่ในระดับที่ไม่น้อยกว่า55% โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าและบริการ
ท่องเที่ยวที่ต้องพักค้างกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ความสำคัญ กับภาคธุรกิจและโรงแรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่อยู่ในระบบฐานภา โดยจัดส่งเสริมการตลาดให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านห้อง/คืน การทำคูปองท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และการสนับสนุน รถทัวร์ เพื่อใช้ในการเดินทางศึกษาดูงานหรือการประชุมสัมมนาในต่างจังหวัด
3. “มาตรการ C” หรือ Cost-effective เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ ลดต้นทุน เพิ่มสภาพคล่อง ส่งเสริมขีดความสามารถในการ แข่งขันระยะยาว โดยการผ่อนผัน แก้ไขระเบียบ คำสั่ง และ/หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราว
ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างเหมาะสมและยืดหยุ่น ได้แก่
1) ปรับอัตราการเบิกจ่ายในการอบรม การจัดงาน และประชุมระหว่างประเทศ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศซึ่งอัตราเดิมต่ำมากและใช้มาเป็นเวลา 10 ปี ให้สอดคล้องกับระดับราคาที่เป็นปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านอาหารและวัตถุดิบที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
2) การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการกรณีเดินทางเป็นหมู่คณะผ่อนผันให้จ้างเหมาบริการผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้โดยตรง และอนุญาตให้ใช้ใบแจ้งหนี้ของผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวเป็นหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายและใช้ใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานการจ่าย
3) ให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม นำรายจ่ายที่เกี่ยวกับการต่อเติมหรือปรับ ขยายกิจการ การปรับปรุงอาคารและเฟอร์นิเจอร์ (Build-in) และการลงทุนในเรื่องนวัตกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อลกต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน สามารถนำมาใช้เป็นรายจ่ายของกิจการได้ 2 เท่า (200%) ของรายจ่ายที่จ่ายจริงขยายเวลาอนุญาตให้นำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิ (Tax Loss Carry Forward) จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ 5 ปี เป็น 10 ปี
4) ขอผ่อนชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เรียกเก็บในปี พ.ศ. 2565 เป็นงวดโดยไม่คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม รวมถึงพิจารณาลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม โดยจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันได ปี 2566 และลดหย่อนภาษี 75% ในปี 2567 ลดหย่อน 50% และปี 2568 ลดหย่อน 25% ตามลำดับ
5) เพื่อลดภาวะแรงงานขาดแคลนในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม พิจารณาสนับสนุนและผ่อนผันกฎ ระเบียบ วิธีปฏิบัติ ตลอดจนลดขั้นตอนเพื่อรับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานจนถึงปี 2567 โดย ผ่อนผันให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการจดแจ้งกลุ่มแรงงานไม่มีทักษะ ได้แก่ แม่บ้าน พนักงานทำความสะอาด พนักงานล้างจาน คนสวน ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องผ่านบริษัทนายหน้า หรือบริษัทตัวแทน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และอนุญาตให้จดแจ้งได้ตลอดระยะเวลา ผ่อนผันให้ปรับลดเงินได้ท้ายคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ใน ราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวที่กำหนดคนต่างด้าวสัญชาติประเทศในทวีปเอเชีย (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นประเทศเกาหลีใต้ ประเทศสิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ประเทศกัมพูชา ประเทศพม่าประเทศลาว และประเทศเวียดนาม) และทวีปอเมริกาใต้ ประเทศในเขตยุโรปตะวันออก ประเทศในเขตอเมริกากลาง ประเทศเม็กซิโก ประเทศรัสเซีย และประเทศแอฟริกาใต้ มีรายได้ขั้นต่ำ 30,000 บาทต่อเดือนเป็น 20,000 บาทต่อเดือน
6) สนับสนุนให้มีการจัดฝึกอบรม พัฒนาทักษะการให้บริการ ทั้ง Upskill และ Reskill ให้กับบุคลากร เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการและความปลอดภัย โดยเร่งรัดจัดหา ผู้ทรงคุณวุฒิลงพื้นที่ เพื่อดำเนินการสอนภายในโรงแรม หรือในกลุ่มโรงแรมที่รวมตัวกันได้ และมีการอบรมเพิ่มเติมสำหรับตำแหน่งขาดแคลน ได้แก่ ช่างซ่อมบำรุงประจำโรงแรม ช่างไฟฟ้า ช่างเทคนิค รวมทั้งจัดตลาดแรงงานในภูมิภาค เชื่อมโยงข้อมูลแรงงาน
7) สนับสนุนกลุ่มแรงงานหลังเกษียณที่ยังคงมีศักยภาพพร้อมเรียนรู้ กลับเข้าสู่การบริการ และนำผู้ประกอบการไปรับสมัครงานในแต่ละพื้นที่ในโอกาสแรก และประสานหน่วยงานพัฒนาฝีมือแรงงานและสถาบันการศึกษาระดับอาชีวะศึกษาและปริญญาตรี ในการพัฒนานักศึกษาจบใหม่ หรือบุคลากรฝีมือเพื่อตอบสนอง การขาดแคลนตำแหน่งงานฝีมือในโรงแรม เช่น งานช่าง และผู้ปรุงอาหารในครัว โดยเร่งด่วน
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์ และแนวโน้มด้านการท่องเที่ยว ยินดีที่หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวมีการบูรณาการ เดินหน้านโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยว สอดรับกับ “ปีส่งเสริมท่องเที่ยวไทย 2565-2566” เชื่อมั่นด้วยศักยภาพไทยยังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว
โดยขณะนี้กระแสการท่องเที่ยวที่ให้นักเดินทางใช้ชีวิตและทำงานได้ทุกที่ง่ายยิ่งขึ้นกำลังได้รับความน่าสนใจเป็นอย่างมาก (Digital Nomad) ซึ่ง ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของกลุ่มนี้ หลังกรุงเทพฯ ครองอันดับ 2 เมืองดีที่สุดในโลกที่เหมาะสำหรับการทำงาน–ท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กัน ซึ่ง Airbnb ได้ประกาศความร่วมมือกับ 20 จุดหมายปลายทางทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ภายใต้โครงการ Live and Work Anywhere เพื่อช่วยส่งเสริมจุดหมายปลายทางที่เหมาะสำหรับคนทำงานทางไกลในระดับโลก ด้วยศักยภาพ และความพร้อมที่รัฐบาลพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยจุดหมายปลายทางประกอบด้วย จุดหมายปลายทางในระดับประเทศ ไปจนถึงเมืองรองที่มีเอกลักษณ์ เอื้อแก่ผู้ต้องการอาศัยและทำงานในภูมิภาคอื่น
“นายกฯ ให้ความสำคัญ สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ผลักดันสนับสนุนการท่องเที่ยวในหลายรูปแบบ โดยมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองในพื้นที่ 55 จังหวัดทั่วประเทศ ที่มุ่งกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในเมืองรอง เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และกระจายรายได้จากการมาเยือนของนักท่องเที่ยวสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อให้ความเข้มแข็งเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับฐานรากของเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ ยืนยันไทยพร้อมรับนักท่องเที่ยว โดยนายกฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งสร้างความเข้มแข็ง เตรียมความพร้อมในทุกด้าน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ตลอดจนให้หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้ทุกส่วน ผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย ประชาชนพร้อมเดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”