‘ชาติศิริ’ แบงก์กรุงเทพ คว้า 2 รางวัลใหญ่ หลังพาธุรกิจเติบโต-ยั่งยืน

‘ชาติศิริ’ แบงก์กรุงเทพ คว้า 2 รางวัลใหญ่ หลังพาธุรกิจเติบโต-ยั่งยืน

ธนาคารกรุงเทพ คว้ารางวัล Best Managed Bank in Thailand พร้อมกับ “ชาติศิริ โสภณพนิช” คว้ารางวัล The Asian Banker CEO Leadership Achievement for Thailand Award หลังโชว์ผลงานยอดเยี่ยม จากเข้าซื้อกิจการเพอร์มาตา ก้าวสู่แบงก์ใหญ่อันดับ 6 ในอาเซียน

       ตามที่ ดิ เอเชี่ยน แบงก์เกอร์ (The Asian Banker) นิตยสารด้านการเงินชั้นนำของเอเชีย ได้ประกาศมอบรางวัล Best Managed Bank in Thailand ให้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ รางวัล The Asian Banker CEO Leadership Achievement for Thailand Award

      ให้แก่ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งพิจารณาจากผลการดำเนินงานในช่วงเดือนมกราคม 2562 – ธันวาคม 2564

       นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่นิตยสาร ดิ เอเชี่ยน แบงก์เกอร์ ได้พิจารณามอบ 2 รางวัลดังกล่าว แก่ตนเอง และธนาคารกรุงเทพ

      นับเป็นรางวัลที่ยืนยันถึงการดำเนินธุรกิจได้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ตั้งแต่การกำหนดนโยบายทางธุรกิจร่วมกับคณะกรรมการบริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และผู้บริหารที่มากประสบการณ์ การขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การดำเนินงานจริงอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับพนักงานทุกระดับ ที่ช่วยกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินที่มีคุณค่าต่อลูกค้า ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ อย่างรอบด้าน สอดคล้องกับหลักการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance – ESG)

‘ชาติศิริ’ แบงก์กรุงเทพ คว้า 2 รางวัลใหญ่ หลังพาธุรกิจเติบโต-ยั่งยืน        ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยความท้าทายสำหรับธุรกิจการเงินธนาคารหลายประการ โดยประเด็นใหญ่ที่สุดคือ ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทุกธุรกิจ

      ซึ่งธนาคารกรุงเทพ ได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ด้วยการคัดสรรแนวทางช่วยเหลือรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย และแต่ละช่วงเวลา

     โดยแบ่งหลักเกณฑ์ความช่วยเหลือเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้นช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องเพื่อประคับประคองธุรกิจ ระยะกลางช่วยฟื้นฟูธุรกิจให้เริ่มต้นได้อีกครั้ง และระยะยาวช่วยแนะนำแนวทางปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับตลาดในยุคใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในระยะยาวได้อีกครั้ง

      ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง ธนาคารกรุงเทพยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขายเครือข่ายธุรกิจอย่างแข็งแกร่ง ด้วยการเข้าซื้อกิจการธนาคารเพอร์มาตา ในประเทศอินโดนีเซีย

     ซึ่งไม่เพียงเป็นการซื้อกิจการที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของธนาคาร หากแต่ยังเป็นการซื้อกิจการธนาคารที่มีมูลค่าสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียนด้วย

      ทั้งนี้ การซื้อกิจการดังกล่าวได้เสริมความแข็งแกร่งของธนาคารกรุงเทพที่สอดคล้องกับนโยบายการเป็นธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกกว่า 4 ล้านราย สาขาอีกประมาณ 300 แห่งในอินโดนีเซีย และสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอีก 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

      พร้อมกับก้าวขึ้นเป็นธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 6 ในอาเซียน และธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย จึงเสริมศักยภาพในมิตินี้ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ด้วยสาขาต่างประเทศมากกว่า 310 แห่ง ใน 14 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก พร้อมด้วยธนาคารพันธมิตรนอกประเทศอีกว่า 900 แห่งทั่วโลก มีสัดส่วนธุรกิจในต่างประเทศมากถึง 25% ของสินเชื่อรวม

      จึงเป็นประโยชน์ต่อการกระจายสินเชื่อในเชิงภูมิศาสตร์ และมีโอกาสเพิ่มขึ้นสำหรับการขยายธุรกิจในตลาดที่มีอัตราเติบโตสูง

      นายชาติศิริ กล่าวอีกว่า การพัฒนาด้านดิจิทัลแบงก์กิ้งนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยความท้าทายที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา และถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Mobile First สำหรับธนาคาร

      โดยมุ่งเน้นทำความเข้าใจพฤติกรรมการใช้บริการโมบายแบงก์กิ้งของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง และนำมาสู่การพัฒนาแอปพลิเคชัน โมบายแบงก์กิ้งจากธนาคารกรุงเทพ ให้ใช้งานได้ง่าย สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีในการทำธุรกรรมต่างๆ

      อันเป็นจุดเด่นที่ช่วยดึงดูดลูกค้ารายใหม่เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ปัจจุบันมีลูกค้าทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงก์กิ้งจากธนาคารกรุงเทพ มากกว่า 90% ของปริมาณธุรกรรมทั้งหมด นับเป็นสิ่งที่ธนาคารมีความภาคภูมิใจที่สามารถนำเสนอบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี

      “ส่วนสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืน ธนาคารให้น้ำหนักมากกับการลงทุนเพื่อพัฒนาบุคลากร ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ลงทุนอย่างมากกับระบบเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการทักษะ ต่างๆ

     รวมถึงเครื่องมือ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับสำหรับการเรียนรู้ และพัฒนาบุคลากร เพราะคนถือเป็นหัวใจสำหรับทุกๆ เรื่องที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจเดินหน้าไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้ความมุ่งมั่นของธนาคารที่มีความมุ่งมั่นจะเป็น “เพื่อนคู่คิด” เพื่อเคียงข้างลูกค้าเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินของภาคธุรกิจและประชาชนไทย” นายชาติศิริ กล่าว

      สำหรับรางวัล The Asian Banker CEO Leadership Achievement for Thailand Award เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้บริหารสูงสุด หรือประธานกรรมการ และคณะกรรมการของสถาบันการเงินที่มีผลงานโดดเด่นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

     ภายใต้ชื่อโครงการ Leadership Achievement Awards มาตั้งแต่ปี 2547 โดยพิจารณามอบรางวัลทุกๆ 3 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้นำของแต่ละธนาคารมีระยะเวลาสำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เกิดการปฏิบัติ นับเป็นหนึ่งในโครงการพิจารณารางวัลที่มีหลักเกณฑ์เข้มงวด และตัดสินมอบรางวัลให้บุคคล และองค์กรที่มีความโดดเด่นที่สุดเท่านั้นในแต่ละประเทศ

     จึงเป็นรางวัลที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยในปี 2565 นี้ CEO และองค์กรที่ได้รับรางวัล มาจากประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาค ได้แก่ กัมพูชา มาเลเซีย โอมาน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ กาตาร์ สิงคโปร์ ศรีลังกา และไทย./

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์