STP ปรับลดประมาณการปี 65 ลงจากผลกระทบของเงินเฟ้อ

STP ปรับลดประมาณการปี 65 ลงจากผลกระทบของเงินเฟ้อ

คาดกำไร 2Q65 ทรงตัวที่ระดับ 30-35 ลบ. ใกล้เคียง 1Q65 : ฝ่ายวิจัยคาดรายได้และกำไร 2Q65 จะทรงตัวที่ระดับใกล้เคียง 1Q65 ที่ 135-145 ลบ. และ 30-35 ลบ.ตามลำดับ

คาดกำไร 2Q65 ทรงตัวที่ระดับ 30-35 ลบ. ใกล้เคียง 1Q65 : ฝ่ายวิจัยคาดรายได้และกำไร 2Q65 จะทรงตัวที่ระดับใกล้เคียง 1Q65 ที่ 135-145 ลบ. และ 30-35 ลบ.ตามลำดับ เนื่องจากบริษัทมีคำสั่งซื้อจากลูกค้ามากกว่ากำลังการผลิตที่ผลิตได้ส่งผลให้มีการใช้โรงงานภายนอกในการผลิต (outsource) ตั้งแต่ปี 64  ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นทรงตัวใกล้เคียง 1Q65 ที่ 36.8-37.2% เนื่องจากยังมีสต็อกวัตถุดิบราคาต่ำ ด้านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เป็นตัวเงินทรงตัวที่ระดับ 16.5-17.5 ลบ. หรือคิดเป็น 12.0-12.2%ของรายได้ ทั้งนี้บริษัทรายงานกำไร 1Q65 ที่ 33 ลบ. เป็นไปตามที่เราคาดไว้ เติบโต 26%QoQ แต่หดตัว 4%YoY และคิดเป็น 25% ของประมาณการเดิมที่ 134 ลบ. 

-    การขยายกำลังการผลิตเร็วว่าแผน 1 ไตรมาส : บริษัทได้ก่อสร้างคลังสินค้าใหม่แล้วเสร็จทำให้สามารถติดตั้งเครื่องจักรใหม่ชุดแรกกำลังการผลิตราว 12.5 ล้านแผ่นพิมพ์ต่อปี (กำลังการผลิตในปัจจุบัน 49.5 ล้านแผ่นพิมพ์ต่อปี) ได้ภายใน 3Q65 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิม 1 ไตรมาสส่งผลให้สามารถลดการใช้โรงงานภายนอกในการผลิตได้ ด้านอัตราการทำกำไรของบริษัทมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการใช้โรงงานภายนอกในการผลิตมีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ย นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานพื้นที่ 5,300 ตารางเมตร (คาดว่าแล้วเสร็จ 4Q65) และติดตั้งเครื่องจักรกำลังการผลิตอีก 12.5 ล้านแผนพิมพ์ต่อปีซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จ 1Q66 หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวม 74.6 ล้านแผ่นพิมพ์ต่อปีเพิ่มขึ้น 50% จากกำลังการผลิตในปัจจุบัน
 

- คาดปี 2562-2570 อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เติบโต 8%ต่อปี : สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย สอดคล้องกับ Businesswire (2001) ที่คาดว่ามูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์โลกจะขยายตัว 8% ต่อปี ในช่วงปี 2562 – 2570 นอกจากนี้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีมูลค่าส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2564 รวม 845 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11% ซึ่งมีจุดแข็งในเรื่องความได้เปรียบเชิงเทคโนโลยีและคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ เมื่อเทียบกับคู่แข่งหลักอย่างเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นโอกาสขยายตลาดของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ไทยในอนาคต

-  ปรับลดประมาณการกำไรปี 65 และ 66 ลง 4% และ 3% ตามลำดับจากต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวขึ้น: ฝ่ายวิจัยคงประมาณการรายได้ปี 65 และ 66 ที่ 617 ลบ. และ 710 ลบ. เติบโต 10% และ 15% ตามลำดับ แต่ปรับลดกำไรลง 4% และ 3% สู่ 129 ลบ. และ 162 ลบ. เติบโต 4% และ 26%จากปีก่อนหน้า ตามลำดับ โดยเราปรับลดสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นปี 65 ลงจาก 37.3% เหลือ 36.3% เนื่องจากต้นทุนค่าเยื่อกระดาษและเชื้อเพลิงปรับตัวขึ้นใน 2Q65 ราว 5.2% (ที่มา ดัชนีราคาผู้ผลิต กระทรวงพาณิชย์) และ 9% ตามลำดับ อีกทั้งสต็อกวัตถุดิบใหม่ซึ่งมีราคาสูงจะเริ่มรับรู้ตั้งแต่ 3Q65 เป็นต้นไปส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มอ่อนตัวลงจาก 1H65 ขณะที่ปี 66 อัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 65 สู่ 37.6% เนื่องจากไม่มีการใช้โรงงานภายนอกในการผลิตและอยู่ระหว่างขอบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่งผลให้อัตราภาษีเงินได้มีแนวโน้มลดลงจากปัจจุบันอัตราภาษีอยู่ที่ 20%

 

 

 

-  แนะนำ “ซื้อ” แต่ปรับลดราคาเหมาะสมเหลือ 21.30 บาท : ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าด้วยวิธี Prospective P/E Ratio โดยอ้างอิง P/E Ratio ที่ 16.5 เท่าซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษแบบออฟเซทซึ่งแสดงตามตารางด้านล่าง อาทิ SPACK และ TPP พร้อมปรับลดด้วย 1.0 S.D. เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ผลประกอบการมีโอกาสชะลอตัว และคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ใหม่สำหรับปี 2565 ที่ 1.29 บาทต่อหุ้นลดลงจากเดิมที่ 1.34 บาทต่อหุ้นได้ราคาเหมาะสมใหม่ 21.30 บาทลดลงจากครั้งก่อนที่ 24.25 บาทต่อหุ้น

 

ปัจจัยเสี่ยง

i)    การก่อสร้างโรงงานล่าช้ากว่าแผน
ii)    ต้นทุนเยื่อกระดาษและต้นทุนพลังงานปรับตัวขึ้น
iii)    ลูกค้ารายใหญ่ชะลอคำสั่งซื้อ