มองต่างมุม สังคม-เศรษฐกิจ เปิดเสรีกัญชาไทย ดาบ 2 คมที่ต้องระวัง

มองต่างมุม สังคม-เศรษฐกิจ  เปิดเสรีกัญชาไทย ดาบ 2 คมที่ต้องระวัง

ม.หอการค้าไทย เปิดผลสำรวจนโยบายกัญชาเสรี พบประชาชนไม่เห็นด้วยเปิดเสรีกัญชา ห่วงหวั่นเด็กและเยาวชนเข้าถึงกัญชาได้ง่าย ขณะเดียวกันสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจกว่า 2 หมื่นล้านบาท

9 มิ.ย.65 ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย เพราะเป็นวันแรกที่กฎหมายปลดล็อกกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด ส่งผลให้ประชาชนสามารถซื้อ-ขาย ปลูกหรือครอบครองกัญชาได้ไม่ผิดกฎหมายและถือเป็นชาติแรกในเอเชีย ที่ปลดล็อกกัญชา ซึ่งภายหลังจากกฎหมายบังคับใช้ก็มีความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งด้านบวกและด้านลบ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ ต่อนโยบายกัญชาเสรี ในระหว่างวันที่ 5-15 ก.ค.65 พบว่า ภาคประชาชนส่วนใหญ่ ยังให้ความเป็นห่วงว่าประชาชนจะใช้ผิดประเภท เพราะประชาชนยังมองว่ากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษถึง 63.5% และส่วนใหญ่ 68.5% คนต่างจังหวัดมองแบบนั้น ส่วนประชาชนในกรุงเทพและปริมณฑลมองเพียง 42.7% และหลังจากที่การปลดล๊อกกัญชา กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่78.2% ตอบว่าไม่เคยใช้กัญชา และอีก 12.1 % ตอบว่า เคยใช้ในช่วงไม่เกิน 1 เดือนที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่จะใช้เป็นเครื่องดื่ม    34% อาหาร เช่น ก๋วยเตี๋ยว 26.3% ขนม คุกกี้ 19.7% วิตามินหรืออาหารเสริม 10.5 % ครีม เครื่องสำองค์ 4.8 %

ผลสำรวจยังพบว่า ความถี่ของการใช้กัญชาของคนแต่ละรุ่นหรือเจนเนอร์เรชั่น พบว่า เจน Z  จะมีความถี่ในการใช้ 1.9 ต่อสัปดาห์  ส่วนเจน Yและเจน X มีความถี่การใช้ต่อสัปดาห์เท่ากันคือ 1.6  รวมมูลค่าการใช้จ่าย 505 บาทต่อเดือน

เมื่อถามต่อว่า เมื่อมีการเปิดเสรีกัญชา อยากลองใช้เพื่อความบันเทิง สนุกสนาม พักผ่อนหย่อนใจหรือไม่ ส่วนใหญ่ตอบว่าไม่ลองเพราะกังวลผลข้างเคียง มีผลต่อสุขภาพระยะยาว ไม่ดีต่อสุขภาพและยังไม่มีความรู้เพียงพอ  ขณะที่หากจะใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ พบว่าหากแพทย์หรือหมอสั่งยาที่มีส่วนผสมของกัญชาประชาชนส่วนใหญ่ 60.5% ไม่ใช้ เพราะกังวลผลข้างเคียง กลัวใช้ผิด ยังไม่มีผลวิจัยที่เพียงพอ ส่วนที่ตอบว่าใช้ 29% เพราะอยู่ในการดูแลของแพทย์ สนับสนุนเกษตรกรและ 10.5% ไม่แน่ใจ

มองต่างมุม สังคม-เศรษฐกิจ  เปิดเสรีกัญชาไทย ดาบ 2 คมที่ต้องระวัง

 

ส่วนความรู้เกี่ยวกับกัญชานั้นพบว่า 38.1% มีความรู้เกี่ยวกับกัญชาแค่ปานกลาง  และมีความรู้เรื่องกัญชาน้อย 31.3% และรู้มาก 19.6% รู้มาก ซึ่งรวมไปถึงความรู้ด้านประโยชน์และโทษข้อควรระวังในการใช้ โดยส่วนใหญ่ยังมีความรู้ปานกลางเท่านั้น

“ การสำรวจทัศนคติต่อการเปิดเสรีกัญชาส่วนใหญ่ 58.3% ไม่เห็นด้วยและ 41.7% เห็นด้วย และส่วนที่เห็นด้วยส่วนใหญ่คือใช้ทางการแพทย์และสันทนาการ “

นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า   92.2 % กังวลการใช้กัญชาในกลุ่มเด็กและเยาวชนและกังวลว่าจะเสพติดกัญชาถึง 89.2 %และเห็นว่า เด็กและเยาวชนจะได้รับผลกระทบต่อการเปิดเสรีกัญชาถึง 91.4 %  มากที่สุด รองลงมาคือผลกระทบต่อสังคม 

ดังนั้นสิ่งที่ต้องการเสนอแนะ คือ ควรให้ความรู้ความเข้าใจผลดีผลเสีย ทั้งระยะสั้นระยะยาว กำหนดปริมาณการบริโภค ควรมีการกำหนดกลุ่มอายุการใช้ สถานที่ในการใช้  ควรมีมาตรฐานหรือข้อกำหนดในการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา บทลงโทษที่ใช้มากเกินปริมาณที่กำหนด เป็นต้น

ศูนย์ฯยังประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจ พบว่า กัญชา กัญชง ถือเป็นพืชที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้ โดยคาดว่าปีนี้จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 2.8 หมื่นล้านบาท และ อีก 3 ปีข้างหน้า ภายในปี 2568 จะเพิ่มเป็น 4.2 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ15% ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรสูงถึง 800,000 บาทถึง 1.2 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี หรือเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี หากเทียบกับการปลูกข้าว เกษตรกรจะมีรายได้จะอยู่ที่ 10,000-15,000 บาทต่อปี

มองต่างมุม สังคม-เศรษฐกิจ  เปิดเสรีกัญชาไทย ดาบ 2 คมที่ต้องระวัง

จากผลสำรวจสรุปได้ว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยกับนโยบายเปิดเสรีกัญชา ทั้งเรื่องของความรู้ด้านกัญชา ผลกระทบจากการใช้กัญชาในวงกว้าง ที่สำคัญกังวลว่า เด็กและเยาวชนเข้าถึงกัญชาได้ง่ายโดยเฉพาะในเชิงสันทนาการและเสพติด  ซึ่งถือเป็นประเด็นทางสังคมที่อ่อนไหว

ในทางกลับกันหากมองทางด้านเศรษฐกิจต้องยอมรับว่า ธุรกิจกัญชาและกัญชา สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้หลายหมื่นล้านบาท

การเปิดเสรีกัญชาจึงมีทั้งมุมบวกและลบ  ซึ่งเส้นทางระหว่างสารเสพติดกับพืชเศรษฐกิจคาบเกี่ยวกันแทบแยกไม่ออก คงอยู่ที่การใช้และการบังคับใช้ของกฎหมายเพื่อให้เกิดความเหมาะสม