รับมือ "เศรษฐกิจโลกถดถอย" เชื่อฝีมือรัฐบาลได้แค่ไหน?

รับมือ "เศรษฐกิจโลกถดถอย" เชื่อฝีมือรัฐบาลได้แค่ไหน?

มีหลายเรื่องที่รัฐบาลต้องทำเพื่อรับมือ "เศรษฐกิจโลกถดถอย" นับตั้งแต่การพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอยที่อาจมีผลต่อการส่งออกหรือการท่องเที่ยว รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศจากการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม

วิกฤติพลังงานที่มีจุดเริ่มต้นจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มต้นในช่วงปลายเดือน ก.พ.2565 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับสูง จนเกิดปัญหาอัตราเงินเฟ้อไปทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐที่เป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงประเทศไทยที่แรงกดดันจากราคาน้ำมันส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.2565 สูงที่สุดในรอบ 13 ปี และทำให้เงินในกระเป๋าของผู้บริโภคลดน้อยลงจากค่าใช้จ่ายพลังงานที่สูงขึ้น

ทิศทางราคาน้ำมันในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงจากความกังวลของความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงจากหลายปัจจัย เช่น การกลับมาล็อกดาวน์ในประเทศจีนในบางเมือง รวมถึงความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกถดถอยที่จะมีผลต่อความต้องการใช้น้ำมันในอนาคต ซึ่งส่งผลให้มีการปรับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะช่วยบรรเทาอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.2565 ได้ระดับหนึ่ง โดยที่รัฐบาลไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงมาเอง

ในขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบไปแล้ว 110,000 ล้านบาท จากการอุดหนุนราคาดีเซลและแอลพีจีภาคครัวเรือน รวมถึงราคาสินค้าที่ทยอยปรับขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาทำให้รัฐบาลใช้กลไกสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดเพื่อดูแลปัญหาดังกล่าว คือ 1. คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2. คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน

คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาจะทำหน้าที่กำหนดแนวทางการบูรณาการหน่วยงานของรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และกำหนดแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากการรับมือวิกฤติพลังงานและสินค้าแพงที่เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคณะกรรมการชุดนี้แล้ว ควรมองถึงวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอยที่ใกล้เข้ามาแล้ว ซึ่งหลายเรื่องจะต้องวางแผนระยะยาวกลางถึงระยะยาวเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจโลกถดถอย

ดังนั้น จึงมีหลายเรื่องที่รัฐบาลต้องทำเพื่อรับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย นับตั้งแต่การพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอยที่อาจมีผลต่อการส่งออกหรือการท่องเที่ยว รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศจากการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม

น่าเป็นห่วงว่า รัฐบาลจะรับมือได้ดีระดับไหน เพราะลำพังแค่วิกฤติพลังงานยังมีหลายเรื่องที่รัฐบาลตัดสินใจไม่ทำเพื่อแก้ปัญหา ดังนั้น เศรษฐกิจโลกถดถอยที่เป็นปัญหาใหญ่กว่าจะเชื่อมั่นรัฐบาลได้อย่างไรว่าจะรับมือวิกฤตินี้ไปได้