พีอาร์จีฯ ลุยน่านน้ำใหม่ 'นอน-ไรซ์' เล็ง 'ร่วมทุน ซื้อกิจการ' หนุนโตระยะยาว
คนไทยทานข้าวน้อยลง กระทบตลาดข้าวถุงทรงตัว “พี อาร์ จี” ปรับตัวหาน่านน้ำใหม่ วางงบลงทุน 1,000-2,000 ล้านบาท ซื้อกิจการ ร่วมทุน ฯ ขยายธุกิจสู่สินค้าที่ไม่ใช่ข้าวหรือนอน-ไรซ์ สานเป้าหมายรายได้ 5ปี แตะ 5,00 ล้านบาท สร้างการเติบโตระยะยาว
นายสมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดข้าวถุงเชิงมูลค่าราว 40,000 ล้านบาท อยู่ในภาวะทรงตัวหลายมาหลายปี ขณะที่การบริโภคข้าวถุงเชิงปริมาณ มีการหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ย้อนไปราว 20 ปีก่อน คนไทยบริโภคข้าวเฉลี่ย 120 กิโลกรัม(กก.)ต่อคนต่อปี ช่วงก่อนโควิดลดเหลือราว 78 กก.ต่อคนต่อปีเท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้การบริโภคข้าวถุงลดลง เนื่องจากมีพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าการรับประทานข้าวทำให้อ้วน รวมถึงตลาดอาหารมีสินค้าทางเลือกมากมาย สังคมสูงวัย ตลอดจนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่หดตัว เป็นปัจจัยกระทบตลาดทั้งสิ้น
แม้ทิศทางตลาดจะหดตัวลง แต่บริษัทยังให้ความสำคัญในการทำตลาด สร้างการรับรู้แบรนด์ ตลอดจนความรู้ในการบริโภคข้าว รวมถึงบุกตลาดข้าวถุงระดับพรีเมียม สินค้าสุขภาพรับเทรนด์ผู้บริโภค ล่าสุด ฉลองแบรนด์ข้าวถุง “ข้าวมาบุญครอง” ยืนหยัดในตลาดมา 44 ปี ได้ทุ่มงบประมาณเพิ่ม 30-40 ล้านบาท จากปกติใช้ราว 70-80 ล้านบาทต่อปี ในการทำกิจกรรมการตลาดครบ 360 องศา พร้อมดึง “ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง” เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ เชื่อมเจนเนอเรชั่นเก่ากับใหม่กระตุ้นการบริโภคข้าว
ปัจจุบัน ผู้บริโภคข้าวถุงแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเชี่ยวชาญข้าวถุง แยกประเภทข้าวคุณภาพ ข้าวพรีเมียมได้อย่างดี กลุ่มทานข้าวเพื่อสุขภาพ และกลุ่มทานข้าวเพื่อใหเอิ่ม มีพลังงาน ในฐานะข้าวมาบุญครองเป็นรายแรกที่ออกสินค้าบรรจุถุง 5 กก. รายแรกที่จำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรด จึงต้องการสื่อสารตลาดเพื่อตอบทุกสไตล์การบริโภคข้าวหรือ Rice-Style
นอกจากการทำตลาดในประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจข้าวถุง ปีนี้ได้มุ่งขยายตลาดส่งออกมากขึ้น มีการเปิดตลาดใหม่ เช่น ซาอุดิอาระเบีย ออสเตรเลีย โอเชียเนีย ยุโรปตะวันออก ฯ ผลักดันยอดขายเพิ่ม100-150 ล้านบาท มีสัดส่วนแตะ 35% จากเดิม 20-25%
ขณะที่ภาพรวม พี อาร์ จีฯ ได้ปรับตัวรับธุรกิจข้าวถุงโตทรงตัว โดยแผน 5 ปี(2565-2570) มีการวางงบลงทุน 1,000-2,000 ล้านบาท ขยายธุรกิจอาหารใหม่ๆที่ไม่ใช่ข้าวหรือ Non-Rice มากขึ้น เบื้องต้นให้ความสนใจทั้งอาหารพร้อมทาน(RTE) โปรตีนจากพืชหรือแพลนท์เบส เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ(ฟังก์ชันนอลดริ้งค์) นมพร้อมดื่มทางเลือก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะตอบโจทย์ผู้ป่วย เป็นต้น
โมเดลการรุกธุรกิจนอน-ไรซ์ จะมีทั้งการซื้อกิจการ การร่วมทุนกับพันธมิตร และการถือหุ้นเปิดกว้างทั้งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และถือหุ้นน้อยกว่า ขณะที่สินค้าแรกในกลุ่มดังกล่าว คาดจะเห็นปีหน้า
“ตอนนี้เรามีการเจรจาธุรกิจกับพันธมิตรแล้ว โดยการขยายธุรกิจนอน-ไรซ์ บริษัทโฟกัสหมวดสินค้าที่เกี่ยวโยงกับอาหารเป็นหลัก หากคิกออฟได้ เป้าหมายใน 5 ปี ต้องการผลักดันรายได้รวมแตะระดับ 4,000-5,000 ล้าน โดยธุรกิจข้าวและนอน-ไรซ์จะมีสัดส่วนเท่ากัน 50%”
นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ รองรับการค้าขายในอนาคต ที่จะมีการเสิร์ฟสินค้าตั้งแต่ต้นทางการผลิตไปจนถึงผู้บริโภคปลายทาง(Last mile delivery) เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพของซัพพลายเชน รวมถึงการมองหาตัวแทนจำหน่าย(เอเยนต์)เพื่อขยายตลาดข้าวถุง ซึ่งไม่เคยทำมาก่อนนอกจากตลาดส่งออก
ด้านภาพรวมพี อาร์ จีฯ ปี 2565 คาดการณ์รายได้อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท ทรงตัวจากปีก่อน โดยข้าวถุงยังทำเงินสัดส่วนราว 80% และธุรกิจศูนย์อาหาร 20% ซึ่งอย่างหลังยังประสบภาวะขาดทุนราว 30 ล้านบาทต่อปี แต่ปีนี้ยังมีแผนจะขยายสาขาเพิ่ม 1 แห่ง ส่วนแผนการล้างขาดทุน คาดว่าจะเห็นผลการดำเนินงานเป็นบวกในปี 2566