“คีรี” จี้รัฐสางปมสายสีเขียว ทวงหนี้ค่าเดินรถ 4 หมื่นล้าน
“คีรี” จี้รัฐสางปมสายสีเขียว ทวงหนี้ค่าเดินรถ ค่าวางระบบ 4 หมื่นล้าน ค่าเดินรถส่วนต่อขยาย บวกค่าวางระบบรถไฟฟ้า ย้ำเป็นเจ้าหนี้ไม่เคยมีข้อเสนอต่อสัมปทาน
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดเผยว่า กรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีข้อสงสัยในสัญญาร่วมลงทุน ยืนยันว่าที่ผ่านมาบีทีเอสไม่เคยเรียกร้องการต่อสัญญาสัมปทาน และไม่เคยขอสัมปทานจากรัฐ โดยที่ผ่านมามี 2 สัญญาที่ทำร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) คือสัญญาติดตั้งระบบ และสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) เมื่อรัฐบาลอยากให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมบีทีเอสก็ดำเนินการตามระเบียบเอกชนร่วมลงทุนรัฐ และสัญญานี้ก็มีมา 10 ปีแล้ว ดังนั้นจึงไม่แน่ใจว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหน
“สัญญาเดินรถพวกนี้มีมา 10 ปีแล้วก็ไม่ผิดพลาดอะไร วันนี้เพิ่งมมามีข้อสงสัย แต่ผมยืนดีและเคารพการตัดสินใจของภาครัฐ ตอนนี้ให้เวลาทาง กทม.ได้ตรวจสอบรายละเอียดก่อน ส่วนต้องการจะเปิดเผยสัญญานั้น ผมก็มองว่าถ้าจะเปิดควรเปิดทุกสัญญาที่มีกับเอกชน เพราะเงื่อนไขไม่เปิดเผยสัญญามันเป็นเงื่อนไขปกติที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมทุน” นายคีรี กล่าว
นายคีรี กล่าวยืนยันว่า บีทีเอสไม่เคยต้องการอะไร เราเป็นเจ้าหนี้ ต้องการเพียงให้คุณจ่ายเงินให้บีทีเอา เพราะบีทีเอสไม่ใช่ผู้ร้าย หรือจำเลย แต่เป็นเพียงเจ้าหนี้ และบริษัทก็ไม่เคยปฏิเสธไม่ให้เปิดเผยสัญญา และต้องขอบคุณผู้ว่าการกรุงเทพมหานครคนใหม่ที่ตั้งใจจริงในการตรวจสอบ ตอนนี้ให้เวลาทางภาครัฐดำเนินการตรวจสอบก่อน แต่อยากให้รัฐบาลคิดถึงประชาชนเป็นหลัก อย่ายืดเยื้อกับเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้คุยกันมา 3 ปีแล้ว จะเอาอย่างไรบีทีเอสพร้อมที่จะยอมรับการตัดสินใจ
“เรื่องนี้มันไม่ควรยืดเยื้อ คุยกันมาก็ 3 ปีแล้ว เอายังไงก็ขอให้บอกเรา เพราะเชื่อว่าตอนนี้มันเป็นแค่การเข้าในผิดกัน ก็เพียงแค่มาทำความเข้าใจกันให้ถูก ซึ่งการพูดคุยกับกรุงเทพมหานครในรอบแรก ก็เป็นไปด้วยดี ผมเชื่อว่าทุกการพูดคุยกันมีเรื่องดีๆ อยู่แล้ว และบีทีเอสยืนยันว่าผมจะไม่หยุดเดินรถ เพราะจะไปกระทบกับประชาชน” นายคีรี กล่าว
รายงานข่าวระบุว่า บีทีเอส ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากนานกว่า 5 ปี นับตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 รวม 40,000 ล้านบาท มาจากการไม่ได้รับชำระค่าจ้างจากการเดินรถและบำรุงรักษา (O&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า) และส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M)
นายคีรี กล่าวว่า สำหรับการเปิดรับข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในวันที่ 27 ก.ค.2565 ไม่แน่ในว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะดำเนินการเปิดรับซองข้อเสนอได้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางได้ตัดสินชี้ขาดเรื่องการยกเลิกประกวดราคาในครั้งก่อนเป็นการประพฤติมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นหมายความว่าการประมูลในครั้งแรกถูกต้องอยู่ และจะมีการเปิดประมูลรอบใหม่ได้หรือไม่
แต่ในกณีที่บีทีเอสเป็นบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจรถไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่ามีความพร้อมในการลงทุนรถไฟฟ้า เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทลงทุนโครงการรถไฟฟ้าทั้งสายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีทอง รวมมูลค่ามากกว่า 1.2 แสนล้านบาท อีกทั้งในขณะนี้บริษัทยังจะลงทุนในโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกอีก 5 แสนล้านบาท