ลดก๊าซเรือนกระจกด้วยภาษีคาร์บอนของไทย
จากผลการศึกษาของธนาคารโลก ในปัจจุบัน ณ วันที่ 1 เมษายน 2022 มีประเทศที่นำกลไกภาษีคาร์บอนมาใช้อยู่ 36 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกกว่า 3 กิกะตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (GtCO2e) หรือกว่า 3,000 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e)
) คิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของก๊าซเรือนกระจกของโลก โดยอัตราราคาภาษีคาร์บอนนั้นอยู่ในช่วง 1-137 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งประเทศที่เก็บภาษีคาร์บอนสูงที่สุดในโลกคืออุรุกวัย รองลงมาคือประเทศสวีเดน ลิกเตนสไตน์ และสวิสเซอร์แลนด์
สำหรับการดำเนินงานด้านภาษีคาร์บอนในบริบทสากล มีหลักในการทำงานด้วยวิธีการกำหนดให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องจ่ายค่าปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามหลักการของ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” หรือ “Polluter pays principle” โดยรัฐบาลสามารถกำหนดอัตราภาษีต่อหน่วยการปล่อย (ส่วนใหญ่จะคิดในหน่วย “ต่อตันคาร์บอน”) สำหรับกลุ่มผู้เสียภาษีคาร์บอนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เสียภาษีคาร์บอนต้นน้ำ ได้แก่ ผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล (Producer) ผู้จัดจำหน่ายเชื้อเพลิงฟอสซิล (Distributor) ผู้นำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล (Importer) และผู้เสียภาษีคาร์บอนปลายน้ำ ได้แก่ ผู้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (User) ซึ่งส่วนใหญ่จะเก็บกับกลุ่มผู้เสียภาษีคาร์บอนต้นน้ำมากกว่าผู้เสียภาษีคาร์บอนปลายน้ำ เพราะการจัดการในการเก็บภาษีจะง่ายกว่าและมีต้นทุนที่น้อยกว่าอีกด้วย ส่วนชนิดของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกเก็บภาษีคาร์บอน มี 2 แบบ คือ เก็บภาษีคาร์บอนกับก๊าซเรือนกระจก (Emission tax) หรือเก็บภาษีคาร์บอนกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Tax) โดยแบบแรกจะมีการเก็บภาษีคาร์บอนกับก๊าซเรือนกระจกประเภทต่างๆ เช่น CO2, HFCs, PFCs, และ SF6 เป็นต้น
ซึ่งนอกจากจะเก็บภาษีคาร์บอนจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว ก็อาจจะมีการเก็บภาษีกับก๊าซเรือนกระจกที่รั่วไหล (Fugitive emission) หรือ จากกระบวนการการผลิต (Process emission) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศส่วนใหญ่ที่นำภาษีคาร์บอนมาใช้มักเลือกเก็บภาษีคาร์บอนกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงชนิดเดียว ทั้งนี้ อัตราภาษีนี้เป็นหัวใจสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่จะกำหนดว่าสังคมจะสามารถบรรลุจุดที่มีต้นทุนโดยรวมต่ำที่สุดได้หรือไม่ “ในทางเศรษฐศาสตร์ อัตราภาษีที่เหมาะสม คือระดับที่ทำให้ต้นทุนการบำบัดก๊าซเรือนกระจกส่วนเพิ่ม (Marginal Abatement Cost) เท่ากับ ต้นทุนความเสียหายของสังคมส่วนเพิ่ม (Marginal Damage Cost)”
ประเทศสวีเดน มีการเก็บภาษีจากก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่อัตรา 129.89 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เนื่องด้วยมีเป้าหมายของประเทศในการเป็น Carbon Neutral ในปีค.ศ. 2050 ซึ่งมีการนำรายได้จากการเก็บภาษีมาเป็นเงินคืนหรือส่วนลดทางภาษีให้แก่อุตสาหกรรม โดยสามารถขอส่วนลดทางภาษีได้ถึงร้อยละ 22 ของอัตราภาษีคาร์บอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาครัฐ
ประเทศสิงคโปร์ ประกาศใช้มาตรการภาษีคาร์บอนเมื่อปีค.ศ. 2019 สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 25,000 ตันต่อปี โดยอัตราภาษีเริ่มต้น 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 4 ดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างค.ศ. 2019-2023 และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8-11 ดอลลาร์สหรัฐภายในค.ศ. 2030 ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้จากภาษีกว่า 760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้จากการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจะนำไปใช้ประโยชน์ในโครงการด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานในภาคอุตสาหกรรม
สำหรับมาตรการภาษีคาร์บอน ประเทศไทยยังไม่มีการดำเนินการโดยตรง แต่จะอยู่ในรูปแบบของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีสรรพสามิตจากรถยนต์เมื่อปีพ.ศ. 2559 และรถจักรยานยนต์เมื่อปีพ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา โดยพิจารณาจากอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แทนการจัดเก็บภาษีตามปริมาณความจุของกระบอกสูบ เนื่องจากการจัดเก็บภาษีตาม CO2 จะสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ปริมาณการปล่อย CO2 ลดลง เพื่อการประหยัดพลังงานและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ รายได้จากการจัดเก็บภาษีคาร์บอนส่วนใหญ่ถูกนำเข้าไปสู่ระบบงบประมาณประเทศ
สำหรับการนำภาษีคาร์บอนมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีข้อดี คือ ช่วยให้รัฐบาลมีรายได้ ลดการบิดเบือนของการจัดสรรทรัพยากร กระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงเทคโนโลยี มีความยืดหยุ่นในการปรับอัตราภาษี แต่ก็มีข้อเสียคือ รัฐหรือผู้กำหนดนโยบายจะต้องรู้ข้อมูลที่ชัดเจน ทั้งต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจก ต้นทุนความเสียหาย ต้องทราบความยืดหยุ่นของอุปสงค์และอุปทานในตลาด และอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศหากมีการเก็บภาษีคาร์บอนในอัตราที่ต่างกันระหว่างประเทศ เพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตของประเทศที่เก็บภาษีในอัตราสูงกว่าต้องเสียเปรียบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มาตรการส่งเสริมให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยภาษีคาร์บอนมีปัจจัยความสำเร็จคือ รัฐบาลควรพิจารณาที่จะนำรายรับจากภาษีคาร์บอนกลับมาป้อนสู่ระบบเศรษฐกิจ (Revenue recycling) ตามหลักความเป็นกลางทางการคลัง (Fiscal neutrality) เพราะจะไม่เพิ่มภาระภาษีโดยรวมแก่ประชาชน และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ