อียู รุกมาตรฐานลดโลกร้อน เร่งไทยปรับตัว 5 สินค้าส่งออก

อียู รุกมาตรฐานลดโลกร้อน เร่งไทยปรับตัว 5 สินค้าส่งออก

อียู รุกมาตรฐาน “สิ่งแวดล้อม” มุ่งสู่ Net Zero ใช้เป็นเงื่อนไขเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ด้านพาณิชย์แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัวรับมาตรการ CBAM ประเดิม 5 สินค้าส่งออก” ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม “

ปัจจุบันเวทีเจรจาการค้าระหว่างประเทศทั้งพหุภาคีและทวิภาคีให้กับสำคัญกับข้อบทด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อมีส่วนร่วมในการดูแลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์

องค์การการค้าโลก หรือ WTO ได้ยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าโดยใช้ประเด็นสิ่งแวดล้อม และยกเว้นให้สมาชิกจำกัดการนำเข้าเพื่อสิ่งแวดล้อมได้

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ทำบัญชีรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมเพื่อลดภาษีนำเข้าให้เหลือไม่เกิน 5% สินค้า 54 รายการ ทำแนวทางส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่บริการสิ่งแวดล้อมที่สมาชิกต้องลดภาษี

ข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA มีข้อบทสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป หรืออียู (EU) ที่ทำกับหลายประเทศมักมีข้อบทสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประเทศคู่เจรจาให้ความสำคัญ 

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มาตรการของอียู เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน โดยมีกฎหมายมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่เกี่ยวกับการสินค้าจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2566 และบังคับใช้เต็มรูปแบบปี 2569

อียู จะบังคับใช้มาตรการดังกล่าวกับสินค้า 5 ประเภทก่อน ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และจะขยายไปสินค้าอื่น โดย 3 ปีแรก (2566-2568) ผู้นำเข้าต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2569 จะใช้เต็มรูปแบบทำให้สินค้าต้องผ่านการรับรอง CBAM

สำหรับการนำสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขหรือข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการควรปรับตัวทั้งการเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม มีธรรมาภิบาลในธุรกิจ ระบบตรวจสอบสินค้าย้อนกลับ การใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG)

 “เมื่อประเด็นสิ่งแวดล้อมถูกยกเป็นส่วนหนึ่งของการค้าระหว่างประเทศ ทางรอดคือต้องปรับตัวโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้กระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนต่ำมุ่งสู่ Net Zero นำ BCG model มาใช้ และการเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ“

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ร่าง CBAM อยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติของคณะกรรมาธิการยุโรป คาดว่ากลางปี 2565 จะลงมติของร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ ดังนั้นระหว่างนี้มีเวลา 6-7 เดือน ก่อนกฎหมายจะบังคับใช้ และผู้ส่งออกไทยต้องศึกษาร่างกฎหมายเพื่อเตรียมพร้อมส่งออกไปยุโรป

ล่าสุดไทยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แสดงความเห็นว่ากฎหมายอาจขัด WTO และข้อตกลงอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นอุปสรรคการค้า เพราะมีการจำเพาะเจาะจงรายสินค้า และหลายประเทศไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมาย เช่น จีน รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย ออสเตรเลีย

สำหรับมาตรการ CBAM ของ EU เริ่มประกาศเมื่อเดือน ธ.ค.2562 โดยเป็นการประกาศนโยบาย EU Green Deal ต่อมาในเดือน ก.ค.2564 EU เผยแพร่ร่างกฎหมาย CBAM

ต่อมาช่วง 15 ก.ค.-18 พ.ย.2564 คณะกรรมาธิการยุโรป เปิดรับฟังความเห็น และจะเข้าขั้นตอนนิติบัญญัติของ EU ปลายปี 2565 ซึ่งคาดว่ารัฐสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปให้การรับรองกฎหมาย CBAM เพื่อให้กฎหมายบังคับใช้  ผู้นำเข้าต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 หลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2569 สินค้าต้องผ่านการรับรอง CBAM ขยายรายการสินค้า

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ CBAM ในปี 2564 ประกอบด้วยสินค้าเหล็กและเหล็กกล้า125.42 ล้านดอลลาร์ สินค้าอะลูมิเนียม 61.17 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่วน ซีเมนต์ ปุ๋ยและไฟฟ้า มีการส่งออกปริมาณที่น้อยหรือเป็น 0