“โลกร้อน” ทำไทยเปลี่ยนเงื่อนไข ขับเคลื่อนสังคมใหม่ “ไร้คาร์บอน”
ปัญหา“โลกร้อน” หรือ “Climate Change” ที่เกิดขึ้นในขณะนี้กำลังเป็นจุดเปลี่ยนให้ทั่วโลก ประเทศไทย และองค์กรธุรกิจการค้าต่างๆต้องปรับตัวไม่ใช่เพื่อความอยู่รอดเท่านั้น แต่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตภายใต้บริบทใหม่ที่มีเงื่อนไขที่ว่าด้วยสังคมไร้คาร์บอน
สำหรับประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2608 (ค.ศ. 2065) ตามการประชุมสุดยอดผู้นำเวทีโลกใน COP26 โดยมีกำหนดนโยบายสำคัญ อีก 3 ประการ คือ 1.ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ผ่านการนโยบาย30@30คือ การตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ.2573
2. ปรับโครงสร้างพลังงาน โดยลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด และ3.การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าในประเทศ จาก 31.8% เป็น 40% ในปี 2579 เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอน
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คาดว่าไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ในปี 2025 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ในจำนวน 368 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และหลังจากนั้นจะค่อยๆ ปล่อยลดลงจนถึงจุดที่สามารถดูดซับในประเทศได้ หรือเหลือ 120 ล้านตันหรือเทียบเท่า ภายใน ปี 2065 และไทยจะมีศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้อย่างยั่งยืน
"ไทยกำลังจะมีกฎหมายเพื่อดูแลเรื่องเหล่านี้โดยตรง คือร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ..... เเละเมื่อดำเนินการผ่านแนวทางลดก๊าซคาร์บอนที่กำหนดไว้จะทำให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายสังคมไร้คาร์บอนได้"
นอกนี้ยังมีนโยบายหรือนวัตกรรมรักษ์โลก เพื่อการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจจาก Black Gold หรือการใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไปสู่คาร์บอนเครดิต หรือ Green Gold จะเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจ
พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ มีสาระสำคัญว่าด้วย1.สนับสนุนส่งเสริมกองทุนสิ่งแวดล้อมและธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2. การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่อนาคต
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีการเก็บภาษีคาร์บอนหรือไม่นั้นยังต้องพิจารณาเพราะเกี่ยวกับกระทรวงการคลัง ที่ยังต้องมีการหารือกันในอนาคต แต่ยังต้องรอการร่าง พ.ร.บ. ให้แล้วเสร็จเป็นระยะเวลาอีก 6 เดือนเพราะยังมีรายละเอียด การวิเคราะห์ผลกระทบและยังมีกลไกที่จะต้องชี้แจงให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ทราบและชี้แจงประชาชนให้เข้าใจก่อนที่พ.ร.บ.นี้จะออกไปนี้
“ทั้งหมดนี้ประเทศไทยได้รับความกดดันจากทั่วโลกเรื่องการเปลี่ยนแปลงเรื่องสภาพภูมิอากาศ ทำให้ไทยต้องเปลี่ยนแปลงการจัดการสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรมและอยากให้ประชาชนช่วยกันปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมแห่งอนาคตได้อย่างยั่งยืน”
สำหรับหน่วยงานหลักขณะนี้ที่จะมีส่วนขับเคลื่อนการลดคาร์บอนของประเทศไทย อย่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ได้บูรณาการเพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์ อย่างยั่งยืน ผ่านแนวทางทำงาน 1.เร่งรัดการควบคุมมลพิษทั้งทางอากาศ ขยะ และน้ำเสียที่เกิดจากการผลิตและบริโภคเพื่อสร้าง 2.ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ด้วยการสนับสนุนระบบการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์และเครื่องจักรอุปกรณ์ รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งกลไกทางการเงินที่สนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สร้างประโยชน์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ กลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ภาษีคาร์บอน 3.ส่งเสริมภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการจัดและเก็บคาร์บอน
ยุทธศาตร์ดังกล่าว สอดคล้องกับแผนงานของหน่วยราชการต่างๆ อาทิ กระทรวงการคลัง ที่ให้ความสำคัญการใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้มีการออกมาตรการด้านภาษี โดยการยกเว้นกำไรสุทธิจากการดำเนินโครงการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจจะได้รับ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลาสามรอบบัญชีต่อเนื่องกัน
ด้านความเคลื่อนไหวทางการค้าก็พบว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กำลังติดตาม ระเบียบ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือกลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (อียู) และคาดว่าอีกหลายประเทศจะมีระเบียบการค้าลักษณะนี้ออกมาอีกเช่นกัน
จากเงื่อนไขและความพยายามต่างๆกำลังเร่งผลักดันไทยไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมคาร์บอนต่ำที่ไม่เพียงการอยู่รอดได้แต่การตระหนักรู้เรื่องโลกร้อนจะเป็นเสาหลักคำยันเศรษฐกิจไทยได้ในอนาคต