หุ้น Tech Turnaround โตสวน Bond Yield ขาลง
เศรษฐกิจในระยะข้างหน้านักลงทุนเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองต่ออัตราเงินเฟ้อที่น่าจะชะลอลงจากผลของนโยบายการเงินที่เข้มงวด อันนำไปสู่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่ลดลง อาจเป็นจังหวะเริ่มต้นลงทุนที่ดีสำหรับกลุ่ม "หุ้น" ที่เคยปรับลงแรงช่วงที่ดอกเบี้ยพุ่งสูงเมื่อต้นปี
นับตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของเดือนมิถุนายน เมื่ออ้างอิง Bloomberg Commodity Index ปรับลดลงจากเดือนก่อนเป็นครั้งแรกในปีนี้ถึง -10.88% ซึ่งเป็นไปได้ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อหลังจากนี้ไปอาจค่อย ๆ ชะลอลง ผนวกกับผลจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นที่มักมาพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หรืออาจเกิดภาวะถดถอย (Recession) จะทำให้ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว หรือ Bond Yield อายุ 10 ปีที่มักเป็นดัชนีชี้นำการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตจะค่อย ๆ ลดลงตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะแย่ลงหลังจากนี้ ซึ่ง Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐฯ ก็ปรับลดลงจากจุดสูงสุดที่ 3.49% เดือนมิถุนายน สู่ 2.80% ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม โดยเป็นสัดส่วนที่ลดลงมากที่สุดในรอบปี
ดังนั้น ช่วงหลังจากนี้ไปที่ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวจะกลับทิศสู่ขาลงในไม่ช้า อาจเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนหุ้นเติบโตสูงที่เคยได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยระยะยาวที่เพิ่มขึ้นมาแรงช่วงต้นปี โดยเฉพาะตลาดหุ้น NASDAQ ที่เคยลดลงแรงจากเมื่อต้นปีถึง -30% แต่เมื่อดอกเบี้ยเริ่มลดลงในเดือนกรกฎาคมนี้ ตลาดหุ้น NASDAQ กลับบวกสวนขึ้นไป +7.3%
อย่างไรก็ดี ตลาดที่มีความเสี่ยง Recession ยังทำให้การลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องคัดเลือกกลุ่มหุ้นที่อยู่รอดได้ในระยะยาวโดยอาศัยศักยภาพการเติบโตในอนาคตของทั้งรายได้และกำไรเป็นสำคัญเพื่อสร้างกำไรได้มากกว่าตลาดหลังพ้น Recession ไปแล้ว
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยและกลยุทธ์ของทิสโก้ (TISCO Economic Strategy Unit) พบว่า กลุ่มหุ้นที่กำไรเติบโตต่อปีโดดเด่นเป็นอันดับ 1 ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมาของสหรัฐฯ ซึ่งเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยมา 3 ช่วง ได้แก่ Dot-com, Hamburger และ COVID-19 คือกลุ่ม Information Technology ที่เติบโตเฉลี่ยถึงปีละ +10.3% แต่เนื่องด้วยในปัจจุบันที่กลุ่ม Technology มีแยกย่อยออกมามากมายในตลาด อาจจำเป็นต้องคัดเลือกในกลุ่มธุรกิจย่อยเพิ่มเติมเพื่อหากลุ่มที่จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญต่อชีวิตประจำวัน หรือ “Must Have” ซึ่งมีโอกาสเติบโตสูงและรายได้สม่ำเสมอมากกว่าธุรกิจย่อยอื่นๆ
อัตราส่วน PSG ตั้งแต่ต้นปี (YTD)
ที่มา: Globalxetfs, TISCO Wealth Advisory data as of 30 June 2022
บริษัท Global X ซึ่งเป็นบริษัทจัดทำกองทุน ETF ต่างประเทศเฉพาะอุตสาหกรรม (Thematic Fund) ที่ได้รับความนิยมในบริษัทจัดการกองทุนรวมของไทย จัดทำ Technology Adoption ของธุรกิจย่อยกลุ่ม Tech และจำแนกเป็น 5 Cycle ได้แก่ Innovators, Early Adoptors, Early Majority, Late Majority และ Laggards โดย Cycle ของธุรกิจย่อยที่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด คือ Early Majority โดยเป็นจุดเริ่มต้นของ S-curve ซึ่งเป็นที่พูดถึงในกระแสหลัก และมีข้อมูลสนับสนุนว่าธุรกิจนี้สามารถสร้างรายได้และกำไรในอัตราเร่งได้จริง โดยธุรกิจย่อยภายใต้ IT และปัจจุบันอยู่ในช่วง Early Majority และรายได้เติบโตโดดเด่น และ Valuation น่าสนใจ คือ Cloud Computing และ Cyber Security
สำหรับ Cloud Computing หรือธุรกิจที่ให้บริการทั้งด้าน Software และ Hardware เพื่อใช้ในการประมวลผลผ่านระบบออนไลน์สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้การประมวลผลผ่านระบบคอมพิวเตอร์สามารถเช่ากับผู้ให้บริการ Cloud ทดแทนการลงทุนระบบ Software และ Hardware ด้วยตัวเอง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
โดยข้อมูลจาก Gartner คาดการณ์ว่า การเติบโตของรายได้ธุรกิจ Cloud ตั้งแต่ปี 2019 - 2025 จะเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 20.2% หรือประมาณ 2 เท่าภายใน 4 ปี นอกจากนี้ หากเราอ้างอิงจากบริษัทจดทะเบียนที่ทำธุรกิจ Cloud ทั้งหมดภายใต้ดัชนี Indxx Global Cloud Computing Index พบว่า Valuation ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2022 มี Price per Sales เพียง 3.93 เท่า ถูกลงกว่าสิ้นปี 2021 ที่ 8.1 เท่า หรือ 51.5% ในขณะที่การเติบโตของรายได้ต่ออัตราการเติบโต (Price per Sale Growth: PSG) อยู่ที่ 0.28 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับ S&P 500 ที่ 0.27 เท่าแล้ว ขณะที่ Global X คาดการณ์ว่า หุ้นในดัชนี S&P 500 จะมีรายได้เติบโตเพียง 8.5% เท่านั้น นับว่าการลงทุนในหุ้น Cloud ช่วงเวลานี้มีความน่าสนใจกว่าการลงทุนตามตลาดอย่างมาก
และธุรกิจ Cyber Security หรือธุรกิจพัฒนาระบบป้องกันภัยและรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของธุรกิจทุกกลุ่ม เนื่องด้วยในยุคปัจจุบันที่ทั้งภาครัฐ และเอกชนจะต้องจัดเก็บข้อมูลภายในองค์กรผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น แต่ก็ตามมาด้วยสถิติการโจมตีข้อมูลมากขึ้นเช่นกัน โดยบริษัทให้คำปรึกษาด้าน IT อย่าง Helpmepcs ระบุว่า ในปี 2021 จะมีการโจมตีข้อมูลไซเบอร์ด้วย Ransomware ทุก ๆ 11 วินาทีต่อครั้ง ความถี่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2016
ดังนั้น การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์จะมาป้องกันข้อมูลและความลับของธุรกิจ และเป็นการเสริมความมั่นคงต่อธุรกิจด้วย โดยสถาบัน Cybersecurity Ventures คาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายลงทุนระบบ Cyber Security ของโลกตั้งแต่ปี 2021-2025 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 15% ต่อปี หรือประมาณ 2 เท่า ใน 5 ปี และเมื่อพิจารณาจากหุ้นที่ทำธุรกิจ Cyber Security ผ่านดัชนี Indxx Cybersecurity Index ก็มี PSG ก็ใกล้เคียงกับ Cloud ที่ 0.28 และมีอัตราการเติบโตมากกว่า S&P 500 เช่นกัน ซึ่งมีความน่าสนใจการลงทุนในตอนนี้เช่นเดียวกับธุรกิจ Cloud ด้วย
โดยสรุปภาพเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่นักลงทุนเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองต่ออัตราเงินเฟ้อที่น่าจะชะลอลงจากผลของนโยบายการเงินที่เข้มงวด อันนำไปสู่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่ลดลง อาจเป็นจังหวะเริ่มต้นลงทุนที่ดีสำหรับกลุ่มหุ้นที่เคยปรับลดลงแรงในช่วงที่ดอกเบี้ยพุ่งสูงเมื่อต้นปี
อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยังอาจเผชิญกับความเสี่ยงการลงทุนในภาวะ Recession อยู่บ้าง โดยนักลงทุนควรเลือกหุ้นที่มีการเติบโตของรายได้หรือกำไรไม่ผันผวนไปตามเศรษฐกิจ ซึ่งการลงทุนกลุ่มหุ้น Cloud หรือ Cyber Security ที่ปรับลดลงจากช่วงต้นปีเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดหลังจากนี้ นับว่าเป็นจังหวะการลงทุนที่ดีเลยทีเดียว
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager ธนาคารทิสโก้