ถอดสูตร “คงกระพัน อินทรแจ้ง” เมื่อ “เน็ตซีโร่” คือทางรอดของ “จีซี”
รายการ SUITS ถอดสูตรความสำเร็จฉบับ CEO ของ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษบุคคลต้นแบบที่มี “สูตรสำเร็จ” ในการขับเคลื่อนองค์กร ทั้งในแง่มุมมอง วิธีคิดทำธุรกิจ โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC บริษัทย่อยของกลุ่ม ปตท.บริษัทพลังงานข้ามชาติของไทยที่ติดอันดับ Fortune Global 500 ได้ขยายธุรกิจต่อเนื่องแม้อยู่ช่วงโควิด-19 โดยดีลใหญ่ที่ใช้เงินทุน 148,417 ล้านบาท เกิดขึ้นหลังมีการลงนามเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2565 ซึ่ง GC ซื้อหุ้น Allnex ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ระดับโลก ซึ่งดีลนี้ตอกย้ำการเป็น “บริษัทข้ามชาติ” ธุรกิจเคมีภัณฑ์ของ GC
นอกเหนือการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการลงทุนในต่างประเทศแล้ว CG มองถึงแนวโน้มธุรกิจสำคัญของโลก คือ การลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมาย Net Zero ไว้ปี 2065 ซึ่งการจะก้าวสู่เป้าหมายได้นั้น ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ถือเป็นส่วนสำคัญหลักช่วยหนุนนำประเทศไปสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว
คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันหากจะให้มีความยั่งยืน สิ่งสำคัญคือ “การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ด้วยการกำหนดเป้าหมาย “Net Zero” กลายเป็นเป้าหมายใหญ่เพราะเป็นกระแสโลก ดังนั้น GC จะดำเนินธุรกิจและเข้าไปตอบสนองความต้องการลูกค้ารายใหญ่ได้ เพราะลูกค้าที่คำนึกถึงสิ่งแวดล้อมจะต้อนรับมากขึ้น
“ผมไม่อยากให้มองว่าการดำเนินธุรกิจในการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจะมีแค่องค์กรใหญ่ๆ เท่านั้นที่จะทำได้ มนุษย์ชาติต้องร่วมมือกัน บทบาทสำคัญผู้นำองค์กร โดยเฉพาะผู้บริหาร สิ่งสำคัญคือ การพูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ต้องสื่อสารให้ชัดเจน เพราะต่อให้ไม่มีโควิด-19 โลกก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว”
จากจุดเริ่มต้นการเป็นวิศวกรคุมโรงงานกับการก้าวขึ้นสู่ซีอีโอบริษัทข้ามชาติด้านเคมีภัณฑ์
คงกระพัน เล่าว่า ตลอด 30 ปี ในการทำงานช่วงเริ่มต้นจากวิศวกร ถือเป็นผู้บุกเบิกและดูแลโรงงานประจำอยู่ที่ จ.ระยอง และได้โอกาสเปลี่ยนระบบการทำงานตลอด โดยเริ่มจากการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) และเริ่มดูแลด้านการพัฒนาธุรกิจ รวมถึงภาพรวมองค์กร ต่อมาช่วงที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจและได้มีโอกาสเข้ามาดูในงานด้านไฟแนนซ์ พร้อมตั้งทีมนักลงทุนสัมพันธ์ หรือ IR
“การปรับตัวจากนักวิศวกรสู่นักบริหารนั้น จริงๆ แล้วเป็นการเรียนรู้งานไปเรื่อย ๆ เรื่องไฟแนนซ์ก็เป็นบทบาทหนึ่งของการทำงาน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ส่วน IR ต้องยอมรับว่าช่วงแรกๆ ไม่ค่อยรู้เรื่อง โชคดีมีกลุ่มเพื่อนในวงการและได้ขอคำแนะนำมาประยุกต์ใช้”
สำหรับการทำงานกับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ต้องมีความรู้ความเข้าใจพอสมควร เพราะแนวธุรกิจต้องเข้าใจทั้งด้านวิศวะ การเงิน การตลาด และมีโอกาสได้เป็น MD บริษัทลูกที่ต่างประเทศต้องยิ่งมีความรู้รอบด้านมากขึ้น ถือเป็นการเรียนรู้การทำงานไปเรื่อยๆ
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบองค์กรต่างประเทศกับ GC ในยุค 20-30 ปีที่ผ่านมา ยังตามหลังเพราะเทคโนโลยีต้องนำเข้า การตั้งโรงงานต้องมีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาช่วยสตาร์ท แต่ตอนนี้เราเป็นผู้นำที่แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีในระดับโลกได้ ดังนั้น เทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกรรมหรือวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่เป็นองค์ความรู้ และแนวคิดการทำงาน
เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา GC พัฒนาเป็นบริษัทเคมิคอลอันดับ 1 ใน 30 ของโลก ที่ทำเรื่องความยั่งยืน สร้างความสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จนตอนนี้เคมีทั้งหมดในโลก GC เป็นบริษัทปิโตรเคมีรายแรกและรายเดียวในเอเชียที่ติดอันดับ 1 ของโลก จากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) 3 ปีซ้อนในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของธุรกิจเคมีภัณฑ์ คือ การลดการปล่อยคาร์บอน โดยมี5 เมกะเทรนด์ ที่ตอบโจทย์ Net Zero
GC พยายามปรับองค์กรไปข้างหน้า โดยวางเป้าหมาย 5-10-20 ปี ว่าความยั่งยืนต้องทำอะไร ดังนั้น องค์กรจะยั่งยืนต้องมีธุรกิจตอบสนองเมกะเทรนด์สำคัญไว้ 5 เทรนด์ ดังนี้
1.Climate Change & Energy Transition คือโลกที่สะอาดขึ้น
2.Urbanization จำนวนคนในเมืองที่มากขึ้น การใช้ทรัพยากรอยู่ในที่จำกัด
3.Health & Wellness สุขภาพหรือสุขอนามัย ซึ่งจากปัญหาโควิดหรือต่อไปไม่มีโควิดก็จะมีโรคอื่น ดังนั้น สุขภาพจึงสำคัญ
4.Demographic Shift ประชากรส่วนใหญ่ที่มีอายุสูงขึ้นสู่สังคมสูงวัย รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามา ดังนั้น GC จะต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบสนองความต้องการของประชากรกลุ่มดังกล่าว
5.Disruptive Technology ที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมการเปลี่ยนแปลง
ที่ผ่านมา GC เริ่มจากปิโตรเคมี ซึ่งตลอดระยะเวลา 30 ปี ทำผลิตภัณฑ์พื้นฐานที่มีความจำเป็น เพราะไทยนำเข้าพลาสติกพื้นฐานมาก อาทิ ถัง กะละมัง องค์ประกอบรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งปัจจุบันการแข่งขันสูงและคู่แข่งที่ทำผลิตภัณฑ์พื้นฐานมีมากขึ้น GC จึงต้องผลิตตอบสนอง 5 เมกะเทรนด์ดังกล่าว
“เราจะทำเคมีแบบง่ายไม่ได้แล้วจึงต้องทำ R&D หากจะรับเทรนด์พลังงานทดแทน เช่น กังหันลม ที่ต้องมีสารเคลือบผิวเพื่อลดแรงเสียดทาน จะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะลมเป็นพลังงานสะอาด กระบวนการที่จะได้ลมมาก็ต้องดีด้วย ดังนั้นต้องดูองค์ประกอบโดยรวมทั้งหมด ซึ่งผลิตภัณฑ์ของ GC ต้องตอบสนองเมกะเทรนด์ทั้งหมด โดยเฉพาะความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
นอกจากนี้ ในการตอบสนองสังคมเมือง โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะใช้แล้วทิ้งจะเกิดปัญหาขยะ ซึ่งการทำแพลตฟอร์มรณรงค์เก็บหรือทิ้งให้ถูกที่เป็นอีกเรื่อง แต่ GC จะทำผลิตภัณฑ์ที่ดีกับสิ่งแวดล้อม เช่น รีไซเคิลหรือเป็นไบโอพาสติกย่อยสลายง่าย
ความยั่งยืนทางธุรกิจเป็นเป้าหมายสำคัญของหลายบริษัท เช่นเดียวกับ GC
GC วางเป้าหมาย Net Zero ค่อนข้างเร็วและที่ทำมาก่อนหน้านี้ คือ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ช่วยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ Net Zero เป็นเป้าใหญ่และเป็นกระแสโลก GC จึงนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นฐาน และประกาศเป้าหมายปี 2050 จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยปี 2030 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% เร็วกว่าเป้าหมายของไทย 15 ปี จะช่วยดึงค่าเฉลี่ยของประเทศให้ดีขึ้นด้วย โดยการเข้าสู่เป้า Net Zero ของ GC แบ่งเป็น 3 เรื่อง คือ
1.Efficiciency Driven ปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงาน โดยนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยของเสีย นำพลังงานใหม่มาใช้ เช่น ไฮโดรเจนจะลดได้ถึง 20%
2.Employ Future Low Carbon Energy ปรับสัดส่วนการลงทุน โดยจะลงทุนธุรกิจโลว์คาร์บอน จะลดได้ถึง 25%
3.Compensation Driven ลงทุนเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) จะเหมือนกับการปลูกป่าเลียนแบบธรรมชาติจะลดปริมาณคาร์บอน 55%
กลยุทธ์ร่วมทุนต่างชาติ ดัน“จีซี”โตก้าวกระโดด
GC ต้องการก้าวไปข้างหน้า โดยอาศัยเทคโนโลยี ซึ่งหากพัฒนาเองจะใช้เวลา 5-10 ปี จึงต้องทำ M&A ซึ่งจะได้ทั้งเทคโนโลยี คน ตลาด ล่าสุดปี 2564 บริษัทได้ทำดิลใหญ่ด้วยเงินลงทุน 4,000 ล้านยูโร ซื้อขายกิจการ Allnex นับเป็นก้าวสำคัญในการปรับ Portfolio เพื่อเพิ่มความหลากหลายของเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ และสร้างความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์ รวมถึงผสานนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัย
“Allnex เป็นบริษัทผลิตสารเคลือบผิวอันดับ 1 ของโลก เพราะผลิตภัณฑ์ปัจจุบันต้องผ่านการเคลือบผิวทั้งสิ้น อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ เครื่องบิน รถยนต์ เรือ กังหันลม รวมถึงตึกอาคารเพื่อความคงทน ลดแรงเสียดทาน ลดการสึกกร่อน ซึ่งเทคโนโลยีจะมีความล้ำสมัยไม่ก่อให้เกิดสารระเหย เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการซื้อกิจการดังกล่าวจะได้บุคลากร 4,000 คน จาก 20 ประเทศทั่วโลก มีโรงงาน 30 แห่งทั่วโลก รวมถึงศูนย์วิจัยและกำไร ที่เติบโตควบคู่กัน”
ทั้งนี้ GC ได้เตรียมเงินลงทุนไว้ราว 5,000 ล้านดอลลาร์ ในการลดปริมาณคาร์บอน ซึ่งขณะนี้ทำได้เร็วกว่าแผนถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะ GC ไม่ได้มองแค่เป็นเทรนด์แต่มองไปถึงโอกาสที่จะทำธุรกิจค้าขายทั่วโลก รวมถึงสหภาพยุโรป (EU) ที่ออกกฎหมายมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2566 และบังคับใช้เต็มรูปแบบปี 2569
“เมื่อทำก่อนก็ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหา สามารถเข้าไปในลูกค้าใหญ่ที่มีความรับผิดชอบก็จะต้อนรับสินค้าของ GC มากขึ้น”
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ คือ การเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส โดยไทยเจอทั้งวิกฤติสงครามทางการค้า โควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน ถือเป็นเรื่องที่วิกฤติตลอดเวลา เราสามารถเติบโตขึ้น แต่ไม่เพิ่มจำนวนคน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยตั้งเป้า 5 ปี จะลดค่าใช้จ่าย 10,000 ล้านบาท การผ่านความเหนื่อยตรงนี้จะสามารถทำให้เราอยู่ในองค์กรที่แข็งแรงได้