"ลิปตพัลลภ" รุกเวลเนส "เชวาลา" บูม "หัวหิน" ดันไทย Top 5 เมดิคัลทัวริสซึ่มโลก!
กลุ่ม “ลิปตพัลลภ” ลงขันร่วมทุนกับพันธมิตรนักธุรกิจจากหลากแวดวง ทั้งการเงิน รถยนต์ การแพทย์ และสถาปนิก ในนามบริษัท เมด เดสทิเนชั่น จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เปิดตัวแบรนด์ “เชวาลา” (CHEVALA) เมดิคัลฮับเพื่อการฟื้นฟูสุขภาพและความงามแบบองค์รวมระดับพรีเมียม 6 ดาว
ปักธง “เชวาลา เวลเนส หัวหิน” (CHEVALA Wellness Hua Hin) ในเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นต้นแบบการลงทุนของเชวาลาในเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ของไทย
รับเทรนด์การเติบโตของตลาด “ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ” (Medical & Wellness Tourism) ทั่วโลก ซึ่งทางสถาบันโกลบอล เวลเนส (GWI) คาดการณ์ว่าจะกลับมาเติบโตแข็งแกร่งเฉลี่ย 9.9% ต่อปี โดยมูลค่าเศรษฐกิจด้านสุขภาพ (Wellness Economy) จะสูงถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 250 ล้านล้านบาทในปี 2568
สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฉายภาพถึงศักยภาพตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพว่า มูลค่ารายได้ภาคท่องเที่ยวไทยมีโอกาสขยายตัวไปถึงระดับ 4 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 30-40% ของจีดีพี หากมีการส่งเสริมตลาด “ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ” ผลักดันให้ประเทศไทยสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดได้สัก 0.5% ของมูลค่าเศรษฐกิจด้านสุขภาพราว 250 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้ 1.25 ล้านล้านบาทต่อปี ด้วยการอาศัยจุดแข็ง 2 เรื่องสำคัญ ทั้งการเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขและพื้นฐานการท่องเที่ยวที่เข้มแข็ง!
มาช่วยเสริมทัพรายได้จาก “นักท่องเที่ยวทั่วไป” ซึ่งสร้างเม็ดเงินประมาณ 2.5 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 15% ของจีดีพี และรายได้จาก “นักเดินทางไมซ์” (MICE: การจัดประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) สร้างรายได้ราว 1 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็น 5% ของจีดีพี
ทั้งนี้ การผลักดันรายได้การท่องเที่ยวไปให้แตะ 4 ล้านล้านบาทต่อปีนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องประกาศให้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจ ด้วยการสนับสนุนภาคเอกชน ไม่ให้เหงาในการเดินหน้าต่อไป! เพิ่มผู้ประกอบการในตลาด และการสร้างงาน โดยเชื่อว่า “ธุรกิจโรงแรม” ต้องการเข้ามาเล่นในตลาดนี้เพิ่มมากขึ้น อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ในการนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ และการอำนวยความสะดวกในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม
นอกจากนี้ต้องจัดตั้งหรือออกแบบองค์กรที่มาขับเคลื่อนตลาดนี้เป็นการเฉพาะ ส่วนเรื่องงบประมาณ มองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะประเทศไทยมีพร้อมทุกอย่างแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องการกำหนดวิสัยทัศน์และนโยบายให้ชัดเจนมากกว่า เช่น การจัดทำแผนแม่บท และการตั้งเป้าหมายการเติบโตเพื่อกระตุ้นจีดีพี!
“ภาคท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้รวดเร็ว อาศัยความโดดเด่นของประเทศไทยเรื่องที่ตั้ง (Location) และระบบโลจิสติกส์ (Logistics) ซึ่งมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทุกอย่างเอาไว้แล้ว เช่น รถไฟความเร็วสูง ทางยกระดับต่างๆ นอกจากนี้ยังมีความพร้อมเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว ระบบสาธารณสุข และซอฟต์เพาเวอร์ เหลือเพียงการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิผล โดยมองว่าต้องมีการจัดตั้งองค์การเข้ามาช่วยบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพเป็นการเฉพาะ เหมือนกับที่มีสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เข้ามาดูแลการทำตลาดไมซ์โดยเฉพาะ”
แพทย์หญิงรัตน์กวิน จิตตวัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการทางการแพทย์ เชวาลา กล่าวว่า “เชวาลา” ตั้งเป้าขยายธุรกิจรวม 5 แห่งในช่วง 2 ปีนี้ กระจายตามเมืองท่องเที่ยวหลักของไทย ใช้เงินลงทุนรวมไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท (ไม่รวมที่ดิน) หรืออย่างต่ำ 70 ล้านบาทต่อสาขา ตั้งเป้าสร้างรายได้ 800-1,000 ล้านบาทสำหรับ 5 สาขาแรก ทำกำไร 15% จากการใช้จ่ายของลูกค้าเฉลี่ย 8,000-15,000 บาทต่อคนต่อวัน
โดยในปี 2565 หลังจากปักธง “หัวหิน” เป็นแห่งแรก ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าบลูพอร์ต ด้วยขนาดพื้นที่ใช้สอย 450 ตารางเมตร มีทางเชื่อมกับโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน รีสอร์ท (โรงแรมในกลุ่มบริษัท พราว กรุ๊ป ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนของตระกูลลิปตพัลลภ) เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าโรงแรมฯ 50% ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าวอล์คอิน พบว่านับตั้งแต่ให้บริการ เชวาลา เวลเนส หัวหิน อย่างไม่เป็นทางการ 1 เดือน มีลูกค้าชาวไทยและต่างชาติมาใช้บริการเท่ากันที่ 50% ส่วนในอนาคตคาดสัดส่วนชาวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 70% ส่วนคนไทยอยู่ที่ 30%
“จุดแข็งของเชวาลา คือ เมดิคัล เวเคชั่น นำเสนอโปรแกรมฟื้นฟูและดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ด้วยโปรแกรมแบบ Customize ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาและวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคล เจาะลูกค้ากลุ่มเฮลตี้ไลฟ์สไตล์ระดับไฮเอนด์”
สำหรับเชวาลา เวลเนส หัวหิน ยังมีบริการแพ็กเกจห้องพักและอาหารเพื่อสุขภาพของโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน รีสอร์ท เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งอื่นๆ ในหัวหิน เช่น ชีวาศรม และศูนย์ดูแลสุขภาพ VLCC ที่อวานี พลัส หัวหิน รีสอร์ท
จากนั้นในช่วงปลายปีนี้ จะเปิดตัวเชวาลาแห่งที่ 2 ใน “ภูเก็ต” นำมาใช้กับโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ภูเก็ต รีสอร์ท ส่วนปี 2566 จะขยายแห่งที่ 3 ไปยัง “เกาะสมุย” แบบสแตนด์อะโลน (Stand Alone) ต่อด้วยที่ “เชียงใหม่” กับ “พัทยา” เป็นแห่งที่ 4 และ 5 ตามลำดับ
“เชวาลาหวังว่าจะมีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยติดท็อป 5 แห่งการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพของโลก”
ด้านแผนขยายธุรกิจของเชวาลาใน “ต่างประเทศ” จะเริ่มในปี 2567 โดยสนใจร่วมลงทุนกับพันธมิตรในประเทศเป้าหมาย เช่น กลุ่ม CLMV เพื่อขยับสัดส่วนการสร้างรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 20% ส่วนในไทยยังคงเป็นฐานรายได้หลักที่ 80% ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า