2 อาณาจักร เลือดข้น "กาญจนพาสน์" พลัง รถไฟฟ้า ดัน "เมืองทองธานี" โตก้าวกระโดด!
หนึ่งในภาพประวัติศาสตร์แห่งวงการธุรกิจไทยถูกบันทึกไว้ในวันที่ 2 ส.ค.2565 เมื่อผู้นำแห่ง 2 อาณาจักรธุรกิจของตระกูล “กาญจนพาสน์” ได้แก่ อาณาจักร “เมืองทองธานี” ภายใต้ "บางกอกแลนด์" และอาณาจักร “บีทีเอส” แห่ง บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ผนึกกำลังครั้งสำคัญ!
ร่วมมือกันพัฒนาโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี” ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท
หลังจาก “อนันต์ กาญจนพาสน์” เจ้าพ่อเมืองทองธานี ผู้เป็นพี่ชาย กับ “คีรี กาญจนพาสน์” เจ้าพ่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ทายาททั้งสองของ “มงคล กาญจนพาสน์” ต่างลุยสร้างอาณาจักรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทยหลังเลือกกลับจากฮ่องกง ปั้น “ดาวคนละดวง!” เติบโตเป็นประกายด้วยวิถีแตกต่าง ฝ่ามรสุมทางธุรกิจมามากมาย โดยเฉพาะวิกฤติต้มยำกุ้งในช่วงปี 2540
บัดนี้ อาณาจักรเมืองทองธานี มีผู้รับไม้ต่อคือบุตรชายทั้งสองของอนันต์ “ปีเตอร์ - พอลล์ กาญจนพาสน์” ซึ่งได้เข้ามาช่วยผู้เป็นพ่อขยายอาณาจักร มีรายได้หลักจากธุรกิจอสังหาฯทั้งแบบให้เช่าและขายขาด อาทิ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม โรงแรม ค้าปลีก อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย รวมถึงธุรกิจร้านอาหาร และอื่นๆ สานฝันของ อนันต์ ซึ่งถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 13 เม.ย.2563 สิริอายุได้ 80 ปี
ปีเตอร์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้ผมรู้สึกยินดีอย่างมากที่ได้เซ็นสัญญากับคุณอาของผมเอง (คีรี) ในพิธีลงนามเซ็นสัญญากับบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR JV Consortium) ที่ร่วมทุนกันระหว่าง 3 บริษัทมหาชน บีทีเอส กรุ๊ปฯ ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ ราช กรุ๊ป ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี จำนวน 2 สถานี รวมระยะทางราว 3 กิโลเมตร
“ถ้าทั้งคุณปู่ (มงคล) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบางกอกแลนด์และรวบรวมที่ดินอาณาจักรเมืองทองฯ 4,000 ไร่ และคุณพ่อ (อนันต์) ซึ่งเป็นผู้บริหาร ฟื้นฟู และสร้างการเติบโตแก่บางกอกแลนด์ ยังอยู่ ทั้งสองท่านก็คงดีใจเหมือนกับผม”
ด้าน คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวบนเวทีฯว่า การร่วมมือกันทำโครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะรับทราบมาว่ามีคนเข้ามาใช้จ่ายและใช้บริการในเมืองทองธานีถึง 10 ล้านคนต่อปี จริงๆ แล้วตอนที่ทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ควรจะต่อเข้ามาในเมืองทองธานีแล้ว ส่วนข้างในจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่แฟร์มากเลยนะ ตรงนี้ไม่เคยพูดมาก่อน แต่คล้ายๆ ได้ยินมาว่า “เอ๊ะ... (สองธุรกิจนี้) มันของกาญจนพาสน์ด้วยกัน” ซึ่งมองว่าคิดอย่างนั้นไม่ได้
อย่างไรก็ตาม “ดีใจที่เขาเรียกผมว่าคุณอา (ยิ้ม)”
สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์ อาคาร 1) และสถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2568 หรือตามที่ คีรี ระบุบนเวทีฯว่าจะเร่งให้เสร็จเร็วที่สุดภายในปี 2567
ปีเตอร์ หัวเรือใหญ่แห่งบางกอกแลนด์ เล่าเพิ่มเติมว่า โครงการรถไฟฟ้าฯจะช่วย “ส่งเสริม” ธุรกิจต่างๆ ในเมืองทองธานี เช่น ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค, โรงแรม, คอสโม บาซาร์, คอสโม วอล์ค, เอาท์เล็ท สแควร์, บีไฮฟ ไลฟ์สไตล์มอลล์ และคอสโม ออฟฟิศ พาร์ค ให้มีการเติบโตมากขึ้น 10-20%
นอกจากนี้ โครงการรถไฟฟ้าฯยังเพิ่มศักยภาพและเพิ่มมูลค่าที่ดินเปล่ารอพัฒนาในเมืองทองธานีที่มีอยู่อีก 600 ไร่ โดยบางกอกแลนด์คงจะไม่ตัดขายที่ดินเปล่า เนื่องจากมีแผนทยอยพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน หรือ “มิกซ์ยูส” แห่งใหม่เพิ่ม เริ่มจากที่ดินโซนริมทะเลสาบซึ่งมีประมาณ 400 ไร่ จากนั้นค่อยขยายไปยังที่ดินทำเลทองในเมืองทองธานี
“ปัจจุบันเราอยู่ระหว่างพิจารณาออกแบบโครงการมิกซ์ยูสดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการยุคใหม่ และรอสรุปความชัดเจน โดยอาจจะมีการจับมือร่วมทุนกับพันธมิตร หรืออาจพัฒนาเองบางส่วน ถ้ามีพันธมิตรที่ดี สนใจมาร่วมลงทุน เราก็ไม่ปิดกั้น ส่วนเงินลงทุนโครงการมิกซ์ยูส ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจสูงกว่าวงเงิน 5,000-6,000 ล้านบาทที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้”
ทั้งนี้ บางกอกแลนด์ได้ลงทุนการก่อสร้าง “สกายวอล์ค” (Skywalk) ด้วยเม็ดเงินส่วนต่างหากจำนวน 1,000 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่า 90% เพื่อเชื่อมต่อจากโครงการรถไฟฟ้าฯไปยังศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค, โรงแรม, ร้านค้าปลีก และห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อมอบความสะดวกสบายแก่ผู้มาใช้บริการสูงสุด
พร้อมต่อยอดการขายและเพิ่มศักยภาพของการเป็น “ทำเลทอง” สำหรับโครงการใหม่ต่างๆ ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ เช่น โครงการ “โมริ คอนโดมิเนียม” โครงการที่พักอาศัยจำนวน 1,040 ยูนิต ซึ่งได้รับผลตอบรับดี มียอดขายแล้ว 35% หลังเปิดตัวไปเมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมี “เลอโนท” โรงเรียนสอนศิลปะการทำอาหารสัญชาติฝรั่งเศสอีกด้วย
พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวเสริมว่า คาดการณ์ว่าในปี 2568 ที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานีให้บริการ อิมแพ็คฯ จะมีงานไมซ์ (MICE: การจัดประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และจัดแสดงสินค้า) รวมถึงอีเวนต์ คอนเสิร์ต และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มเป็น 2,000 งานต่อปี เติบโต 2 เท่า!! เมื่อเทียบกับจำนวนประมาณ 1,000 งานต่อปีในภาวะปกติก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 และมีจำนวนผู้เดินทางเข้ามาร่วมงานต่างๆ ในอิมแพ็คฯ เพิ่มเป็น 12-13 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากที่มี 10 ล้านคนต่อปี