Carbon Markets Club ตัวช่วยภาคเอกชน สู่สังคม Net Zero
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโรครวน (Climate Change) น่าจะเคยได้รับทราบถึงผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26)
ที่เมืองกลาสโกว์ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้เข้าร่วมประชุมและประกาศความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065
ภาคเอกชนไทยโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ต่างขานรับกับเป้าหมายดังกล่าว โดยร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งประกาศเป้าหมายและวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อม สอดรับกับการกำหนดเป้าหมายตามแผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contributions: NDCs)
ในทางปฏิบัตินั้น การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality สามารถทำได้โดยการ "ลด" และ "ชดเชย" การปล่อยคาร์บอน อาทิ การใช้เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการของเสียที่สะอาดขึ้น หรือการใช้พลังงานสะอาดทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ การชดเชย (Offset)
ผ่านกิจกรรมที่ลดคาร์บอนอื่นๆ อาทิ การปลูกป่า การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงการซื้อคาร์บอนเครดิต ส่วนการบรรลุเป้าหมาย Net Zero สามารถทำได้โดยการ “ลด” และ “กำจัด” ก๊าซเรือนกระจกให้เกิดความสมดุลในการปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและการดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ หรือหมายถึงว่าเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกินที่เกิดจากกิจกรรมการดำเนินงานได้
แม้การ “ซื้อคาร์บอนเครดิต” จะเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย แต่ได้รับการยอมรับในระดับสากลให้เป็นหนึ่งในวิธีการชดเชยการปล่อยคาร์บอนได้ ในแง่ของผู้ขาย คาร์บอนเครดิต เปรียบเสมือนกับสินค้าที่ผลิตได้จากการทำกิจกรรมด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ อาทิ การปลูกต้นไม้ ที่นำไปคำนวนเป็นคาร์บอนเครดิตเพื่อขายต่อให้กับองค์กรอื่นที่ต้องการซื้อเพื่อชดเชยคาร์บอนที่ตนปล่อยได้ ซึ่งทำให้การปล่อยมลพิษมีต้นทุน จึงถือเป็นการใช้กลไกตลาดเพื่อจูงใจองค์กรต่างๆ ให้หันมาลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น
ด้วยประโยชน์ของการซื้อขายดังกล่าวจึงนำสู่การเติบโตของ “ตลาดคาร์บอนเครดิต” โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของไทย ได้รายงานว่ามูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นถึงกว่า 10 เท่า จากเพียง 846,000 บาทในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 9,714,190 บาทในปี 2564 ซึ่งส่งผลให้ราคาซื้อขายมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันราคาคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยของปี 2565 อยู่ที่ 35 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อย่างไรก็ตาม การซื้อขายคาร์บอนในประเทศไทยยังมีปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของประเทศ
ในด้านโครงสร้างพื้นฐานของตลาดคาร์บอนเครดิต องค์กรชั้นแนวหน้าของประเทศไทยจากอุตสาหกรรมด้านพลังงาน อาหาร การขนส่ง และการเงินการธนาคาร ได้ร่วมกันก่อตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club เป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว เพื่อเป็นเสมือนแพลตฟอร์มศูนย์กลางที่รวบรวมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตประเภทต่างๆ ทั้งคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ที่ได้รับการรับรองโดย อบก. หรือเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC : Renewable Energy Certificate) ที่รับรองโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และในอนาคตจะนำคาร์บอนเครดิตประเภทอื่นๆ ที่ได้รับรองตามมาตรฐานสากลมาทำการซื้อขายด้วย
เราอาจเทียบการดำเนินงานของ Carbon Markets Club ได้กับการเป็นตลาดหลักทรัพย์ (Exchange Mechanism) แห่งผลิตภัณฑ์คาร์บอนเครติดนั่นเอง โดยเป็นกลไกที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังมีเป้าหมายการพัฒนาจากระบบซื้อขายโดยตรง (Over the Counter) ไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีความรวดเร็วและทันสมัย รองรับตั้งแต่การทำ e-Registration ไปจนถึงการทำ e-Carbon Trading ผ่านเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งจะสามารถสร้างโอกาสทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการลงทุนสีเขียว ให้แก่สมาชิกของเครือข่ายได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ในส่วนของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่าย Carbon Markets Club นั้นไม่เพียงจะสามารถใช้ประโยชน์จากกลไกซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อให้องค์กรของตนได้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน อีกทั้งสามารถใช้กลไกดังกล่าวร่วมกับการสนับสนุนทางการเงิน ช่วยผลักดันให้ผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งสมาชิกเครือข่ายสามารถปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พันธกิจที่ท้าทาย คือสังคม Net Zero ได้อย่างเป็นระบบด้วยเช่นกัน
Carbon Markets Club จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ที่มีเป้าหมายและความมุ่งมั่นร่วมกัน รวมทั้งเป็นตัวช่วยให้มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ Net Zero ทั้งในระดับบุคคล องค์กร ชุมชน และประเทศในที่สุด