“สุพันธุ์” ห่วงปมขัดแย้ง “สหรัฐ-จีน” ดันสงครามการค้ารุนแรงขึ้น
“สุพันธุ์” หวั่น ผู้นำโลกเปลี่ยนเอเปกเป็นเวทีประลองกำลัง สุมไฟขัดแย้ง-เศรษฐกิจ ระอุ แนะ ภาครัฐประสานให้ดี มีไหวพริบ ชิงดึงลงทุน อย่ามัวทะเลาะสูตรปาร์ตี้ลิสต์
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า การเดินทางถึงไต้หวันเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา ของนางแนนซีเพโลซีประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับเป็นการเดินทางเยือนของนักการเมืองระดับสูงสุดของสหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี
ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าการเดินทางครั้งนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีน บาดหมางมากยิ่งขึ้น และด้วยเศรษฐกิจของสหรัฐและจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง อาทิ เกิดการแซงชั่น รวมถึงสงครามการค้าจะรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจของเศรษฐกิจโลก ทำให้ถดถอยและชะลอตัวลง และย่อมกระทบต่อการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ของประเทศไทย ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“การประชุมเอเปกของไทยอาจไม่ราบรื่นเรียบร้อยสมความตั้งใจของรัฐบาลที่คาดหวังว่าหลังการประชุมผ่านพ้นจะทำให้ไทยมีหน้ามีตาทัดเทียมนานาประเทศเพิ่มขึ้น แต่กลับกลายเป็นความวุ่นวายแทน เพราะด้วยปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังมีอยู่ รวมถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ค่อนข้างรุนแรง เพราะจีนมองว่าการกระทำดังกล่าวของสหรัฐ เป็นการรุกอธิปไตย เพิ่มเชื้อไฟให้เวทีการประชุมนี้ กลายเป็นสนามประลองกำลังทางด้านการเมืองของโลก ประกอบกับในปี 2566 สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพการประชุม การเข้ารับไม้ต่อของเขา อาจคิดที่จะทำอะไรตามอำเภอใจ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในการประสานผลประโยชน์ให้ดี”
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ในวิกฤติความขัดแย้งดังกล่าว ถือเป็นโอกาสในการดึงนักลงทุนของไทย เพราะการลงทุนในจีนจะเกิดการชะลอตัวลงแน่นอน โดยเฉพาะนักลงทุนในตลาดยุโรปและสหรัฐทั้งหมดต้องถอนการลงทุนเพื่อหาแหล่งลงทุนใหม่
ดังนั้น รัฐบาลต้องมีไหวพริบใช้จังหวะนี้ให้ดีและเร็ว หยุดทะเลาะกันแต่เรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) แบบหารด้วย 100 หรือหาร 500 และหันมาให้ความสำคัญเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ เปลี่ยนความตระหนกและผวาของประชาชน แก้วิกฤติที่จะเกิดขึ้นในเชิงลบต่อประเทศ แล้วมองหาโอกาสให้มากขึ้น เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้เบาบางลงได้