" Thailand Pavilion "โชว์นวัตกรรม ตอบโจทย์"อาหารลดโลกร้อน
ปัญหาโลกร้อน ทำให้ประชากรในโลก คำนึงถึงวิถีชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้น การจัดงานEXPO 2022 Floriade Almere เนเธอร์แลนด์ จึงอยู่บนแนวคิด” Growing Green Cities “ เน้นเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับเมืองอนาคต
เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การเข้าร่วมงานของไทยในงานนี้ เป็นโอกาสในการเผยแพร่ความก้าวหน้าในเรื่องนวัตกรรมด้านอาหารและสินค้าเกษตรของไทย การพัฒนากระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานและคุณภาพของไทยอย่างยั่งยืนสู่การรับรู้ของผู้เข้าชมงาน
“แนวคิดของ Thai Pavilion คือ trust Thailand หรือความเชื่อมั่น ประเทศไทยในด้านต่างๆ ผ่านการนำเสนอด้วย คีย์เวิร์ด คือเป็นที่นิยม เข้าถึงง่ายใช้ประโยชน์ได้ ปลอดภัย ยั่งยืน ด้วยการใช้เทคโนโลยี แนวคิดนี้สอดคล้องกับนโยบาย BCG โมเดล หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว"
ทั้งหมดนี้จะเป็นข้อมูล เพื่อกำหนดแนวทางหลักนำไทยเข้าสู่การเป็นครัวของโลก อีกทั้งเพื่อนำไปพิจารณาการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ของไทยในปี 2569 ที่จังหวัดอุดรธานี ระหว่างเดือน พ.ย. 2569 - มี.ค. 2570 โดยมั่นใจว่าการจัดงานของไทยจะไม่เป็นรองประเทศใด และจะส่งผลให้จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง มีเงินหมุนเวียนมากขึ้นนับ 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป
เป้าหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการลดผลกระทบจากปัญหาClimate Change นำไปสู่การเคลื่อนตัวของกลุ่มผู้บริโภคในยุโรปที่ส่งสัญญาณต่อภาคการส่งออกอาหารและการเกษตรของไทย
ชนรรค์ดา สรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า ความนิยมอาหารวีแกน (Vegan) หรือกลุ่มที่ไม่กินเนื้อสัตว์และไม่กินผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เลย ในอียูเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากความใส่ใจต่อสุขภาพและด้านสิ่งแวดล้อม
ทั้งหมดทำให้ธุรกิจอาหารในสภาพยุโรป(อียู)ต้องปรับตัวตามจะเห็นได้จากร้านอาหาร เช่น แมคโดนัลด์จะหันมาใช้วัตถุดิบเป็นแพลนต์เบส เน้นวัตถุดิบจากพืชเป็นหลัก ร้านอาหารเหล่านี้จะเปลี่ยนสัญลักษณ์ทางการค้าเป็นสีเขียว อย่างเด่นชัดเพื่อให้เกิดความสบายใจต่อการเลือกซื้อของผู้บริโภค
นอกจากนี้พฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนไป ทำให้ซุปเปอร์มาเก็ตต้องปรับระเบียบการนำสินค้ามาจำหน่าย ให้สอดรับกับความต้องการ ของผู้บริโภค ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานกลางของอียู
จากแนวคิดและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปผู้ส่งออกของไทยต้องนำไปคิดและปรับเปลี่ยน ให้สอดคล้องกับความต้องการที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งสินค้าของไทยยังเป็นที่นิยมในลำดับต้นๆ
“ การเลือกซื้อของผู้บริโภค เป็นเรื่องสำคัญ สินค้าที่มีคุณภาพเท่านั้นจึงจะขายได้ แต่ภาวะเงินเฟ้อ ที่เพิ่มขึ้นสูงมากทำให้สินค้ามีราคาแพง อันนี้จะเป็นอุปสรรคสำหรับสินค้าของไทย เพราะมีราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง"
ชาตรี อรรจนานันท์ เอกอัครราชทูตประจำเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชากรปรับเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป หรืออียูที่ราคาสินค้าโดยเฉพาะอาหารปรับขึ้นมากกว่า 11 %ทำให้ผู้บริโภคต้องคิดอย่างรอบคอบในการจับจ่ายใช้สอย ต้องคำนึงถึงความคุ้มประโยชน์เป็นสำคัญ ซึ่งหมายถึง ต้องดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
“กระแสความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม พบว่า ส่งผลกระทบกับชาวนา ในอียู ออกมาประท้วง เพราะนโยบาย ลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจน ขวางทางวิถีชีวิตของเขา เนื่องจากขั้นตอนการทำนาปล่อยก๊าชสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก กรณีนี้ประเทศไทย ที่คนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมต้องใส่ใจศึกษา เพื่อหาแนวทางรับมือ และโอกาสของการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น”
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า การส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย. 2565 มีมูลค่า 26,553.1ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 11.9% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นแรงหนุนสำคัญที่ช่วยสนับสนุน การเติบโตของการส่งออกในเดือน มิ.ย. สะท้อนความสามารถในการผลิตสินค้าอาหารของไทยป้อนสู่ตลาดโลก