KBANK รุก AEC+3 ขึ้นแท่น ‘ธนาคารยุคใหม่’แห่งภูมิภาค

KBANK รุก AEC+3 ขึ้นแท่น ‘ธนาคารยุคใหม่’แห่งภูมิภาค

กสิกรไทยเดินหน้าขยายธุรกิจ AEC+3 รุกเวียดนามเต็มตัว หวังขึ้นแท่นธนาคารยุคใหม่" แห่งภูมิภาค ตั้งเป้าเจาะฐานลูกค้าเวียดนาม1.2ล้านราย ปล่อยกู้2.2หมื่นล้าน

KBANK รุก AEC+3 ขึ้นแท่น ‘ธนาคารยุคใหม่’แห่งภูมิภาค         การขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ถือเป็น “หมุดหมาย” ที่สำคัญของหลายธุรกิจ ที่ต้องการออกไปเติบโตในต่างประเทศมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ภาค “ธนาคาร” ที่มีการขยับขยายการเติบโตไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น

        ผ่านทั้งการตั้งสาขา การซื้อกิจการ การจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อหวังขยายฐานลูกค้า ขยายการให้บริการ เพื่อสร้างการเติบโต เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าของธนาคารมากขึ้น

       เช่นเดียวกันกับ “ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)” ที่เดินหน้าขยายธุรกิจ ในกลุ่มประเทศ AEC+3 ต่อเนื่อง จนปัจจุบัน KBANK ถือเป็นแบงก์ที่มีเครือข่ายการให้บริการในต่างประเทศในกลุ่ม AEC+3 เกือบมากที่สุด

        โดยมีเครือข่ายครอบคลุมถึง 16 แห่ง ซึ่งรวมถึง “สาขานครโฮจิมินห์” ที่เป็นสาขาล่าสุด หลังธนาคาร ได้รับการยกระดับการให้บริการ จากสำนักผู้แทนนครโฮจิมินห์ เป็นธนาคารกสิกรไทย สาขาแรกในเวียดนามเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา 

       ส่งผลให้ “ธนาคารกสิกรไทย” ถือเป็นสถาบันทางการเงินที่แข็งแกร่งเบอร์ต้นๆ ที่มีพันธมิตรกว่า 84 แห่งทั่วโลก รวมไปถึง การมีเครือข่ายสตาร์ทอัพในภูมิภาคที่ธนาคารลงทุน และพันธมิตรรวมมากกว่า 20 ราย ทำให้วันนี้ “ธนาคารกสิกรไทย” มีฐานลูกค้าในภูมิภาคอาเซียนมากกว่า 1.85 ล้านคนไปแล้ว 

    “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ยุคหลังโควิด-19 มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวก และยังโดดเด่นกับตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

        รวมทั้งการขยายตัวของดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ธนาคารจึงเดินหน้าขยายบริการในภูมิภาคเพื่อเชื่อมต่อโอกาสให้แก่ธุรกิจไทย และส่งมอบบริการให้แก่ลูกค้ารายย่อย และผู้ประกอบการในประเทศท้องถิ่น เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และสินเชื่อได้สะดวกและครอบคลุมความต้องการในทุกพื้นที่มากขึ้น

        โดยกลยุทธ์ 3 ปี หลังจากนี้ของ “ธนาคารกสิกรไทย” ยังคงเดินหน้าการเป็น “ชาเลนเจอร์แบงก์” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยี การลงทุนในสตาร์ทอัพ การเข้าซื้อกิจการ

       ซึ่งคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 2,700 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจที่ผสานด้วยดีเอ็นเอแห่งชาเลนเจอร์แบงก์ ในการส่งมอบบริการบนดิจิทัลสู่ผู้ใช้งานในท้องถิ่นได้คล่องตัวมากขึ้น เหล่านี้จะช่วยหนุน ธนาคารกสิกรไทย ก้าวไปสู่ การเป็น "ธนาคารยุคใหม่" แห่งภูมิภาค AEC+3 

     การก้าวขึ้นเป็น "ธนาคารยุคใหม่" แห่งภูมิภาคได้ ต้องอาศัยยุทธศาสตร์ Asset-Light Digital Banking Strategy ที่มุ่งเน้นรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยลงทุน และร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยี และสตาร์ทอัพในท้องถิ่น ซึ่งช่วยให้ธนาคารมีความรุดหน้า ด้านเครือข่าย และเทคโนโลยีบริการที่ตรงใจผู้ใช้งานได้มากขึ้น 

      ควบคู่กับการเดินตาม 3 กลยุทธ์พร้อมกัน ทั้งการรุกขยายสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจ การขยายฐานลูกค้าผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรของธนาคาร

       โดยเน้นการให้บริการผ่านดิจิทัล เพื่อต่อยอดการทำธุรกรรมไปสู่ระดับภูมิภาค ด้วยการเป็น Regional Payment Platform สุดท้ายคือ การพัฒนาการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการให้สินเชื่อดิจิทัล โดยใช้ Alternative Data ที่จะทำให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้า Underbanked มากขึ้น ซึ่งถือเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ใน AEC+3 เพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจ Banking-as-a-Service 

     “พิพิธ อเนกนิธิ” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เวียดนามเป็นหนึ่งประเทศ ที่มีการเติบโตสูงสุดในอาเซียน และเป็นประเทศที่มีศักยภาพดึงดูดเงินลงทุนจากทั่วโลก

      ยิ่งไปกว่านั้น เวียดนามมีนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมเป้าหมายในการเป็น “ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี” แห่งใหม่ของเอเชีย ในขณะที่เวียดนามมีประชากรกว่า 100 ล้านคน ที่มีอายุค่อนข้างน้อย และพบว่าประชากรเวียดนามมากกว่า 50% ซื้อสินค้าออนไลน์

    นี่คือ “โอกาส” ของธนาคารกสิกรไทย ในการเป็นธนาคารต่างชาติแห่งแรกที่นำ “ดิจิทัล โปรดักต์ โซลูชัน” เต็มรูปแบบ เพื่อให้บริการลูกค้าทุกเซกเมนต์ ทั้งกลุ่มธุรกิจท้องถิ่น และต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม

      รวมถึงธุรกิจเทรดดิ้ง ธุรกิจบริการ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจอุตสาหกรรม และลูกค้าบุคคล และธุรกิจขนาดเล็ก โดยผ่านเงินฝาก สินเชื่อบุคคล และระบบการรับชำระเงิน

    ททท. เหล่านี้มาจาก การนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีของธนาคารในฐานะผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้งของไทย ไปช่วยต่อยอดการพัฒนาบริการให้แก่ลูกค้าในเวียดนาม ทั้งการใช้ K PLUS Vietnam ที่เป็นแกนหลักในการสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem ให้แก่ลูกค้าบุคคล เพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าได้ทั่วประเทศมากขึ้น รวมถึงการรุกสินเชื่อดิจิทัล โดยเริ่มจาก KBank Biz Loan ที่ให้สินเชื่อแก่ร้านค้าขนาดเล็ก

       โดยเน้นการเข้าถึงลูกค้าผ่านทางพันธมิตร และแพลตฟอร์มท้องถิ่น ผ่านการลงทุนของ KASIKORN VISION ซึ่งเป็นบริษัททำหน้าที่ด้านการลงทุนของธนาคาร และการตั้ง KBTG Vietnam เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีในการให้บริการทั้งในเวียดนามและในภูมิภาค

    “การรุกตลาดเวียดนามครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำถึงยุทธศาสตร์ของธนาคารในการก้าวเป็น “ธนาคารยุคใหม่” แห่งภูมิภาค AEC+3 อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยวิธีการแบบชาเลนเจอร์แบงก์ ที่คล่องตัวสูงและเข้าถึงผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยี ซึ่งธนาคารเชื่อมั่นว่า จะสามารถเชื่อมต่อบริการธนาคารสู่ลูกค้าท้องถิ่นในเวียดนามได้ในวงกว้าง สะดวก รวดเร็ว และตรงความต้องการ

       ความคาดหวัง หลังจากนี้ “ธนาคารกสิกร” โดยตั้งเป้าหมาย ที่จะมีฐานลูกค้าบุคคลเวียดนาม 1.2 ล้านรายในปีหน้า พร้อมตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อ ผ่าน “ธนาคารยุคใหม่” สู่ 22,000 ล้านบาท ในปี 2566

 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์