‘เอไอเอส’ ไขปม‘กองทุน JASIF’ เลิกค่าเช่า-สร้างผลตอบแทน 'ยั่งยืน'
‘เอไอเอส’ เคลียร์ปมกองทุน JASIF เดินหน้าลดเสี่ยง-สร้างความยั่งยืน การันตีผลตอบแทนนักลงทุน เสนอเลิกค่าเช่ากองทุน JASIF กอง 2 ปรับลดผลตอบแทนจาก 9% เหลือ 7% ยันปันผลเท่าเดิมแต่ยืดเวลาเวลาจ่ายให้นานขึ้นถึงปี 2575 หวัง 23 ก.ย.ผู้ถือหน่วยลงทุนโหวตผ่านเกิน 75% ก่อนปิดดีล 3บีบี
‘เอไอเอส’ เคลียร์ปมกองทุน JASIF เดินหน้าลดความเสี่ยง-สร้างความยั่งยืน การันตีผลตอบแทนนักลงทุน เสนอยกเลิกค่าเช่ากองทุน JASIF กอง 2 ปรับลดผลตอบแทนจาก 9% เหลือ 7% ยันปันผลเท่าเดิมแต่ยืดเวลาเวลาจ่ายให้นานขึ้นถึงปี 2575 หวัง 23 ก.ย.ผู้ถือหน่วยลงทุนโหวตผ่านเกิน 75% ก่อนปิดดีล 3บีบี ย้ำการปรับครั้งนี้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สร้างความยั่งยืนให้กองทุนฯ ในอนาคต เซฟต้นทุนได้กว่า 3 พันล้านบาท
“ธีร์ สีอัมพรโรจน์” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ประเด็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF โดยหนึ่งในเงื่อนไข ที่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด (ACU) และ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เพื่อซื้อขายหุ้น บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB และหน่วยลงทุนใน JASIF มีมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท
โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ขาย ได้อนุมัติการขายหุ้น TTTBB และหน่วยลงทุน JASIF ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน, ที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนของ JASIF อนุมัติการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง, และบรรลุเงื่อนไขบังคับข้ออื่นๆ ภายใต้บันทึกข้อตกลงสำเร็จครบถ้วน
เสนอยกเลิกสัญญาเช่า-ปันผลยาวขึ้น
อย่างไรก็ตาม เอไอเอส มองว่า ที่ผ่านมาแนวโน้มการใช้งานโครงข่ายลดลง ต้นทุนบริหารจัดการสูงขึ้น ทำให้รายได้ และกำไรลด มีแนวโน้มที่จะขาดทุนในอนาคตด้วย เอไอเอส ต้องการสร้างให้กองทุน JASIF มีความแข็งแกร่งและยั่งยืนขึ้น จึงได้เสนอให้ยกเลิกสัญญาเช่าบางส่วนของกองทุน JASIF ลง เพื่อให้การบริหารกองทุนฯ คล่องตัว ไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงเกินไป
เอไอเอส มั่นใจว่า รายได้ค่าเช่าของ JASIF จะไม่น้อยลงไปกว่าเดิม ขณะที่ยังยืดอายุของสัญญาเช่าได้นานขึ้น จากสิ้นสุดปี 2575 เป็นสิ้นสุดปี 2580 ลดความเสี่ยงกระแสเงินสด และมีโอกาสได้รับการอัดฉีดสินทรัพย์ในอนาคต
ทั้งนี้ เมื่อมีการยกเลิกค่าเช่า จะทำให้การจ่ายเงินปันผลน้อยลง ซึ่งเอไอเอสเสนอให้จ่ายผลตอบแทนในระดับ 7% จากเดิม 9-10% ซึ่งยืนยันว่า 7% เป็นตัวเลขที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ตัวเลขจะดูลด แต่เอไอเอสจะยืดเวลาจ่ายปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้นานมากขึ้น การันตีที่ 7% และอาจสามารถปรับเพิ่มสูงขึ้นได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน เอไอเอส จะเข้ามาใช้ Capacity เพิ่ม ดังนั้นแม้กองทุนฯ จะมีรายได้จากค่าเช่าที่ลดลง แต่จะได้จำนวนหน่วยในการใช้เพิ่ม และแน่นอนว่า สามารถเพิ่มผลตอบแทนในอนาคตด้วย
“เอไอเอส เสนอให้ยกเลิกค่าเช่าในกองทุน JASIF กองที่ 2 เพราะถือเป็นต้นทุนที่สูงเกินไป ที่ทริปเปิลทรีฯ ต้องแบกรับ ขณะที่การแข่งขันในตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแข่งขันกันสูง และเป็นไปได้สูงที่ ทริปเปิลทรีฯ จะไม่สามารถจ่ายค่าเช่าต่อได้ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการขยายสัญญาเช่าออกไปจนถึงปี 2575 ข้อเสนอของ เอไอเอส จะช่วยให้กองทุน JASIF มีต้นทุนลดลง และได้ปันผลดีขึ้น ทั้งยังมีโอกาสในการขยายการลงทุนกับทรัพย์สินของเอไอเอสด้วย”
ลุ้น 23 ก.ย.ผู้ถือหน่วยลงทุนไฟเขียว
ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหน่วยลงทุนของ JASIF ในสัดส่วน 75% โดยจะมีการประชุมในวันที่ 23 ก.ย.65 โดยมั่นใจว่า ข้อเสนอนี้จะช่วยให้ ทริปเปิลทรีฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 3 พันล้านบาทในปี 2575 หากข้อเสนอนี้ได้รับไฟเขียวจากผู้ถือหน่วยลงทุน คาดว่า จะส่งผลให้การบริหารกองทุน JASIF เป็นไปอย่างคล่องตัว และสะท้อนต้นทุนการบริหารที่แท้จริง ซึ่งจะมีผลต่ออนาคตทำให้กองทุนเกิดความยั่งยืนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากผู้ถือหน่วยลงทุนส่วนใหญ่ โหวตอนุมัติการเปลี่ยนแปลงในสัญญาเช่าไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็จะผิดเงื่อนไขต่อข้อเสนอ เอไอเอส ในการเข้าซื้อกองทุน JASIF ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้
สำหรับดีลใหญ่ของเอไอเอส กับ ทริปเปิลทรีฯ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 โดยคณะกรรมการบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS มีมติอนุมัติให้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (“AWN”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ บริษัทฯ ถือหุ้น 99.99% และหรือ บุคคลที่ AWN กำหนด (รวมเรียกว่า “ผู้ซื้อ”) ดำเนินการดังต่อไปนี้
1.เข้าซื้อหุ้นในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (“TTTBB”) จำนวน 7,529,242,385 หุ้น คิดเป็น สัดส่วน 99.87% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ TITBB จากบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด (“ACU”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (“JAS”) รวมถึงการได้มาซึ่งบริษัทย่อยของ TTTBB อีกสองบริษัท คือ บริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด และบริษัท อิน คลาวด์ จำกัด และการได้มา ซึ่ง บริษัท ทรี บีบี จำกัด ตามเงื่อนไขบังคับก่อน คิดเป็นมูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท
2.เข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (“JASIF”) จาก JAS จำนวน 1,520,000,000 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 19.00% ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของ JASIF ในราคาหน่วยละ 8.5 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 12,920 ล้านบาท
ทั้งนี้ รวมเรียกทั้งสองธุรกรรมว่า ”ธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุน” มีมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท โดย AWN ได้ลงนามใน บันทึกข้อตกลงกับ ACU และ JAS ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 เพื่อซื้อขายหุ้น TTTBB และหน่วยลงทุนใน JASIF (Undertaking Agreement) (“บันทึกข้อตกลง”)
มีเงื่อนไขบังคับก่อนที่สำคัญ คือ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ขายได้อนุมัติการขายหุ้น TTTBB และหน่วยลงทุน JASIF ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน, ที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนของ JASIF อนุมัติการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง, และบรรลุเงื่อนไขบังคับก่อนอื่น ๆ ภายใต้บันทึกข้อตกลงสำเร็จครบถ้วน
คาด"ซื้อหุ้น-หน่วยลงทุน"เสร็จต้นปี66
ทั้งนี้ AWN จะทำการขออนุญาตในการเข้าทำธุรกรรมจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ก่อนจึงจะลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นและหน่วยลงทุน โดยบริษัทฯ คาดว่าธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุนจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 1 ของปี 2566
สำหรับการลงทุนครั้งนี้ จะทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากบริการอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็ว และมีคุณภาพที่ดี ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น ส่งเสริมการลงทุนไปยังพื้นที่ใหม่ เพื่อให้คนไทยสามารถได้รับบริการอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง
โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดและรอบนอกตัวเมือง รวมถึงเป็นไปตามเป้าหมายกลยุทธ์ของเอไอเอส เพื่อขยายการเติบโตในธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน และพัฒนาโครงข่ายไฟเบอร์ในประเทศไทยโดยรวม ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดทอนความซ้ำซ้อนของการลากสายไฟเบอร์โดยไม่จำเป็นช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม