กรมประมง รับเปิดนำเข้ากุ้งจริง แต่คุมเข้มมาตรการตรวจโรค

กรมประมง รับเปิดนำเข้ากุ้งจริง แต่คุมเข้มมาตรการตรวจโรค

กรมประมงยืนยัน!! คุมเข้มการอนุญาตและคงมาตรการตรวจโรค และสารตกค้างในสินค้ากุ้งทะเลนำเข้า พร้อมเคียงข้างเกษตรกรร่วมกันพลิกฟื้นกุ้งไทยสู่ความยั่งยืน

         นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามบทความที่ นายปฏิภาณ กิจสุนทร นักวิชาการอิสระ ในประเด็นที่กรมประมงอนุญาตให้ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปสามารถนำเข้ากุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งอาจนำโรคและสารตกค้างเข้ามาปนเปื้อนกับสินค้ากุ้งทะเลภายในประเทศ รวมถึงทำให้ราคากุ้งตกต่ำเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา โดยเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวเพียงลำพัง นั้น

กรมประมง รับเปิดนำเข้ากุ้งจริง แต่คุมเข้มมาตรการตรวจโรค

 

กรมประมง รับเปิดนำเข้ากุ้งจริง แต่คุมเข้มมาตรการตรวจโรค

                กรณีดังกล่าว แม้ว่ากรมประมงจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปสามารถนำเข้ากุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดียได้แล้วเป็นเรื่องจริง แต่บทความดังกล่าวยังมีความคลาดเคลื่อนในหลายประเด็น จึงขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล อย่าตื่นตระหนก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า หลังประสบปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน (AHPND/EMS) ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยลดลงอย่างมาก

 

ปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 1ใน 3  ของผลผลิตสูงสุดที่ประเทศไทยเคยผลิตได้ ทำให้ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง จึงได้ร่วมกับตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลผ่านกลไกของคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) หารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้และยังคงมีศักยภาพทางการแข่งขันในระดับโลก

                     ซึ่งผลสรุปทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันในการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากต่างประเทศเฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อย ภายใต้เงื่อนไขที่ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจะรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกรโดยประกันราคาซื้อ – ขายขั้นต่ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งทะเลภายในประเทศไว้

                  ซึ่งเริ่มดำเนินการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ส่งผลให้ราคากุ้งทะเลภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ผลการดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไม่ประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

         อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้มีการดำเนินการอย่างรัดกุม ก่อนการอนุญาตให้นำเข้ากุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย โดยได้ประเมินระบบการควบคุมโรคของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมีข้อกำหนดในการพิจารณาหลายมิติครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลแช่แข็งสำหรับการส่งออกมายังประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคข้ามพรมแดนผ่านการนำเข้ากุ้งทะเลแช่แข็งอย่างเด็ดขาด

ซึ่งประเทศต้นทางที่ไทยจะนำเข้าสินค้ากุ้งทะเลนั้น จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมประมงกำหนดอย่างเข้มงวด ได้แก่ ทุกรุ่นสินค้ากุ้งทะเลที่นำเข้าจะต้องมีหนังสือรับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์ (Health Certificate) ที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่ทางกฎหมาย (Competent Authority: CA) ของประเทศต้นทาง และเมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย จะต้องถูกดำเนินการควบคุมโรคภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยสินค้าจะต้องเข้าสู่ระบบการกักกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมประมงดำเนินการสุ่มตรวจเชื้อก่อโรคกุ้งทะเลที่สำคัญ ได้แก่

โรคไอเอ็มเอ็น (IMN) โรคตัวแดงดวงขาว (WSD) โรคหัวเหลือง (YHD) โรคทีเอส (TS) โรคไอเอชเอชเอ็น (IHHN) โรคเอ็นเอชพี (NHP) และโรคดีไอวี วัน (DIV 1) ตามบัญชีรายชื่อของ OIE รวมทั้งมีการสุ่มตรวจสารตกค้าง เช่น Chloramphenicol Nitrofurans และ Malachite green ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยการสุ่มตัวอย่างทั้งหมดสอดคล้องตามหลักการสากลตามที่ OIE และ CODEX กำหนดไว้ และหากมีการตรวจพบเชื้อก่อโรคและ/หรือตรวจพบสารตกค้างเกินเกณฑ์มาตรฐาน สินค้าเหล่านั้นจะถูกทำลายหรือตีกลับประเทศต้นทางทันที

       " จากมาตรการของกรมประมงข้างต้น จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลได้มั่นใจว่า สินค้ากุ้งทะเลที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในประเทศไทยได้นั้น จะต้องมาจากแหล่งผลิตต้นทางที่ได้มาตรฐานภายใต้ระบบควบคุมและตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่มีประสิทธิภาพ " 

 

          โดยนอกจากจะถูกตรวจสอบและรับรองจากประเทศต้นทางแล้ว ยังมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดอีกครั้งเมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้วสินค้าเหล่านั้นจะถูกนำไปแปรรูปเพื่อการส่งออกเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเรื่องราคาที่ห้องเย็นรับซื้อผลผลิตกุ้งภายในประเทศที่ไม่ต่ำกว่าราคาต้นทุน รวมทั้งปริมาณที่นำเข้าต้องผ่านการเห็นชอบจาก Shrimp Board ก่อน

ดังนั้น จึงขอให้เชื่อมั่นว่า กรมประมงไม่เคยทอดทิ้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล แต่ยังผสานมือที่แน่นกว่าเดิมภายใต้การดำเนินงานของ Shrimp Board และคณะทำงานแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเล ระดับพื้นที่ ครอบคลุม 35 จังหวัดที่มีการเลี้ยงกุ้งทะเล เพื่อดำเนินการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลไทยให้กลับมาเป็นผู้นำได้ดังเดิม และเมื่อถึงเวลาดังกล่าว ประเทศไทยจะไม่ต้องนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศอีกต่อไป