ปตท. ย้ำ จะขับเคลื่อนประเทศสู่เป้า Net Zero ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ - แผนชัดเจน
ปตท. ย้ำ จะขับเคลื่อนประเทศสู่เป้า Net Zero ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน แนะองค์กรใหญ่ควรกำหนดเป้าหมายให้เร็วกว่าที่ประเทศตั้งเป้า ชูแนวคิด 3P ขับเคลื่อนองค์กรก้าวสู่พลังงานสะอาด ชี้ การกำหนดเป้าหมายต้องมีแผนชัดเจน ช้าไปก็ไม่ได้ เร็วไปต้องคิดให้ดี
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวในงานการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference: TCAC) จัดโดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวข้อ เสริมพลังไทยสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แนวคิด "จากวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติสร้างพลังงานแห่งอนาคตมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero" ว่า องค์กรทั้งระดับประเทศและบริษัท เริ่มกำหนดวิสัยทัศน์ และกำหนดเป้าหมาย Net Zero เป็นที่เรียบร้อย
ทั้งนี้ ปตท. ได้ปรับวิสัยทัศน์เพื่อสอดรับกับการดำเนินงานในอนาคตว่า “Powering Life with Future Energy and Beyond” หรือ ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต โดยหากสังเกตในเรื่องของ Powering Lift เราขับเคลื่อนทุกภาคชีวิตเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ส่วน Future Energy สะท้อนถึงแนวทางในการทำธุรกิจของ ปตท. ในอนาคตว่าจะไปที่ฟิวเจอร์หรือพลังงานแห่งอนาคตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานทดแทน แบตเตอรี่ หรือ EV Value Chain และไฮโดรเจน เป็นต้น
“ดังนั้น Future Energy จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ ปตท. ก้าวเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ได้เร็วขึ้น เพราะการกำหนดวิสัยทัศน์ดังกล่าว ได้บ่งบอกเห็นว่าองค์กรของเราปรับตั้งแต่ต้นทาง”
นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สู่เป้าหมาย Net Zero นั้น กลุ่ม ปตท. ได้ตั้งคณะทำงานด้าน “Net Zero” โดยมีจุดยืนที่ประกาศร่วมกันทั้งเครือ ปตท. ซึ่งรวมบริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero ให้เร็วกว่าที่ประเทศไทย ประกาศไว้ในปี 2065 เพื่อที่จะช่วยประเทศไทย หากองค์กรใหญ่ๆ ประกาศ และมุ่งสู่เป้าหมายได้เร็วกว่าองค์กรเล็กๆ บางองค์กรที่ทำไม่ได้ จะเป็นการดึงค่าเฉลี่ยรวมของประเทศให้ได้ตามเป้าหมาย และก้าวไปด้วยกัน ดังนั้นองค์กรใหญ่ๆ ในประเทศไทยควรที่จะประกาศเป้าหมายให้เร็วกว่าปี 2065 ถือเป็นจุดยืนของกลุ่ม ปตท.
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ปตท.ได้กำหนดการดำเนินงานผ่านกลยุทธ์ 3P คือ
1. Pursuit of Lower Emissions คือ ลดการปลดปล่อยคาร์บอน หรือการสร้างธุรกิจในอนาคตต้องลดลงให้มากที่สุด เพราะเหลือศูนย์อาจจะเป็นไปไม่ได้ กลุ่ม ปตท. ตั้งเป้าว่าจะต้องลดการใช้พลังงานปีละ 0.5% พร้อมนำพลังงานทดแทนมาใช้เป็นพลังงานหลักในธุรกิจตั้งเป้าลดคาร์บอน 1 ล้านตันคาร์บอนในปี 2030 ส่วนในเรื่องของพลังงานสะอาดคือ ไฮโดรเจน โดยโปรเจกต์เป็นรูปธรรมแล้ว ซึ่งจะนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ควบคู่กับการใช้ก๊าซธรรมชาติ
นอกจากนี้ ในการใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน (CCS) ที่ปล่อยมาจากหน่วยผลิตกลับมาเก็บไว้ใต้ดิน โดยแหล่งที่ดีที่สุดคือ แหล่งก๊าซ และแหล่งน้ำมัน เพื่อไม่ออกมาทำลายโลก ซึ่งที่ทำแล้ว คือ แหล่งอาทิตย์ เบื้องต้นมี capacity ในการเก็บ 1 ล้านตันคาร์บอน ส่วนการนำคาร์บอนที่เก็บไว้มา ใช้ประโยชน์ (CCUS) ขณะนี้มี 4 โครงการหลักที่จะลงทุน เพราะคาร์บอนสามารถเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสร้างประโยชน์ต่างๆ โดย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการหลัก
“เมื่อมองไปข้างหน้าศักยภาพแหล่งต่างๆ ในประเทศไทยสามารถเก็บได้ถึง 40 ล้านตันต่อปี กลุ่ม ปตท.ยังมีโปรเจกต์ที่กำลังศึกษาอยู่หลายโปรเจกต์ อาทิ โซเดียมคาร์บอเนต โปรตีนสำหรับสัตว์ ฯลฯ โดยสิ่งเหล่านี้เมื่อเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจจะสามารถดึงตัวคาร์บอนที่ปล่อยออกมาได้หลายแสนตันต่อปี”
2. Portfolio transformation กลุ่ม ปตท.ได้ปรับกระบวนการทำธุรกิจ โดยตั้งเป้าลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล 3 ตัว คือถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ โดยถ่านหินจะลดลงมากที่สุด ล่าสุดได้ขายธุรกิจถ่านหินแล้ว รองลงมาคือน้ำมันซึ่งกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นจะไม่มีการขยายการลงทุนเพิ่มเติม ส่วนก๊าซธรรมชาติ ถือว่า เป็นพลังงานช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนที่จะกระโดดไปเป็นพลังงานทดแทน ยังต้องมีการขยายตัวอยู่เพราะเกี่ยวข้องถึงความมั่นคง โดยตั้งเป้าจะทำธุรกิจค้าขายก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้นตั้งเป้า 9 ล้านตันต่อปีในปี 2030
ส่วนพลังงานทดแทน จากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ โดย ปตท.จะลงทุนในพลังงานทดแทนเข้ามาในพอร์ตธุรกิจไฟฟ้ามากขึ้น โดยตั้งเป้าภายในปี 2030 มีพลังงานทดแทนเข้ามาในพอร์ตกว่า 12,000 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าลด Green House Gas 15% ในปี 2020 ส่วนเงินลงทุนจากปัจจุบันถึงปี 2030 กลุ่ม ปตท.จะใส่เงินลงทุนเข้าไปในธุรกิจใหม่ 30% ของเงินลงทุน ปตท. ทั้งหมด เพื่อปรับพอร์ตไปสู่พลังงานที่สะอาด
3. Partnership With Nature and Society เข้าไปเป็นหุ้นส่วนกับ partner ควบคู่กับการทำธุรกิจ ปตท. ที่ผ่านมา ปตท.ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 1 ล้านไร่ โดย ปตท.ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเข้าไปประเมินตัวเลข พบว่าป่า 1 ล้านไร่ 54 จังหวัด สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2.1 ล้านตันต่อปี และปล่อยออกซิเจนสู่บรรยากาศ 2 ล้านตันต่อปี สร้างมูลค่าที่ประชาชนที่ได้จากป่าที่ปลูกสูงถึง 280 ล้านบาทต่อปี
“ปตท.จะปลูกเพิ่มอีก 2 ล้านไร่ จะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 4 ล้านตันต่อปี ดังนั้น การปลูกป่าจะช่วยให้ ปตท.มุ่งสู่เป้า Net Zero ก่อนที่ประเทศประกาศไว้ ถือเป็นแอคชั่นที่ ปตท.จะลงไปทำ สร้างความมั่นใจได้กลุ่ม ปตท.ที่จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และเป้าหมาย Net Zero ปี 2065 ของประเทศได้”
นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับความท้าทายที่อยู่เบื้องหน้าคือ เมื่อประกาศเป้าหมายแล้วต้องมีแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจน อีกความท้าทายคือ ทุกภาคส่วนต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ทั้งภาคประชาชน เอกชน และรัฐบาล เทคโนโลยี กฎระเบียบ รวมถึงสถาบันการศึกษา จะขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์