ออกจากงานประจำ...ต้องยื่นภาษี! ทำอย่างไรเมื่อรายได้เปลี่ยนไป

ออกจากงานประจำ...ต้องยื่นภาษี! ทำอย่างไรเมื่อรายได้เปลี่ยนไป

เมื่อมนุษย์เงินเดือน เคยเป็น "พนักงานประจำ" แต่จำต้อง "ลาออกระหว่างปี" และไม่ว่าจะว่างงานนานหลายเดือน เปลี่ยนงานใหม่ หรือเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในรอบปีภาษีเดียวกัน ต่างมีเงื่อนไขที่ต้องรู้ก่อนยื่นภาษีประจำปี เพราะการลาออกแต่รูปแบบ "ยื่นภาษี" ไม่เหมือนกัน

ผู้ใดมีรายได้ย่อมมีหน้าที่เสียภาษี เมื่อรายได้นั้นถึงเกณฑ์กำหนด ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่าผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 120,000 บาท ต้องยื่นภาษีประจำปี และหากมีเงินได้สุทธิจำนวนตั้งแต่ 150,000 บาทขึ้นไป ต้องชำระภาษีเมื่อคำนวณแล้วพบว่ามียอดภาษีที่ต้องชำระ

แต่ในกรณีที่เป็นพนักงานประจำมีการ "ลาออกระหว่างปี" ว่างงานนานหลายเดือน เปลี่ยนงานใหม่ หรือเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในรอบปีภาษีเดียวกัน เมื่อถึงเวลาต้องยื่นภาษีประจำปี หลายรายเลือกที่จะไม่ยื่นภาษี เพราะเข้าใจผิดว่ารายได้ของตนเองไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี หรือยื่นภาษีผิดพลาดเนื่องจากรายได้ที่ได้รับเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ทำให้ข้อมูลไม่ตรงตามความเป็นจริงที่ทางสรรพากรมี ซึ่งอาจส่งผลให้ถูกตรวจสอบย้อนหลังได้

ออกจากงานประจำ...ต้องยื่นภาษี! ทำอย่างไรเมื่อรายได้เปลี่ยนไป

ดังนั้น หากใครที่เพิ่งลาออกจากงานประจำและยังว่างงานอยู่ หรือได้งานใหม่แล้ว ไม่เว้นแม้แต่เปลี่ยนรูปแบบการทำงานมีรายได้จากอาชีพอื่นๆ แทน จะต้องนำรายได้ทุกอย่างตลอดทั้งปีภาษีนั้นมายื่นภาษีด้วย โดยสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้จากบรรทัดต่อจากนี้ไป

ลาออกจากงานประจำ แยกตามอายุการทำงาน

พนักงานประจำที่ "ลาออกโดยสมัครใจ" ในการยื่นภาษีประจำปีหากแบ่งตามอายุงาน สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ ซึ่งหากมีรายรับต่างๆ ดังต่อไปนี้ จะต้องนำมายื่นภาษีด้วย

1.ลาออกโดยสมัครใจ มีอายุงานไม่ถึง 5 ปี

- เงินเดือนที่ได้ระหว่างปี ซึ่งจะต้องได้หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ทวิ 50) นำมายื่นภาษีโดยถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1)

- เงินชดเชยที่ได้รับตามอายุงาน คำนวณในแบบแสดงรายการ รวมกับเงินเดือนตามมาตรา 40(1)

- เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอายุไม่ถึง 55 ปี คำนวณในแบบแสดงรายการ รวมกับเงินเดือนตามมาตรา 40(1)

- เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอายุตั้งแต่ 55 ปีเป็นต้นไป คำนวณในแบบแสดงรายการ รวมกับเงินเดือนมาตรา 40(1)

2.ลาออกโดยสมัครใจ มีอายุงานเกิน 5 ปี

- เงินเดือนที่ได้ระหว่างปี (ทวิ 50) ยื่นภาษีโดยถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1)

- เงินชดเชยที่ได้รับตามอายุงาน คำนวณในใบแนบเหตุออกจากงาน

- เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอายุตั้งแต่ 55 ปีเป็นต้นไป (ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนำมาคำนวณ หากมีอายุในกองทุนเกินกว่า 5 ปี)

ลาออกจากงานประจำ ว่างงานระหว่างปี

เมื่อพนักงานประจำลาออกจากงานเก่า อย่าลืมขอหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ทวิ 50) และหากระหว่างปีภาษีนั้นยังว่างงานอยู่ เมื่อถึงสิ้นปีจะต้องนำรายได้ส่วนที่เป็นเงินเดือน ที่ได้จากที่ทำงานเก่ามายื่นภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(1) อย่างเช่น ทำงานในปีภาษีนั้น 5 เดือน ก็นำเพียงเงินเดือน 5 เดือนนั้นยื่นภาษี แต่ถ้าคำนวณแล้วรายได้ 5 เดือนนี้ไม่ถึง 120,000 บาท ก็ไม่จำเป็นต้องยื่นภาษี

ทั้งนี้ หากมีรายรับจากที่ทำงานเก่าเป็นเงินผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งหากตัดสินใจถอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาด้วย จะต้องนำเงินส่วนที่เป็นผลประโยชน์จากเงินสะสม เงินสมทบนายจ้าง หรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินสมทบนายจ้าง มาคำนวณภาษีร่วมกับเงินเดือนที่ได้รับระหว่างปีภาษี เพื่อยื่นภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(1) เช่นกัน

ยกเว้นผู้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปี และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เงินที่ถอนออกมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษี

ลาออกจากงานประจำที่เก่า และได้ทำงานที่ใหม่

สำหรับพนักงานที่ลาออกจากที่ทำงานเก่า แล้วได้ที่ทำงานใหม่ จะต้องขอหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ทวิ 50) จากบริษัทเก่ามาด้วย แล้วนำรายได้จากที่เดิมมารวมกับที่ใหม่ยื่นภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(1) ได้ตามปกติ

ลาออกจากงานประจำที่เก่า แล้วมีรายได้จากอาชีพอื่นแทน

กรณีที่ลาออกจากงานประจำระหว่างปี เช่นทำได้ 5 เดือนแล้วลาออกมาทำฟรีแลนซ์ ค้าขาย หรือมีรายรับจากหลายช่องทางที่ไม่ใช่เงินเดือนประจำ ให้นำรายได้จากที่เก่า (ทวิ 50) และรายรับอื่นๆ ยื่นภาษีแยกตามเงินได้พึงประเมิน โดยแบ่งเป็น 8 ประเภท ดังนี้

- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 (40(1)) ได้แก่ เงินเดือน

- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 (40(2)) ได้แก่ เงินที่ได้พิเศษจากงานที่ทำ เช่น ค่านายหน้า ฟรีแลนซ์ บำเหน็จ ฯลฯ

- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 (40(3)) ได้แก่ ค่า Goodwill ค่าลิขสิทธิ์ หรือเงินที่ได้รับจากพินัยกรรม นิติกรรมต่างๆ

- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 (40(4)) ได้แก่ เงินปันผล ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น หรือพันธบัตร เป็นต้น

- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 (40(5)) ได้แก่ เงินที่ได้จากค่าเช่า เช่น บ้าน คอนโด

- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 (40(6)) ได้แก่ เงินที่ได้จาก 6 วิชาชีพอิสระ ประกอบด้วย โรศิลปะ วิศวกร ประณีตศิลป์ สถาปนิก การบัญชี ทนายความ

- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 (40(7)) ได้แก่ เงินที่ได้จากการรับเหมาก่อสร้าง

- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 (40(8)) ได้แก่ เงินจากการประกอบกิจการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากประเภทที่ 1 - 7 เช่น การเกษตร การค้าขายสินค้า ขายออนไลน์ การขายอสังหาริมทรัพย์

หลังจากนั้นให้นำรายได้ทั้งหมดแยกตามประเภทที่ได้รับเงิน มายื่นและคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เลย

สรุป

อย่างไรก็ตามผู้มีรายได้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อลาออกจากงานประจำต้องยื่นภาษีด้วย หากมีรายรับระหว่างปีภาษีนั้นรวมทุกช่องทางถึง 120,000 บาท และจะต้องเสียภาษีหากเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาทขึ้นไป

-----------------------------------
Source : 
Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่