ธุรกิจรูปแบบ “ESG” สู่ความยั่งยืนที่มีมูลค่า
ที่ผ่านมาธุรกิจมักนำคำว่า “ยั่งยืน” มาต่อท้ายเป้าหมายองค์กร กลายเป็นวลียอดนิยมที่ใช้เรียกความเชื่อมั่นและซ่อนความไม่มั่นคงไว้ใต้พรม แต่หลายคนรวมถึงคนทำธุรกิจไม่รู้ว่า “ยั่งยืน” หน้าตาเป็นอย่างไร?
และความสงสัยนี้ก็มีมากขึ้นหลังจากที่เราเห็นข่าวเกี่ยวกับธุรกิจเล็กใหญ่ที่สร้างปัญหาให้สังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งการทุจริตคอร์รัปชัน สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม น้ำมันรั่วในทะเล ฯลฯ สุดท้ายแล้วคำว่า “ยั่งยืน” แบบปลอมๆ กลับมาเป็นจุดอ่อนที่สังคมใช้โจมตีธุรกิจ เกิดต้นทุนที่ต้องแก้ปัญหา และเยียวยา สุดท้ายก็กระทบกับ “บรรทัดสุดท้าย” ของงบการเงินบริษัท
ผลลัพธ์ของความหายนะจากโควิด -19 ที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนว่าวันนึงระบบเศรษฐกิจถูกแช่แข็ง ห้างปิด ร้านอาหารปิด คนตกงาน หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ยิ่งกว่านั้น สงครามไซเบอร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศก็กำลังจะมาทับถมให้ธุรกิจเปราะบางและเขย่าความมั่นคงของผลตอบแทนในโลกการลงทุน
ธุรกิจจึงถูกกดดันให้เรียนรู้คำว่า “ยั่งยืน” อย่างลึกซึ้งและไม่ฉาบฉวย มากกว่าการบริจาคแบบเงินหมดก็จบกัน หรือการเขียนสมุดความดีในรายงานประจำปีแบบจับต้องอิมแพคไม่ได้ ขณะที่ผู้ลงทุน โดยเฉพาะคน (1)Gen Z ที่มีอยู่เกือบ 1 ใน 3 ของประชากรโลก พวกเขากำลังเรียนรู้ว่าธุรกิจที่เก่งแต่ทำกำไร ไม่สนใจคนอื่น อาจทำให้การสร้างผลตอบแทนถึงทางตันอย่างไร้อนาคต
ลองคิดดูว่าเมื่อคนกลุ่มนี้ก้าวมาเป็นกำลังหลักของประเทศ จะเปลี่ยนแปลงอนาคตการลงทุนที่เติมคำว่า “ยั่งยืน” ให้เติบโตขนาดไหน? ดังนั้นการดูแต่ข้อมูลในบรรทัดสุดท้ายของงบการเงิน อาจไม่เพียงพอต่อการตัดสินธุรกิจ เสียงจากตลาดทุนจึงตะโกนให้ธุรกิจเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ หรือ “ESG” ที่จับต้องได้ วัดผลได้ และสัมพันธ์กับต้นทุนธุรกิจ เช่น ค่าตอบแทนกรรมการต่อรายได้บริษัท อัตราการเกิดอุบัติเหตุต่อชั่วโมงการทำงาน การลดใช้น้ำไฟเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายของบริษัท ข้อมูลเหล่านี้ล้วนพิสูจน์คุณภาพธุรกิจและคำว่า “ยั่งยืน” ที่เป็นรูปธรรม วันนี้จึงหมดยุคของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบจิตอาสาหรือรณรงค์ประหยัดน้ำไฟที่ไม่เห็นผลลัพธ์
ESG ยังเป็นปัจจัยที่ใช้ดูความเสี่ยงของธุรกิจที่จะลงทุนอย่างระแวดระวัง เพื่อประเมินความสามารถในการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ธุรกิจไหนปรับตัวได้เร็วกว่า ผู้ลงทุนก็ไว้ใจมากกว่า หรือบางธุรกิจเห็นโอกาสในวิกฤติก็เอาไปสร้างนวัตกรรมที่เหนือกว่าคู่แข่ง
สำหรับภาคตลาดทุนก็เกิดธีมการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ทั้งธุรกิจพลังงานสะอาด ธุรกิจ EV หรือการดันให้กิจการเล็กๆ แต่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงฐานทุนอย่างเท่าเทียม เกิดเม็ดเงินลงทุนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตวันโตคืน (2)งานวิจัยของ Harvard Business Review ยังย้ำว่าจะมีการหอบเงินลงทุนเข้าสู่สินทรัพย์ที่มีการดำเนินงานด้าน ESG กว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025 ขณะเดียวกันความรุ่งโรจน์ของ ESG ยังดำเนินต่อไป ด้วยแรงขับเคลื่อนจากเป้าหมายโลกทั้ง SDG และ COP26 ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงกติกาการค้าและหน้าตาเศรษฐกิจใหม่ไปอย่างสิ้นเชิง ใครปรับตัวไม่ทันก็อาจบ่นว่าโลกอยู่ยากขึ้นทุกวัน
ESG จึงไม่ใช่นิยามของผู้เสียสละผลตอบแทน เพื่อทำให้ดูเป็น “คนดี” อย่างที่หลายคนเข้าใจ และไม่ใช่เรื่องยากที่จะลงมือทำทันที บางทีสิ่งที่ธุรกิจกำลังทำอยู่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน ESG อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องหันกลับมาถามตัวเองว่าทำพอหรือยัง? ทำได้อีกไหม? เพราะ “ESG ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด”...ในฉบับหน้าผมจะมาขยายความของประโยชน์ทางเศรษฐกิจจาก ESG ที่ธุรกิจต้องรู้ อาจทำให้ท่านผู้อ่านเห็นมุมมองที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรของท่านได้ครับ
หมายเหตุ : (1)คนที่เกิดระหว่างปี 2540-2555 ,(2)10 ESG Questions Companies Need to Answer (2022): Harvard Business Review