‘อมรเทพ’ CIMBT คาด กนง. เสียงแตก มติไม่เป็นเอกฉันท์ ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%
อมรเทพ CIMBT ชี้ กนง.เสียงแตก ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จับตา การส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบต่อเนื่อง ที่ชัดเจน รวดเร็ว และขึ้นแรง
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เห็นสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายชัดเจน จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยหลังเปิดเมือง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ช่วยสนับสนุนธุรกิจภาคบริการ
อีกทั้งภาคการส่งออกที่เติบโตต่อเนื่องช่วยสนับสนุนภาคการผลิต
อย่างไรก็ดี ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งแรง ต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ เพิ่มสูง ส่งผลให้การใช้จ่ายของครัวเรือนเติบโตช้าและกระจุกตัวในกลุ่มรายได้กลาง-บน และกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวและส่งออก แต่การท่องเที่ยวกระจุกตัวในจังหวัดท่องเที่ยวเพียงไม่กี่แห่ง
ส่วนกลุ่มภาคเกษตรยังเผชิญปัญหา ธุรกิจขนาดกลาง และเล็กยังมีปัญหาหนี้สูง รายได้โตไม่ทันรายจ่าย ผลจากปัญหาเงินเฟ้อพุ่งแรง จึงเห็นสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 สิงหาคม 2565
คำถามสำคัญตอนนี้ หากขึ้นดอกเบี้ยช้าหรือไม่แรงพอ จะเกิดอะไรขึ้น หาก กนง.รอบนี้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดไว้ที่ 0.25% ไปสู่ระดับ 0.75% ต่อปี เป็นระดับที่รับรู้ของตลาดเงิน และตลาดทุนอยู่แล้ว
แต่ที่ต้องจับตามองต่อ เป็นการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบต่อเนื่อง ที่ชัดเจน รวดเร็ว และขึ้นแรง เนื่องจากรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนี้ไทยตามหลังสหรัฐ และประเทศอื่นมามากแล้ว และหากปรับขึ้นเพียง 0.25% และไม่ได้มีการส่งสัญญาณใดๆ หรือให้น้ำหนักกับการคงดอกเบี้ยต่ำเพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Dovish) มากเกินไป อาจจะได้เห็นสิ่งต่อไปนี้
- เงินเฟ้อคาดการณ์สูง ราคาสินค้าอาจขยับขึ้นต่อเนื่องในอนาคต หากไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านเสถียรภาพราคาได้ อาจเห็นการปรับขึ้นราคาสินค้าจากฝั่งอุปสงค์ที่มีการอั้นมานาน และทยอยปรับขึ้นต่อเนื่องทำให้เงินเฟ้อยังสูงในปีหน้า
- เงินไหลออกทำบาทอ่อนค่า จากการเทขายพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และบาทที่อ่อนอาจมีผลต่อต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มสูงทำให้เงินเฟ้อเร่งต่อเนื่อง แม้บาทอ่อนช่วยกลุ่มท่องเที่ยว และส่งออก แต่ความผันผวนที่สูงมีผลให้การบริหารทางบัญชีมีความลำบาก
- สภาพคล่องที่สูงแต่ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้คนอยากเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยงมากเกินไป หรือประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป จนอาจมีผลต่อความเสี่ยงด้านสถาบันการเงินในอนาคต
สามปัจจัยข้างต้นอาจเป็นเหตุผลให้ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% อย่างไรก็ดี หาก กนง. ขึ้นดอกเบี้ยแรงรอบแรกนี้ถึง 0.5% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ระดับ 1.0% ต่อปี ก็อาจไม่เหนือความคาดหมายของตลาด แต่ให้น้ำหนักน้อย
และน่าจะเกิดจากความล่าช้าของไทยในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงก่อนหน้า และการประชุม กนง. ที่เว้นระยะห่างไว้มากกว่าเดิม ทำให้พอจะปรับขึ้นก็ต้องปรับแรงขึ้น อีกทั้ง คณะกรรมการเสียงข้างน้อยที่เสนอให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบก่อนอีก 0.25% อาจเสนอให้ปรับขึ้น 0.50% ในรอบนี้ไปเลย
แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงที่ 0.5% ในครั้งเดียวก็ไม่น่าทำให้ตลาดเงิน และตลาดทุนผันผวน แต่อาจต้องพิจารณาการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในปลายปีนี้ถึงปีหน้า เพราะเศรษฐกิจไทยยังเติบโตช้า และระดับเศรษฐกิจไทยยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ไม่เหมือนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และประเทศอื่นที่ฟื้นได้ก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว
“ผมฟันธง กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% แต่เสียงแตก มติไม่เป็นเอกฉันท์ โดย กนง. เสียงข้างมาก น่าจะให้น้ำหนักความเสี่ยงในการฟื้นตัว และการกระจายตัวของเศรษฐกิจไทย
จึงปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เท่านั้น และน่าจะมีเสียงข้างน้อย 3 เสียง เช่นเดิมที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.5% ไม่ว่าจะทางไหนดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นนี้ จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่มีหนี้สูง และมีการฟื้นตัวช้า
โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้มาก และยังมีปัญหารายได้โตไม่ทันรายจ่าย เช่น กลุ่มธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ การสื่อสาร และโทรคมนาคม ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจขนส่ง การก่อสร้างและขายวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจสำนักงานให้เช่า
ยกเว้นว่ากลุ่มดังกล่าว อยู่ในพื้นที่หรือมีลูกค้ากลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว การส่งออก และการฟื้นตัวของกำลังซื้อระดับกลางถึงบนก็จะได้รับผลกระทบน้อย เพราะปัญหาเศรษฐกิจไทยรอบนี้มาจากการฟื้นตัวที่ช้าของกำลังซื้อระดับล่าง โดยเฉพาะในช่วงที่เงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับสูง” ดร.อมรเทพ กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์