ส่อง 3 บิ๊กคอร์ป ยูนิลีเวอร์-เนสท์เล่-พีแอนด์จี 7 เดือน ยังใช้งบโฆษณาลดลง
2 ประเภทสื่อ ที่ยังคว้าเงินโฆษณาสร้างการเติบโตไม่ได้ในช่วง 7 เดือน คือทีวี-สื่อสิ่งพิมพ์ ขณะที่หมวดอื่นสร้างการเติบโตถ้วนหน้า สื่อในโรงภาพยนตร์เห็นการฟื้นตัวแรง เติบโตสูงถึง 127.91% ส่วนองค์กรยักษ์ใหญ่ยังรัดเข็มขัดต่อเนื่อง ภาพรวมใช้จ่ายเงินโฆษณาลดลงถ้วนหน้า
นีลเส็น เผยสถานการณ์ใช้จ่ายงบโฆษณาของแบรนด์ต่างๆ โดยองค์กรธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ยังคงเบรกการใช้เงินต่อเนื่อง แม้บรรดาบิ๊กคอร์ปที่ใช้จ่ายเงินโฆษณาสูงสุดยังเป็นหน้าเดิม แต่ท่ามกลางต้นทุนวัตถุดิบพุ่งแรง การขยับราคาสินค้าลำบาก กำลังซื้อผู้บริโภคเปราะบาง และอีกหลายปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงต่อการค้าขาย ทำให้การรัดเข็มขัดยังจำเป็น
ทั้งนี้ 3 ยักษ์ใหญ่ที่ชะลอใช้จ่ายเงินโฆษณา ได้แก่ ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง มูลค่า 2,150 ล้านบาท ลดลง 31% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามด้วย เนสท์เล่(ไทย) 1,678 ล้านบาท ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล(พีแอนด์จี) 1,304 ล้านบาท ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่บริษัทอื่นๆที่ทำตลาดมีการใช้เงินติด Top 5 ตามมาด้วย แมส มาร์เก็ตติ้ง 1,156 ล้านบาท โมโนช้อปปิ้ง 1,018 ล้านบาท และโคโคา-โคล่า(ประเทศไทย) 878 ล้านบาท เป็นต้น
ส่วนภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาดือนกรกฎาคมมีมูลค่า 10,076 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.05% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ รวม 7 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ค.65) อุตสาหกรรมโฆษณามีเม็ดเงินสะพัดมูลค่า 68,462 ล้านบาท เติบโต 9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสื่อทีวียังคงเป็นสื่อที่มีสัดส่วนของการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดอยู่ที่ 54%
เจาะลึกประเภทสื่อในช่วง 7 เดือน มี 2 สื่อที่ยังติดลบ โดยทีวีครองเม็ดเงิน 37,061 ล้านบาท ลดลง 0.61% และสื่อสิ่งพิมพ์ 1,743 ล้านบาท ลดลง 4.02% ส่วนสื่ออื่นๆเติบโตเป็นบวกทั้งสิ้น ได้แก่ สื่ออินเตอร์เน็ต 15,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.44% สื่อโฆษณานอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 7,350 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.25% สื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ 4,148 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127.91% วิทยุ 1,884 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.24% และสื่อโฆษณาในห้าง 503 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.64%
สำหรับหมวดหมู่ที่ยังคงใช้จ่ายงบโฆษณาสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง ค้าปลีกและร้านอาหาร สื่อและการตลาด และยานยนต์ ทั้งนี้ กลุ่มที่ใช้เงินเติบโตเป็นบวก ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มมูลค่า 11,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% สื่อและการตลาด 3,589 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% การเงิน 2,406 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% และภาครัฐ 2,334 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59%
ส่วนกลุ่มที่ยังคงใช้เงินลดลงอยู่ในภาวะ “ติดลบ” ได้แก่ เครื่องใช้ส่วนบุคคลและเครื่องสำอางมูลค่า 8,519 ล้านบาท ลดลง 5% ยานยนต์ 3,371 ล้านบาท ลดลง 2% เวชภัณฑ์ยา 3,268 ล้านบาท ลดลง 2% สินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือน 2,316 ล้านบาท ลดลง 16% และการสื่อสาร โทรคมนาคม 1,796 ล้านบาท ลดลง 21% เป็นต้น