บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ
สำนักนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power 6 ด้าน ได้แก่ 1.อาหารไทย 2. สินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย 3.ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ 4.ธุรกิจ Wellness Medical Services (WMS) 5.แบรนด์ประเทศไทย และ 6.ผู้ประกอบการยุคใหม่
ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะผลักดัน Soft Power ให้เป็นปัจจัยใหม่ในการสร้างประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ส.ค.สำนักนายกรัฐมนตรี มีคำสั่ง ที่ 206/2565 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการฯ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการฯ มีอำนาจ หน้าที่กำหนดเป้าหมายและวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา Soft Power ส่งเสริมการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไปสู่นานาประเทศให้เกิดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจให้ได้อย่างแท้จริง
ตาม แผนการขับเคลื่อน Soft Power จำนวน 6 ด้าน ได้แก่ 1.อาหารไทย 2. สินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย 3.ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น ภาพยนตร์ เกม แอนิเมชัน 4.ธุรกิจ Wellness Medical Services (WMS) เช่น สมุนไพร สปา สุขภาพความงาม 5.แบรนด์ประเทศไทย และ 6.ผู้ประกอบการยุคใหม่ โดยจะบ่มเพาะผู้ประกอบการยุคใหม่ให้มี Mindset ด้าน Soft Power ปลูกฝังแนวคิดให้กับผู้ประกอบการและบุคลากรภาครัฐในการนำ Soft Power ไปปรับใช้ พัฒนาสินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย ผลักดันการพัฒนาสินค้าและบริการ โดยสอดแทรกความเป็นไทยควบคู่กับการยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการ
รวมทั้งขยายตลาดสินค้าอาหารไทย อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์และธุรกิจบริการ WMS โดยจะส่งเสริมการขายในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ประเทศไทย ผ่านการรับรองสินค้าและบริการเป็นเอกลักษณ์และได้มาตรฐาน ซึ่งประเทศไทยมีจุดเด่นด้านการให้บริการด้าน wellness ดูแลสุขภาพกายและใจ การสาธารณสุขอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อมี
โควิด-19 ไทยยิ่งโดดเด่น ส่วนอาหารของไทย มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และศิลปะในการประกอบอาหารแต่ละเมนู ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ หากนำจุดเด่นในทุกๆ ด้าน มานำเสนอรวมกันเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เช่น จัดทริปทำอาหารพร้อมท่องเที่ยว เรียนรู้ขบวนการทำอาหารยอดนิยมแต่ละภาค ทำความรู้จักสมุนไพรแชมเปี้ยนของไทย เชื่อว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวสร้างรายได้เข้าประเทศได้มากขึ้น
นอกจากนี้หากสามารถทำความร่วมมือด้านการค้าผ่านซอฟต์พาวเวอร์กับประเทศที่มีชื่อเสียงด้านเมืองอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ อย่างเกาหลี ซึ่งปี 2564 มีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์จะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านส่งออก ที่ปี 2564 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 2,000 ล้านบาท และผลไม้มูลค่า 1,300 ล้านบาท เชื่อมโยงไปยัง สินค้าอื่น ๆ ว่ากันว่าคณะกรรมการ นโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power (บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์) มีภารกิจที่ต้องผลักดันโครงการต่างๆ ถึง 32 โครงการ หากสำเร็จจะมีมูลค่าการค้าถึง 3,632 ล้านบาทเลยทีเดียว