ดึงดูดคนเก่งต่างชาติ ต้องไม่ลืมสร้างคนใน
นโยบายดึงคนเก่งและนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในไทย มีเหตุผลรับฟังได้ แต่จะให้ดีต้องสร้างคนเก่งในประเทศอย่างเป็นระบบด้วย ในเมื่อเราสามารถดึงคนเก่งจากที่อื่นเข้ามาได้ แล้วทำไมเด็กเก่งๆ คนเก่งๆ ของเราจะไม่อยากไปอยู่ประเทศอื่นที่มีระบบการเมือง สังคม สภาพแวดล้อมตอบโจทย์พวกเขาบ้าง
คนเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างชาติ ต่อให้มีทรัพยากรแร่ธาตุ ป่าไม้ อุดมสมบูรณ์แค่ไหน เทคโนโลยีก้าวหน้าปานใดแต่ถ้าไม่มีคนก็ไม่สามารถนำทรัพยากรที่มีมาสร้างประโยชน์ได้
อย่างประเทศอิสราเอล ตอนสถาปนาประเทศในปี 1948 มีประชากร 800,000 คน แต่ภายในเวลาไม่นานแค่ 18 เดือน ประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านคนชาวยิวที่กระจายกันอยู่ทั่วทุกมุมโลกอพยพมายังอิสราเอล ปัจจุบัน หลายประเทศประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุ แค่คนของตนเองคงไม่เพียงพอต่อการพัฒนา ถึงคราวดึงคนเก่งจากที่อื่นเข้ามาทำงานหรือลงทุนในประเทศด้วย
ไทยเองก็มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. 2565 ล่าสุดมีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คนเป็นคณะกรรมการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติ แต่ละคนล้วนมีความรู้ความสามารถ และมีคอนเน็กชั่นที่ดีในระดับนานาชาติที่สามารถจะไปเจรจาและช่วยดึงดูดการเข้ามาลงทุนและการพำนักระยะยาวของต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทย
หันไปดูที่อื่นๆ กันบ้าง เมื่อวันพุธ (19 ต.ค.) จอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แถลงนโยบายครอบคลุมในทุกมิติและแน่นอนว่า มีนโยบายดึงคนเก่งมาฮ่องกงเหมือนกัน
โดยฮ่องกงจะอนุมัติวีซ่า 2 ปี ให้กับบุคคลที่มีรายได้อย่างน้อย 2.5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงในปีที่ผ่านมา รวมถึงคนที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับท็อป 100 ของโลก ประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 3 ปี คนเก่งชาวต่างชาติหากอยากมีถิ่นพำนักถาวรในฮ่องกงก็จะได้รับการยกเว้นค่าอากรในการซื้อที่พักอาศัยหลังแรกด้วย ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ชาวต่างชาติและชาวฮ่องกงเองอพยพออกไปถึง 200,000 คน จากปัจจัยการเมืองภายในหลายปัจจัย
ส่วนสิงคโปร์นายกรัฐมนตรีลี เซียนหลุง เคยกล่าวไว้ในงานแรลลีวันชาติเมื่อเดือน ส.ค. ย้ำถึงความจำเป็นเชิงยุทธศาสตร์ ที่สิงคโปร์ต้องเปิดสู่โลกกว้างและสร้าง “กลุ่มผู้มีความสามารถระดับโลก” พูดได้ไม่กี่วันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ออก Overseas Networks & Expertise Pass ฉบับใหม่มาดึงคนเก่งจากทุกภาคส่วนทันที
ที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ทุกประเทศอยากได้คนมีความสามารถจึงต้องงัดกลยุทธ์มาแข่งขันกัน อย่างไรก็ตาม อย่าลืมการผลิตคนเก่งในประเทศด้วย สมัยนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ทำให้คนหนุ่มสาวเห็นคุณค่าของการมีลูก นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะเทรนด์คนรุ่นใหม่ไม่อยากแต่งงาน ที่แต่งแล้วไม่อยากมีลูกเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ
แม้แต่ประเทศประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีนก็เป็นแบบนี้ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไทยเป็นไปในทำนองเดียวกัน ไม่ใช่เพราะพวกเขาเห็นแก่ตัว อยากสนุกไปวันๆ แต่ด้วยค่าครองชีพที่พุ่งสูง ต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรและการศึกษาไม่ใช่น้อยๆ ที่สำคัญที่สุดพวกเขาอาจมองว่า สังคมสมัยนี้ไม่ดีพอที่จะให้เด็กน้อยถือกำเนิดและเติบโต
กรณีประเทศไทย นโยบายดึงคนเก่งและนักลงทุนต่างชาติเข้ามามีเหตุผลรับฟังได้ แต่จะให้ดีต้องสร้างคนเก่งในประเทศอย่างเป็นระบบด้วย
อย่าลืมว่า ในเมื่อเราสามารถดึงคนเก่งจากที่อื่นเข้ามาได้ แล้วทำไมเด็กเก่งๆ คนเก่งๆ ของเราจะไม่อยากไปอยู่ประเทศอื่นที่มีระบบการเมือง สังคม สภาพแวดล้อมตอบโจทย์พวกเขาบ้าง หากไม่เตรียมป้องกันสมองไหลไว้แต่เนิ่นๆ ถึงเวลาอย่ามาตราหน้าว่า “ชังชาติ” ก็แล้วกัน!!