เกษตรกรไทยในกับดักหนี้ เมื่อกระดูกสันหลังชาติอ่อนแอ
รัฐจำเป็นต้องทบทวนนโยบายแก้หนี้ที่เน้นผลระยะสั้นอย่างนโยบายพักหนี้ เพราะงานวิจัยพบว่าก่อผลกระทบแง่ลบ ซ้ำเติมปัญหาหนี้ให้เกษตรกรระยะยาว ประการสำคัญต้องเร่งเพิ่มผลิตภาพให้เกษตรไทย เป็นวิธีเดียวในการยกระดับรายได้ และพาเกษตรกรออกจากกับดักหนี้อย่างยั่งยืน
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พึ่งเผยแพร่งานวิจัยชิ้นหนึ่งชื่อ “กับดักหนี้ กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก : นัยต่อการแก้หนี้ และการออกแบบระบบการเงินฐานรากเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” งานวิจัยดังกล่าวสำรวจพฤติกรรมการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไทยกว่า 6 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นหนึ่งปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทย วันนี้จะขอนำผลสำรวจมาเล่าสู่กันฟัง
ก่อนอื่นต้องบอกว่า งานสำรวจชิ้นนี้ คณะผู้วิจัยต้องใช้ความอุตสาหะอย่างมาก เพราะใช้ข้อมูลเยอะ หลากหลาย ครอบคลุมเกษตรกรหลายพื้นที่ ทั้งจากข้อมูลสินเชื่อในฐานข้อมูลเครดิตบูโร (ปี 2559–2565) ของเกษตรกรผู้กู้ทั่วประเทศระยะเวลากว่า 8 ปี ซึ่งครอบคลุมสินเชื่อในรมัผะบบเกือบทุกแหล่งของเกษตรกร 4.7 ล้านราย ร่วมกับข้อมูลสุ่มตัวอย่างเกษตรกร 1 ล้านรายจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ปี 2557–2564) ซึ่งเชื่อมข้อมูลการขึ้นทะเบียนการเพาะปลูก นอกจากนี้ยังใช้ข้อมูลสำรวจพฤติกรรมการเงินรายเดือนของครัวเรือนเกษตรกรตัวอย่าง 720 ครัวเรือนจาก 48 ตำบลทั่วประเทศ (ปี 2562–2563) และการสัมภาษณ์เชิงลึกเกษตรกร 30 ครัวเรือนจาก อ.บางขุด จ.ชัยนาท (ปี 2561 และปี 2563)
งานวิจัยดังกล่าว สามารถสรุปปัญหาเรื่องหนี้เกษตรกรไทยในปัจจุบันได้ 5 ข้อ
1.รายได้ครัวเรือนเกษตรกรไทยน้อย ไม่พอใช้จ่าย ไม่พอใช้หนี้ ส่วนใหญ่เผชิญปัญหาสภาพคล่อง โดยเกือบ 20% ของครัวเรือนมีรายได้ไม่พอรายจ่ายในทุกๆ เดือน
ผลสำรวจพบว่า 27% ของครัวเรือนมีรายได้รวมทั้งปีไม่พอรายจ่ายจำเป็น ขณะที่อีก 42% รายได้ที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายจำเป็น ไม่พอชำระหนี้ และไม่พอลงทุนในการทำเกษตรรอบต่อไป โดยรายได้ทั้งจากในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรมีความไม่แน่นอนสูง เกษตรกรยังเผชิญความเสี่ยงที่บริหารจัดการยาก เช่น ภัยพิบัติและราคาพืชผลที่ผันผวน เช่นครัวเรือนในภาคอีสานหรือหลายพื้นที่ในภาคกลางที่มีสถิติการเกิดภัยพิบัติสูง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตเกษตร
งานวิจัยพบว่า 82% ของครัวเรือนเกษตรกรมีปัญหาสภาพคล่องเฉลี่ยที่ 3 เดือนต่อปี โดยสภาพคล่องขึ้นกับพื้นที่ ลักษณะการเพาะปลูก และแหล่งที่มาของรายได้ครัวเรือนเกษตรกร ทั้งนี้ครัวเรือนที่เข้าถึงระบบชลประทาน มีรายได้จากการทำเกษตรมากกว่า/สม่ำเสมอกว่าครัวเรือนพื้นที่อื่น จะมีปัญหาการเงินน้อยกว่า เช่น ครัวเรือนเกษตรกรในภาคกลาง
โดยงานวิจัยระบุว่า ปัญหาสภาพคล่องอาจแยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ทุกเดือนรายได้ไม่พอรายจ่าย มีกว่า 18% 2) กลุ่มที่มีปัญหาสภาพคล่องระหว่างเดือน อยู่ที่ 67% และ 3) กลุ่มที่ทุกเดือนมีรายได้พอรายจ่าย มีเพียง 15%
ทั้งนี้ ในอนาคตปัญหาเหล่านี้ยิ่งเสี่ยงรุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น ตลอดจนความไม่แน่นอนต่างๆ ที่สูงขึ้น
2.ครัวเรือนเกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีหนี้ปริมาณมาก เสี่ยงติดกับดักหนี้ระยะยาว และมีพฤติกรรมหมุนหนี้
งานวิจัยพบว่า 90% ของครัวเรือนเกษตรกรไทยมีหนี้สิน แต่ละครัวเรือนมีหนี้เฉลี่ยที่ 450,000 บาท โดย 30% ของครัวเรือนมีหนี้คงค้างเกิน 500,000 บาท
นอกจากนี้ ครัวเรือนเกษตรกรยังมีแนวโน้มตกอยู่ในภาวะระดับหนี้ที่สูงถึง 70% ของมูลค่าสินทรัพย์ ซึ่ง ณ ระดับนี้ งานวิจัยระบุว่า เป็นระดับหนี้ที่ครัวเรือนทั้งกลุ่มเริ่มมีหนี้หรือมีหนี้มาก เสี่ยงติดอยู่ในระดับนี้ต่อเนื่องในระยะยาว หรือที่เรียกว่าติดใน “กับดักหนี้”
ทั้งนี้ พบว่า 40% ของครัวเรือนเกษตรกรมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้สูงเกิน 100% ขณะที่ 34% ของครัวเรือนมีสัดส่วนหนี้ต่อทรัพย์สินสูงเกิน 100% และ 17% ของครัวเรือนมีหนี้เกินศักยภาพในทั้งสองมิติ และที่สำคัญข้อมูลจากการสำรวจแสดงให้เห็นว่า กว่า 30% ของครัวเรือนมีพฤติกรรม “หมุนหนี้” คือกู้จากแหล่งหนึ่งไปชำระคืนอีกแหล่งวนไปเรื่อยๆ
โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การสะสมหนี้ของครัวเรือนเกษตรกรสูง หนี้เพิ่มขึ้นมาจากหนี้เดิมที่ยังชำระไม่ได้ และหนี้ใหม่ที่ก่อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกินศักยภาพเกษตรกรที่จะชำระหนี้ได้ และกำลังส่งผลต่อความสามารถในการกู้ใหม่ งานสำรวจพบว่า ปัจจุบัน 20% ของครัวเรือนมีหนี้สินเกิน 100% ของมูลค่าหลักประกันทีเดียว
3.ครัวเรือนเกษตรกรส่วนใหญ่ขาดความตระหนักรู้หรือความเข้าใจทางการเงิน เช่น การบริหารจัดการหนี้ ดอกเบี้ย การออม การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร
ผลสำรวจพบว่าครัวเรือนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ทุกเดือนรายได้ไม่พอรายจ่าย กลุ่มที่มีปัญหาสภาพคล่องระหว่างเดือน ตลอดจนกลุ่มที่ทุกเดือนมีรายได้พอรายจ่าย มีความตระหนักรู้ทางการเงินน้อย โดยเฉพาะเรื่องผลิตภัณฑ์การออมประเภทต่างๆ การขาดความรู้ความเข้าใจในสถานะหนี้และผลของการผิดนัดชำระ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตคุ้มครองเงินกู้ ฯลฯ
4.ในแง่แหล่งเงินกู้ แหล่งเงินกู้ของครัวเรือนเกษตรกรมีความหลากหลาย โดยเกษตรกรไม่ค่อยผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ แหล่งเงินกู้นอกระบบ แต่เลือกผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจมากกว่า
งานวิจัยระบุว่า แหล่งเงินกู้หลักของครัวเรือนเกษตรกรมี 5 แหล่ง ประกอบด้วย
• สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) เป็นแหล่งสินเชื่อให้ครัวเรือนกว่า 65% ของครัวเรือน
• สถาบันการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ เป็นแหล่งสินเชื่อให้ครัวเรือนประมาณ 65% ของครัวเรือน
• แหล่งเงินกู้นอกระบบ เช่น เงินเชื่อร้านค้า ญาติ นายทุน เป็นแหล่งสินเชื่อให้ครัวเรือนประมาณ 31% ของครัวเรือน
• บริษัทเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง เป็นแหล่งสินเชื่อให้ครัวเรือนประมาณ 28% ของครัวเรือน
• สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นแหล่งสินเชื่อให้ครัวเรือนประมาณ 22% ของครัวเรือน
โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และสถาบันการเงินในระบบ มักปล่อยสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการเกษตร และสินเชื่อเพื่อการลงทุนระยะยาว ซึ่งเป็นสินเชื่อที่อาจมีสินทรัพย์ หรือกลไกการค้ำประกันที่เข้มข้นกว่า ขณะที่สินเชื่อระยะสั้นเพื่อการอุปโภคบริโภคและสภาพคล่อง เกษตรกรมักได้รับจากสถาบันการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ
ทั้งนี้ในแง่การผิดนัดชำระหนี้ของเกษตรกร พบความน่าสนใจว่า เกษตรกรไม่ค่อยผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงินชุมชนอย่างกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ แหล่งเงินกู้นอกระบบ ขณะที่เลือกผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจมากกว่า
5.มาตรการของรัฐ เช่น นโยบายพักชำระหนี้ มีส่วนส่งผลให้ปัญหาหนี้เกษตรกรรุนแรงขึ้น
ผลสำรวจพบว่า การเข้าร่วมโครงการพักหนี้ทำให้เกษตรกรมีอัตราการสะสมหนี้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เกษตรกรเสี่ยงที่จะมีหนี้เสียสูงขึ้น นอกจากนี้ที่สำคัญยังพบว่า ยิ่งเกษตรกรอยู่ในโครงการพักหนี้นานเท่าใด ผลเสียเหล่านี้ยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากครัวเรือนยังสามารถกู้หนี้ก้อนใหม่ได้ แม้อยู่ในโครงการพักหนี้
ทั้งนี้ผลวิจัยพบว่า มีเกษตรกรกว่า 41% ที่ได้รับการพักชำระหนี้เกิน 4 ปี ซึ่งทำให้เกิดการสะสมหนี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในเกษตรกรกลุ่มที่มีหนี้ระดับปานกลางและสูง
งานวิจัยชิ้นนี้ฉายภาพสำคัญของปัญหาหนี้ในพี่น้องเกษตรกรไทยซึ่งมีกว่า 6 ล้านครัวเรือน ว่าปัจจุบันปัญหารุนแรง ลึกซึ้งเพียงใด และหากปล่อยไว้ จะยิ่งส่งผลให้ปัญหาหนักขึ้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกรในระยะยาว ขณะเดียวกันเกษตรกรเองก็ไม่สามารถพาตัวเองหลุดออกจากปัญหาด้วยตัวเอง และนับวันจะยิ่งตกอยู่ในกับดักนี้ลึกขึ้น นอกจากนี้จากสภาพการณ์และวิธีการแก้ปัญหาในปัจจุบัน ก็ยังไม่เห็นความหวังที่จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ลงได้ ที่สำคัญในวันนี้ที่ประเทศเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ผลกระทบของปัญหาหนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้น
จากงานวิจัยข้างต้น มีเรื่องเร่งด่วนที่รัฐต้องทำเพื่อแก้ปัญหานี้ ดังนี้
ประการแรก ต้องส่งเสริมบทบาทของสถาบันการเงินชุมชนหรือท้องถิ่นมากขึ้น เพราะมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรดีกว่า ต้องออกแบบให้มีกลไกความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือสถาบันการเงินในระบบ กับสถาบันการเงินชุมชนเพื่อเสริมจุดเด่นซึ่งกันและกัน ถึงจะแก้ปัญหาหนี้ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ควรจัดทำระบบฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่แม่นยำ ทั่วถึง เพื่อใช้ในการปล่อยสินเชื่อ และแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร
ประการที่สอง ต้องออกแบบให้มีกลไก เช่น กองทุนเพื่อช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่อง เนื่องจากรูปแบบรายได้ของเกษตรกรส่วนใหญ่มาเป็นก้อนๆ ขณะที่รายจ่ายมีทุกเดือน เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง และลดปัญหาการก่อหนี้ใหม่ ซึ่งมีปริมาณและต้นทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ประการที่สาม ต้องให้ความรู้ด้านการเงินที่เพียงพอและจำเป็นแก่เกษตรกร ควรเพิ่มบทบาทให้ชุมชนหรือสถาบันการเงินท้องถิ่นมีส่วนให้ความรู้สมาชิกในชุมชน เพราะใกล้ชิดและเข้าใจสถานการณ์ด้วยกันดีกว่า นอกจากนี้ต้องทำให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่จำเป็นได้ง่าย ไม่ซับซ้อน เช่น ประกันภัยผลผลิต หรือเข้าใจผลกระทบของดอกเบี้ย ในทางร้ายสุด อาจต้องผลิตเครื่องมือทางการเงินที่ง่ายกว่านี้ สำเร็จรูปกว่านี้ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรใช้ได้จริง
สุดท้าย รัฐจำเป็นต้องทบทวนนโยบายแก้หนี้ที่เน้นผลระยะสั้นอย่างนโยบายพักหนี้ เพราะงานวิจัยพบว่าก่อผลกระทบแง่ลบ ซ้ำเติมปัญหาหนี้ให้เกษตรกรในระยะยาวมากกว่า ประการสำคัญสุด รัฐต้องเร่งเพิ่มผลิตภาพให้ภาคเกษตรของไทย เพราะเป็นวิธีเดียวในการยกระดับรายได้ให้เกษตรกร และพาเกษตรกรออกจากกับดักหนี้อย่างยั่งยืน