เศรษฐกิจพอเพียง สู่แนวทางพัฒนาที่ยั่งยืน
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถือว่ามีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ถึงแม้ว่าการวัดผลจะทำได้ค่อนข้างยาก เพราะไม่สามารถสร้างตัวชี้วัดที่วัดผลให้เห็นภาพชัดเจนเหมือนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศได้ แต่ไม่สามารถเพิกเฉยต่อเรื่องดังกล่าวได้
การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development เป็นเมกะเทรนด์ของโลกที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ไม่มุ่งเน้นเฉพาะผลตอบรับทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการมองถึงการพัฒนาที่สร้างความสมดุลทุกมิติให้มากที่สุด โดยสหประชาชาติ (UN) กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ระยะเวลา 15 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ ค.ศ.2559-2573 และประเทศสมาชิก 193 ประเทศ ได้ลงนามรับรองวาระการพัฒนา 2030 ไปเมื่อปี 2558
สำหรับเป้าหมาย SDGs มีทั้งหมด 17 ข้อ ครอบคลุมมิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สันติภาพ และหุ้นส่วนการพัฒนา โดยการพัฒนาที่ยั่งยืนจะทำให้ทุกคนสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ในทุกมิติ ทั้งปัญหาความยากจน รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่นำมาสู่การวางเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของรัฐบาลหลายประเทศ รวมถึงบริษัททั่วโลก
หากมองหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ Sufficiency Economy Philosophy ถือได้ว่ามีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักการที่ชี้ให้เห็นถึงแนวการปฏิบัติของทุกระดับ นับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับรัฐ ซึ่งจะเป็นแนวทางการพัฒนาและบริหารประเทศบนทางสายกลาง โดยใช้ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังมาใช้ในการดำเนินการทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นปรัชญาที่รัชกาลที่ 9 พระราชทานให้คนไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถือว่ามีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาปลายทางที่วางเป้าหมายในมิติที่สอดคล้องกัน คือมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาและสร้างความสมดุลทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม จึงทำให้คนไทยสามารถเข้าใจแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ไม่ยาก และร่วมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนได้จากคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องร่วมมือจากทุกคน
ถึงแม้ว่าการวัดผลของการพัฒนาที่ยั่งยืนและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะทำได้ค่อนข้างยาก เพราะไม่สามารถสร้างตัวชี้วัดที่วัดผลให้เห็นภาพชัดเจนเหมือนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศได้ แต่เราไม่สามารถเพิกเฉยต่อเรื่องดังกล่าวได้ และรัฐบาลจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างกลไกความร่วมมือเพื่อผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างแรงจูงใจให้กับสังคม เพื่อให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่สร้างผลลบให้คนอีกรุ่นที่กำลังเจริญเติบโตมารับไม้ต่อจากคนรุ่นปัจจุบัน