อุบัติเหตุที่ 4 ที่ต้องระวังของเศรษฐกิจไทย

อุบัติเหตุที่ 4 ที่ต้องระวังของเศรษฐกิจไทย

สองเดือนก่อน ผมเขียนถึงสามอุบัติเหตุหรือสามฉากทัศน์ ที่หากเกิดขึ้นจะทำให้ภาพเศรษฐกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะสูงกว่าในปีนี้ ไม่เป็นไปตามที่ ธปท. คาด

สามฉากทัศน์ ได้แก่ (1) การส่งออกสินค้าหดตัว (2) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องทั้งปี 2566 และ (3) เงินเฟ้อไทยไม่ลดลงมาใกล้เคียงกับขอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ร้อยละ 3 ต่อปี

โดยผมเรียงความน่าจะเป็นของแต่ละฉากทัศน์จากสูงไปต่ำตามลำดับ 1 2 3 แต่ในแง่ของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ฉากทัศน์ที่ 2 จะเลวร้ายที่สุด ตามด้วยฉากทัศน์ที่ 3 และฉากทัศน์ที่ 1 ตามลำดับ

ผ่านมาสองเดือน ผมยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ และจากข้อมูลเงินเฟ้อที่ออกมาล่าสุด ฉากทัศน์ที่ 3 น่าจะสามารถตัดทิ้งได้ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสองฉากทัศน์แรกใกล้ชิด

ที่สำคัญ สำนักวิเคราะห์แห่งหนึ่งไม่ได้มองว่า ฉากทัศน์ที่หนึ่งเป็นแค่ความเสี่ยง แต่เป็นกรณีฐาน หรือกรณีที่มีความเป็นไปได้สูงสุด โดยให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 จากการส่งออกสินค้าที่ติดลบ

วันนี้ ผมขอเขียนถึงอุบัติเหตุหรือฉากทัศน์ที่ 4 ซึ่งเมื่อเทียบกับสามฉากทัศน์ที่ผมกล่าวมาข้างต้น ฉากทัศน์นี้จะใกล้เคียงกับคำว่าอุบัติเหตุมากที่สุด คือ เหตุการณ์ที่อุบัติโดยไม่คาดคิดในตลาดการเงินระหว่างประเทศ

ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ให้ความสำคัญในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา

ย่อหน้าที่สองของแถลงข่าวผลการประชุมร่วมระหว่าง กนง. และ กนส. เขียนว่าอย่างนี้ครับ

อุบัติเหตุที่ 4 ที่ต้องระวังของเศรษฐกิจไทย

ระบบการเงินโลกมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า จาก

(1) เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

(2) ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นมาก จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เร็ว แรง และพร้อมเพรียงกันของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อดูแลเงินเฟ้อ

(3) ความเปราะบางทางการเงินที่สูงขึ้นจากหนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้นมาก

(4) ราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่มีความผันผวนสูง 

(5) ระบบการเงินโลกที่ซับซ้อนขึ้นจากบทบาทที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินที่มิใช่สถาบันการเงิน (non-bank)

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในตลาดการเงินที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้ จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

ก่อนหน้านี้ เราพูดกันว่า ปัจจัยข้างต้นอาจทำให้ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศต้องตามรอยศรีลังกาที่ไม่สามารถชำระหนี้เงินตราต่างประเทศได้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับอังกฤษในเดือนกันยายน-ตุลาคมที่ผ่านมา ชี้ว่า แม้ในจุดที่ตลาดเคยคิดว่าปลอดภัยก็อาจจะประสบปัญหาได้

ช่วงปลายเดือนกันยายน ระบบการเงินของอังกฤษเกือบจะต้องล่มสลาย เมื่อกองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension funds) ของอังกฤษ ซึ่งมีขนาดของสินทรัพย์รวมกันประมาณร้อยละ 120 ของจีดีพีของอังกฤษ ส่งสัญญาณว่าอาจจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้าง

อุบัติเหตุที่ 4 ที่ต้องระวังของเศรษฐกิจไทย

กองทุนบำเหน็จบำนาญของอังกฤษมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ถ้าจะให้อธิบายกลไกอย่างสมบูรณ์คงต้องเขียนเป็นหน้า สั้นๆ เอาเป็นว่า กองทุนบำเหน็จบำนาญของอังกฤษใช้พันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลอังกฤษเป็นหลักประกันในกลยุทธ์การลงทุน

เมื่อใดก็ตามที่ราคาของพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลอังกฤษลดลง จนมูลค่าหลักประกันต่ำกว่าระดับราคาที่กำหนด ผู้จัดการกองทุนต้องหาเงินมาเติม (Margin call)

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เมื่อรัฐบาลใหม่ของนาง Liz Truss ประกาศนโยบายลดภาษีโดยไม่ได้มีแผนการหาเงินรองรับ (Unfunded tax cut) ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในฐานะทางการคลังในอนาคตของอังกฤษ พากันเทขายพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ

ราคาพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษที่ลดลงอย่างมาก จากการเทขายของนักลงทุนทำให้กองทุนบำเหน็จบำนาญของอังกฤษถูกเรียก Margin call อย่างหนัก ซึ่งสินทรัพย์หนึ่งที่ถูกขายออกมาเพื่อหาเงินไปเติม หรือในบางกรณีถูกบังคับขายก็คือพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษนั่นเอง

ทำให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษลดลงไปอีก นำไปสู่วงจรแห่งความหายนะที่ราคาพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษตกไปเรื่อย ๆ (Self-reinforcing spiral)

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษต้องประกาศเข้ารับซื้อพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษในปริมาณที่ไม่จำกัด ซึ่งก็เพียงประวิงเวลาได้ในระดับหนึ่ง

เนื่องจากนักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นในพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเคยถือว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอันดับต้นๆของโลกไปแล้ว กว่าเลือดจะหยุดไหลจริงๆ ก็เมื่อมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีมาเป็นนาย Rishi Sunak

ถามว่าเหตุการณ์คล้ายๆกันเกิดขึ้นกับไทยได้ไหม ต้องบอกว่าความน่าจะเป็นค่อนข้างน้อย

เนื่องจากกองทุนบำเหน็จบำนาญ (และกองทุนประเภทอื่นๆ) ของไทยไม่ได้ใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบเดียวกันกับกองทุนบำเหน็จบำนาญของอังกฤษ

ในขณะเดียวกัน ฐานะทางการคลังของไทยถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดีในสายตาของบริษัทจัดอันดับเครดิต อย่างไรก็ดี กรณีของอังกฤษเป็นบทเรียนสำคัญว่ารัฐบาลไม่ควรนิ่งนอนใจ

อุบัติเหตุที่ 4 ที่ต้องระวังของเศรษฐกิจไทย

โดยเฉพาะในปีหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง หากรัฐบาลใหม่ประกาศใช้นโยบายที่ตลาดมองว่าสุ่มเสี่ยงต่อฐานะทางการคลังในระยะยาวของประเทศ พันธบัตรรัฐบาลไทยก็อาจโดนเทขายแบบอังกฤษได้

ประเด็นของ กนง. และ กนส. คือ แม้เหตุการณ์แบบนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นในไทย แต่อาจเกิดขึ้นที่ไหนในโลกก็ได้ แล้วมากระทบเราอย่างมีนัย

ความน่ากลัว คือ เราไม่ทราบจุดต่อไปที่จะระเบิดขึ้นมาคือที่ไหน และจะรุนแรงแค่ไหน

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (BIS) ออกมาเตือนว่าธุรกรรมสวอปเงินตราต่างประเทศ (FX Swap) ของสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร ซึ่งมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 80 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นจุดบอดสำคัญที่ผู้กำกับดูแลมองไม่เห็น

เพราะเป็นธุรกรรมที่อยู่นอกงบดุล ไม่ทราบว่าใครมีความเปราะบาง และไม่ทราบว่าใครมีความเชื่อมโยงกับใคร

หากยังจำกันได้ ช่วงวิกฤติการเงินโลกเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เริ่มจากตลาดสินเชื่อบ้านซับไพรม์ ที่จริงๆ แล้วมีขนาดเล็กมากเทียบกับระบบการเงินสหรัฐ แต่ด้วยความที่สถาบันการเงินต่างๆ เชื่อมโยงกันไปมา เกือบทำให้ระบบการเงินโลกต้องล่มสลาย

อุบัติเหตุที่ 4 ที่ต้องระวังของเศรษฐกิจไทย

หากจะพอมีข้ออุ่นใจอยู่บ้าง คือ กนง. กนส. และผู้กำกับดูแลหลัก 3 หน่วยงาน ได้แก่ ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

ตระหนักถึงความเสี่ยงที่มีต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยจากอุบัติเหตุในระบบการเงินโลกมาระยะหนึ่งแล้ว โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในการดูแลความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและดูแลให้ตลาดการเงินสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติแม้ในภาวะวิกฤติ

อย่างไรก็ดี การพึ่งพาผู้กำกับดูแลอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ สถาบันการเงิน นักลงทุน และธุรกิจต้องระมัดระวังตัวเองด้วย เพื่อจำกัดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์

ความเสี่ยงจากการก่อหนี้เกินตัว ความเสี่ยงของสภาพคล่องจากระดมทุนในต่างประเทศ และความเสี่ยงจากการถดถอยของเศรษฐกิจไทยที่อาจเกิดขึ้นตามมา

ในช่วงวิกฤตการเงินโลก ระบบการเงินไทยโดยรวมถือว่ามีเสถียรภาพดี แต่ในมิติของเศรษฐกิจแล้ว ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจไทยจะหดตัว ค่าเฉลี่ยของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยหลังจากนั้น ไม่เคยกลับไปเท่ากับค่าเฉลี่ยก่อนวิกฤติการเงินโลกที่ประมาณร้อยละ 5 ต่อปีอีกเลย

 

 

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย