‘3 ซีอีโอ NEW GEN’ ขับเคลื่อนธุรกิจ ชู ‘แนวคิดใหม่’ รับโลกเปลี่ยน

เปิด 3 แนวคิด '3 ซีอีโอ NEW GEN' เลือดใหม่ ดาวรุ่งพุ่งแรง จัดทัพเคลื่อนธุรกิจ ด้วยแนวคิดนอกกรอบ ท่ามกลางบริบทโลกเปลี่ยน
‘กรวัฒน์ เจียรวนนท์’ปลุกธุรกิจ สู่‘เทคคอมพานี’ระดับโลก
บนเส้นทางสายเทคโนโลยี ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะประสบความสำเร็จหรือยืนระยะได้นาน ทว่าหากมองเกมได้ขาดและมีความมุ่งมั่นมากพอ ถนนสายนี้ยังคงมี “โอกาส” รออยู่อีกมหาศาล...
หนึ่งในบริษัทที่น่าจับตาคือ “เอมิตี้(Amity)” โซเชียล คลาวด์ คอมพานี สตาร์ทอัพสัญชาติไทย ที่ปักธงสร้างการเติบโตในตลาดระดับโกลบอลก่อตั้งและบริหารงานโดย “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” ซีอีโอเจนใหม่ที่ฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดา
“กรวัฒน์” คือ ลูกไม้ใต้ต้นวัย 26 ปี ของ ศุภชัย เจียรวนนท์ แห่งอาณาจักรซีพี กรุ๊ป และหลานปู่ ธนินท์ เจียรวนนท์ มหาเศรษฐีของไทย
“กรวัฒน์” ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่า ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ โอกาสที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นทั้งในที่ที่เราคาดหวัง และในที่ที่เราคาดไม่ถึง แนวคิดสำคัญคือ การไม่ทำให้วิกฤติเสียเปล่า และทำในสิ่งที่ทำได้เพื่อให้แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งด้วยการปฏิรูปตัวเองและการพยายามเสาะหาโอกาสใหม่ ๆ
เขามักพูดอยู่เสมอว่าการสร้างทีมระดับโลก (เวิลด์คลาส ทีม) คือ กุญแจสำคัญที่จะหล่อหลอมให้บริษัทเติบโตไปพร้อมกับ “ทีม” ที่แข็งแกร่ง ครั้งหนึ่งเขาเคยบอกว่า"ทุกคนในทีมต้องเก่งและเติบโตได้ถ้าไม่มีผม นี่คือบททดสอบที่แท้จริงของการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง ทีมต้องไม่เพียงแต่เก่งที่สุดในสิ่งที่พวกเขาทำเท่านั้น พวกเขายังต้องปรับตัว มีความยืดหยุ่น และพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงและมีวิวัฒนาการให้มากที่สุด”
ขณะที่ เป้าหมายใหญ่ของธุรกิจคือ การรักษาการเติบโตให้ได้ 100% โดยไม่ต้องใช้เงินสดจำนวนมหาศาล นั่นคือ การรักษาอัตราการเติบโตที่จำเป็น เพื่อการก้าวขึ้นสู่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก
ธุรกิจต้องดีและเก่งสู้ได้ทั้งภูมิภาค-โลก
"ผมเชื่อว่า เราต้องโฟกัสการเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำ ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก การจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง บริษัทต้องมองธุรกิจแบบขยายสเกลไปต่างประเทศให้ได้ บางสิ่งเราจะไม่สามารถทำได้ถ้าเราไม่เก่งที่สุดทั้งในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ดังนั้นทีมต้องเก่งมาก ถ้าเรามองแค่ระดับประเทศมันเล็กเกินไป ต้องวางตำแหน่งเป็นธุรกิจระดับภูมิภาค หรือ โกลบอล พยายามวางโฟกัสให้ชัดเจน และก้าวขึ้นไปเป็นที่หนึ่งในธุรกิจนั้นๆ ให้ได้”
เมื่อถามถึงธุรกิจครอบครัว อาณาจักรซีพี มีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจของเขาหรือไม่ “กรวัฒน์” ตอบสั้นๆ ว่า “ลักษณะของธุรกิจของ Amity นั้นแตกต่างจากธุรกิจครอบครัวมากดังนั้นอิทธิพลและบทเรียนอาจไม่ตรงเท่า”
หากด้วยความเป็นลูกชายคนโตของ “ศุภชัย เจียรวนนท์” และหลานปู่เจ้าสัว “ธนินทร์” กรวัฒน์ ยอมรับว่า ได้เรียนรู้บทเรียนมากมายแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เขาได้เรียนรู้อย่างมาก คือ ความเพียรพยายามและการทำความดี
“ความพากเพียร เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจว่า ธุรกิจจะต้องเผชิญกับความท้าทาย และความยากลำบากที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจะมีช่วงเวลามากมายที่เราอยากจะยอมแพ้ แต่เราไม่สามารถทำได้ทุกคนเข้าใจความเพียรพยายาม แต่การเข้าใจอย่างแท้จริง และการฝึกฝนอย่างแท้จริงนั้นแตกต่างออกไปการทำความดีเป็นเรื่องของการเข้าใจว่า เราต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง เราต้องปฏิบัติต่อทุกคนอย่างดีเช่นเดียวกับที่เราปฏิบัติต่อเพื่อนเรา ต้องตอบแทนสังคมในจุดที่เราทำได้ และการจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง เราต้องมีจริยธรรมและความดี”
เปิดวิสัยทัศน์ “ธุรกิจ”
ขณะที่ วิสัยทัศน์ทางธุรกิจ “กรวัฒน์” มองว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไม่เหมือนธุรกิจอื่นๆ เป็นโกลบอลเกม การทำตลาดจึงต้องมองไปที่ระดับภูมิภาคหรือระดับโลกไม่เช่นนั้นคงไม่ง่าย
“หากจำกัดตัวเองอยู่เพียงภายในประเทศขนาดตลาดจะเล็กมาก ขณะเดียวกันการแข่งขันมีความรุนแรงต้องต่อสู้กับผู้เล่นระดับบิ๊กจากต่างประเทศ”
สำหรับ Amity เพิ่มทุนไปแล้ว 30 ล้านดอลลาร์ หลังจากนี้ยังคงมีแผนที่จะระดมทุนเพิ่มเพื่อแข่งกับซิลิคอนแวลลีย์ และวางเป้าหมายว่าอนาคตจะเข้าจดทะเบียนในแนสแด็กให้ได้
บริษัท “Amity” ก่อนหน้านี้ ถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในบรรดาบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในยุโรป โดยติดอยู่ใน 150 อันดับแรกจากทั้งหมด 1,000 อันดับในรายการ FT 1000 ของไฟแนนเชียล ไทมส์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการเติบโตสู่ระดับโลกได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
“ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์” ผู้สร้าง Tech Entrepreneur ของไทย
"ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์" หนึ่งในผู้บุกเบิกสาขาอาชีพ “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” หรือ “Data Strategist” ในประเทศไทย รวมทั้งการเป็น นักเศรษฐศาสตร์บิ๊กดาต้า และ Tech Entrepreneur แถวหน้าของเมืองไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท Siametrics Consulting และ ViaLink และกรรมการผู้จัดการของสถาบันอนาคตไทยศึกษา
ในยุคที่การขับเคลื่อนข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการสร้างความสำเร็จของธุรกิจทั่วโลก โดยได้ก่อตั้ง (founder) บริษัท Siametrics Consulting และ ViaLink ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ของทั้ง 2 บริษัท โดยถือว่าเป็นบริษัทสตาร์ทอัพไทยที่ประสบความสำเร็จและมีผลงานจำนวนมาก
บริษัท Siametrics Consulting เป็นบริษัทที่รวบรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) และ Web 3.0 ผู้มีประวัติการศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับโลกและประสบการณ์ทำงานในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ที่ล้วนมีเป้าหมายคือการช่วยให้องค์กรวางแผนและใช้ประโยชน์จาก Big Data ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะผ่านบริการ Data Consulting ที่ช่วยให้คำปรึกษาวางแผนกลยุทธ์ข้อมูล หรือผ่านบริการและผลิตภัณฑ์ AI ที่สามารถพลิกโฉมการทำงานขององค์กรได้ภายในไม่กี่วัน โดยมีความเชื่อว่าประสิทธิภาพในการบริหารธุรกิจที่เพิ่มขึ้นและนวัตกรรมใหม่ที่มีส่วนช่วยในการผลักดัน จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม
ส่วนบริษัท ViaLink มีธุรกิจบน Web 2.0 ซึ่งทำในเรื่องของการปฏิวัติการทำงานของซัพพายเชนในประเทศไทยยกระดับการขนส่ง และโลจิสติก์ให้มีมาตรฐาน สามารถลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้โดยใช้ Data
ที่ผ่านมาบริษัทได้มีความร่วมมือในโครงการ พัฒนาความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน (Operational Excellence) ด้วยระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนเป้าหมายเชิงกลยุทธ์และการทำธุรกิจของไปรษณีย์ไทย เพื่อยกระดับกระบวนการขนส่งตลอดเส้นทางไปรษณีย์ และการให้บริการ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย เช่น การนำระบบ Geo Coding Engine ในการพัฒนาเส้นทางขนส่งและการนำจ่ายสิ่งของ พร้อมวิเคราะห์และศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาจุดให้บริการไปรษณีย์
รวมถึงการนำเทคโนโลยีทันสมัยเพิ่มศักยภาพระบบติดตามสถานะการขนส่งแบบเรียลไทม์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนคลังสินค้าและการจัดการขนส่ง แบบครบวงจร (Crowd Shipping) เพื่อเชื่อมต่อผู้ใช้บริการที่เป็นกลุ่มธุรกิจด้วย
ในฐานะนักเขียนและนักวิชาการ "ณภัทร" มีงานเขียนสื่อสารธราณะออกมาอยู่เสมอ โดยล่าสุดได้เขียนหนังสือเรื่อง ‘อาทาเดีย’ ซึ่งเป็นการพูดถึงเทคโนโลยี Web-3.0-โลก Big data-และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้อ่านจำนวนมาก
"Web 3.0 เป็นเรื่องที่ใหม่มาก ตอนนี้คิดว่าถึงเวลาที่ธุรกิจนี้จะไปได้ เราจึงเริ่มทำฐานข้อมูลในโลกดิจิทัลสำหรับคนทั้งโลก แต่ส่วนนี้ทำในเรื่องดาต้า และทำเครดิต สกอร์ริ่งให้คนทั่วโลก โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคารหรือระบบอื่น การทำข้อมูลด้านดาต้าและ NFT และดิจิทัลโทเคนที่ทำอะไรได้มากกว่าการเก็งกำไร และในอนาคตไม่ว่าอะไรในโซเชียลมีเดียและเกมก็อาจพัฒนาจากจุดนี้เช่นกัน"
“ณภัทร” แม้โดยชื่อของเขาเองอาจยังไม่ปรากฎในแวดวงของสื่อและสาธารณะมากนัก แต่หากบอกว่าเขาคือลูกชายคนโต หัวแก้วหัวแหวนของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลยุค คสช.ต่อเนื่องมาถึงหลังการเลือกตั้งในสมัย ครม.ประยุทธ์ 2 หลายคนก็จะอาจจะไม่แปลกใจ เพราะทั้งบุคคลิก ลักษณะ และคมความคิดมีส่วนคล้ายกับ "สมคิด" อยู่ไม่น้อย
สำหรับประวัติการศึกษาและการทำงานของณภัทรเขาจบการศึกษาปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล และจอนส์ ฮอปกินส์ และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้าเคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่Harvard Kennedy School และที่ธนาคารโลก
“รังสรรค์ พรมประสิทธิ์” ดัน “QueQ” สู่ยูนิคอร์น
ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นธุรกิจเติบโตในยุคการระบาดของ โควิด-19 โดยเฉพาะ "สตาร์ทอัพ" ที่นักลงทุนต่างชะลอการลงทุนใน Early Stage แม้แต่สตาร์ทอัพที่อยู่มานานยังต้องปรับตัวและไม่หยุดนิ่ง “คิวคิว” (QueQ) แอปพลิเคชั่นลดปัญหาการรอคิว ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของสตาร์ทอัพรุ่นพี่ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและสร้าง Impact ให้กับสังคมชัดเจน นับตั้งแต่การก่อตั้งในปี 2558 จนปัจจุบัน
“โจ้ - รังสรรค์ พรมประสิทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเติบโตมาในครอบครัวโปรแกรมเมอร์หล่อหลอมให้ กลายเป็นคนที่สนใจด้านนี้มาตั้งแต่อายุ 12 ปี เส้นทางสายโปรแกรมเมอร์เริ่มต้นจากการเล่มเกมที่มาพร้อมคู่มือการเขียนโปรแกรมง่ายๆ สำหรับเด็ก และความฝันที่มักจะบอกทุกคนเสมอ คือ โตขึ้นอยากเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์
จุดเริ่มต้นของ แอปพลิเคชั่น คิวคิว (QueQ) เริ่มขึ้นเมื่อราว 7 ปีที่ที่ผ่านมา จากการบริษัทซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ขยับมาสู่เส้นทางสตาร์ทอัพ ซึ่งได้ไอเดียจากการเล็งเห็น Pain Point ของการรอคิวธนาคาร “คิวคิว” จึงเกิดขึ้น โดยจับตลาดแรก คือ ร้านอาหาร ขยายสู่ธนาคาร โรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงธุรกิจร้านอาหารทั้งในมาเลเซีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น
บทบาท “คิวคิว” เด่นชัดขึ้นในสถานการณ์ “โควิด-19” ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ที่ศูนย์ตรวจโควิด-19 Rapid Test ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้จองทางแอปฯ ตามเวลา 50 คนต่อวัน โดยใช้เก้าอี้เพียง 5 ตัว หลังจากนั้น เริ่มนำระบบคิวคิวไปใช้ในสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ลดการกระจุกตัวเนื่องจากคนไทยที่ต้องทำ Fit to Fly Certificate ขยายสู่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และช่วงพีคของโควิด-19 ระลอกเดลต้า ที่ช่วยทลายการรอคิวตรวจโควิด-19 ที่ล้นทะลัก รวมถึงคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 หลายจุด
ในวันนี้ โครงการ “คืน 30 ล้านชั่วโมง” ของคิวคิว ได้ให้บริการคิวฉีดวัคซีนและตรวจโควิด-19 ไปแล้วทั้งหมด 1.5 ล้านคิว 156 จุดบริการคืนเวลาไปไม่ต่ำกว่า 45 ล้านชั่วโมง ตลอดระยะเวลาโครงการ 406 วัน เรียกว่าเกินเป้าหมาย อีกทั้ง ยังขยายบริการไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งบริการสาธารณะ อีเวนท์ สั่งอาหารเดลิเวอรี่ ศูนย์บริการทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึง อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เป็นต้น
“CEO & Co-Founder คิวคิว” เผยว่า ในวันนี้ เรียกได้ว่า คิวคิว อยู่จังหวะที่กำลังย่อตัวและกระโดด แต่หากถามว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง ตอบว่า ยังไปได้อีกเยอะ และอยู่ใน Growth Stage สถานการณ์โควิดเป็นตัวเร่งพอสมควรที่ทำให้การเติบโตของคิวคิวเร็วขึ้น เป้าหมายของคิวคิวระยะสั้น คือ การทำงานกับภาครัฐเยอะขึ้นเพื่อสร้าง Impact ให้กว้างขึ้น ขณะที่เป้าหมายใหญ่แน่นอนว่า คือ การก้าวสู่ยูนิคอร์นของไทยให้ได้