ส่อง 3 สัญญาณ ที่ผู้นำ-ซีอีโอ "ควรลาออก"
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำของบริษัทชั้นนำและผู้นำประเทศอย่างนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ต่างประกาศลาออกจากตำแหน่ง ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความประหลาดใจและชวนสงสัยว่า อะไรเป็นแรงผลักดันเบื้องลึกที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจลาออกเช่นนี้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ที่ค่อนข้างเหนือความคาดหมายเกี่ยวกับการอำลาตำแหน่งของบรรดาบุคคลระดับผู้นำทั้งในฐานะผู้นำรัฐบาลและผู้นำองค์กร อย่างจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ประกาศลาออกกะทันหัน ขณะอายุเพียง 42 ปี ทั้งที่ยังดูมีอนาคตไกลในเวทีการเมืองและทำผลงานในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมาได้ประทับใจประชาชนด้วย
- จาซินดา อาร์เดิร์น กลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ หลังประกาศลาออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (เครดิตภาพ: AFP) -
จากนั้นในช่วงไล่เลี่ยกัน รีด แฮสติงส์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Netflix ยักษ์ใหญ่สตรีมมิงของสหรัฐ ได้ประกาศลาออกจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และ เจมี ไดมอน ซีอีโอของ JP Morgan บริษัทการเงินรายใหญ่บอกว่า กำลังจะปลดเกษียณ เหล่านี้มีเหตุผลเบื้องลึกอะไรซ่อนอยู่ที่ทำให้เหล่าผู้นำตัดสินใจลาออกเช่นนี้ กรุงเทพธุรกิจจะสรุปให้ฟัง
- รีด แฮสติงส์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Netflix ประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ (เครดิตภาพ: AFP) -
เจมส์ เลอมอยน์ ศาสตราจารย์จากคณะบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยบัฟฟาโลในรัฐนิวยอร์กของสหรัฐ ให้ความเห็นว่า ผู้คนมักจะลาออกด้วยเหตุผล 2 ประการดังนี้
1. ความสามารถของตนไม่ตอบโจทย์ความคาดหวังของบรรดาผู้ถือหุ้นอีกต่อไป
2. เมื่อเข้าใจตัวเองว่า งานที่กำลังทำไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย และคุณค่าของบริษัท
เลอมอยน์กล่าวเสริมว่า ผู้นำจำนวนมากมักปฏิเสธที่จะพิจารณา 2 เหตุผลดังกล่าว และยากที่พวกเขาจะลาออก เพราะมองว่าภายภาคหน้าจะสามารถแก้ไขตัวเองได้ หรือจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นั่นเป็นเหตุผลที่ผู้นำหลายคนอยู่ในตำแหน่งจนเกินเวลาที่เหมาะสม
ขณะที่เทอร์รี เคิร์ตซเบิร์ก ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยธุรกิจรัตเกอร์สในรัฐนิวเจอร์ซีย์ มองว่า การตัดสินใจลาออกเป็นสิ่งที่ยาก แต่ถือเป็นทางเลือกที่สง่างาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลาออกในช่วงกลางเทอม ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่น่าประทับใจ
- “3 สัญญาณ” ที่ควรพิจารณาว่า ไปต่อหรือพอแค่นี้?
เมื่อทำงานบริษัทในฐานะผู้บริหาร มี 3 สัญญาณที่ควรพิจารณาว่าจะลาออกหรือไม่ เพื่อความสง่างามและเปิดทางให้ผู้ที่เหมาะสมกว่าขึ้นมาแทน ดังนี้
1. ความสามารถเข้ากับงานได้หรือไม่ โดยเฉพาะในบริษัทสตาร์ทอัพเมื่อขยายใหญ่ขึ้น ไปสู่รูปแบบธุรกิจที่แตกต่างจากเดิม ทักษะใหม่จึงจำเป็นต้องพัฒนาอยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่ซีอีโอ
- อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชื่อดัง ประกาศเตรียมลงจากตำแหน่งซีอีโอของ Twitter หากได้คนที่เหมาะสมกว่า (เครดิตภาพ: AFP) -
ตัวอย่างเช่น อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Tesla ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าและ SpaceX บริษัทด้านอวกาศ มีความเชี่ยวชาญด้านการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ จนประสบความสำเร็จกับบริษัท Tesla แต่เมื่อต้องมาบริหารบริษัท Twitter สังคมออนไลน์แบบไมโครบล็อกที่เขาซื้อกิจการเมื่อปีที่แล้วและไม่มีประสบการณ์บริหารสื่อสังคมออนไลน์มาก่อน ก็เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการปลดพนักงานครั้งใหญ่เพื่อลดต้นทุน รายได้โฆษณาลดลง จึงทำให้เขาพิจารณาความสามารถตัวเองแล้วเห็นว่า ควรสละตำแหน่งซีอีโอ Twitter เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลเหมาะสมบริหารแทน
“คนเจนใหม่ ๆ ที่เข้ามา ยังถือเป็นความท้าทายที่ผู้บริหารต้องพัฒนาตัวเองเสมอ เพราะพวกเขามาจากยุคสมัยที่แตกต่าง” โรซาเบธ มอส แคนเตอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าว
2. ได้รับการสนับสนุนจากทั้งคนรอบข้าง และงบประมาณหรือไม่ นอกจากการได้งานที่เข้ากันแล้ว เอริค กอนซาเลซ ศาสตราจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอินดีแอนา ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญใกล้เคียงกันคือ คนรอบข้างในที่ทำงาน ที่ยินดีสนับสนุนและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รวมไปถึงงบประมาณสนับสนุนด้วย ที่อาร์เดิร์นตัดสินใจลาออกจากนายกฯนิวซีแลนด์ เป็นไปได้ว่า อาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากคณะทำงานของเธอ
3. เป้าหมายชีวิตสอดคล้องกับเป้าหมายงานไหม หลายคนตั้งเป้าหมายชีวิตที่ต้องการ แต่หากไม่เข้ากันกับเป้าหมายงาน งานก็จะเปลี่ยนเป็นอุปสรรคเป้าหมายชีวิตได้ ส่งผลให้อยู่ในอาชีพนั้นได้ไม่นาน ยกตัวอย่างเช่น อาร์เดิร์น นายกฯนิวซีแลนด์ต้องการมีเวลาว่างกับลูกน้อย 4 ขวบ แต่หลายครั้งที่ทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรี เธอก็ต้องอุ้มลูกรักไปทำงานด้วย นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอตัดสินใจลาออก เพื่อเธอจะได้มีเวลากับลูกมากขึ้น
เอมี โคลเบิร์ต ศาสตราจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยไอโอวา กล่าวว่า ผู้นำอาจพบว่าบทบาทตัวเองมีจำกัด จึงตัดสินใจที่จะตามหาโอกาสใหม่ที่อยู่ภายในงานหรือนอกเหนืองาน
จากปรากฏการณ์การลาออกจากงานของเหล่าผู้นำต่าง ๆ มีเหตุผล 3 สิ่งที่อาจเป็นแรงผลักดันเชิงลึกต่อการลาออกของพวกเขา ได้แก่ ความสามารถตัวเองที่ไม่ตอบโจทย์งานแล้ว การไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างและงบประมาณที่เพียงพอ และเป้าหมายชีวิตไม่สอดคล้องกับงานที่ทำ
ดังนั้น 3 เหตุผลสำคัญเหล่านี้ถือเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาว่างานที่ทำเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่ รวมไปถึงฝ่ายทรัพยากรบุคคลยังสามารถใช้ประเมินการลาออกของพนักงาน เพื่อทำความเข้าใจในตัวพนักงานมากขึ้น เเละปรับปรุงการปฏิบัติต่อพนักงานในบริษัทให้ดียิ่งขึ้นได้อีกด้วย
อ้างอิง: bloomberg