ส่องศึก 3 ก๊ก “แชตบอต AI” Microsoft, Google, Baidu ใครพร้อมเป็นเบอร์ 1 ?!
แชตบอต AI กำลังสั่นสะเทือนการทำงานมนุษย์ทั่วโลก บริษัทที่มีศักยภาพ 3 รายอย่าง Microsoft ผู้สนับสนุน ChatGPT, Google และ Baidu ต่างทุ่มเททั้งเม็ดเงินและสมองเร่งพัฒนาแชตบอตดังกล่าว จึงน่าสนใจว่าแต่ละบริษัทมีจุดแข็งอะไร และแชตบอต AI อันล้ำสมัยมีสิ่งที่น่ากังวลหรือไม่
เป็นที่ตื่นตาตื่นใจมากจากการเปิดตัว ChatGPT ที่สั่นสะเทือนโลกการเรียน การแต่งเพลง เมื่อ AI ดังกล่าวสามารถถามมา ตอบได้เกือบทุกเรื่องราวอับดุล ภาษาที่ใช้ก็สละสลวย อีกทั้งเข้าใจบริบทภาษามนุษย์ด้วย
การถือกำเนิดขึ้นของ ChatGPT ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจาก Microsoft กำลังทำให้ Google และ Baidu บริษัทเสิร์ชเอนจินระดับโลกต่างนั่งไม่ติด และเตรียมพัฒนาแชตบอตเข้าสู้ในสมรภูมินี้เช่นกัน
- แชตบอต AI คืออะไร เเละต่างจากแชตบอตทั่วไปอย่างไร
แชตบอตทั่วไป สามารถเห็นได้จากแชตสนทนากับธนาคาร ซื้อของออนไลน์ต่างๆ ใช้การตอบคำถามจากการจับคีย์เวิร์ด เช่น ถามว่ารองเท้าไซส์ 40 ราคาเท่าไร เมื่อตรงกับคีย์เวิร์ด “รองเท้า” “ไซส์ 40” ทางแชตบอตก็จะตอบคำถามตามข้อความที่เตรียมไว้ โดยเจ้าของแชตบอตจะต้องป้อนคีย์เวิร์ดที่ผู้ซื้อมักจะถามให้ครอบคลุมมากที่สุด
แต่ถ้าผู้ซื้อถามว่า สิ่งที่เราใส่ขณะวิ่ง ขนาดระหว่าง 39 กับ 41 ขายเท่าไร ถ้าถามมนุษย์จะนึกถึงรองเท้า แต่แชตบอตทั่วไปอาจงุนงง ตอบไม่ได้ เพราะไม่ตรงคีย์เวิร์ด
ดังนั้นจึงเกิด แชตบอต AI ที่มีความอัจฉริยะกว่าและผ่านการฝึกด้วยข้อมูลอันมหาศาล เรียนรู้ผ่านบทสนทนามนุษย์ในหนังสือ ในอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก (Machine Learning) ไม่รู้จักกลางวัน-กลางคืน จนมันเข้าใจบริบท และเข้าใจความต้องการของมนุษย์ได้ สุดท้ายจึงสามารถช่วยมนุษย์ตอบคำถามที่เป็นธรรมชาติ ตรงประเด็น รวมไปถึงคิดบทสนทนาชวนคุยได้อีกด้วย
- ศึก 3 ก๊ก แชตบอต AI
เมื่อไม่นานนี้ แชตบอตใหม่ที่ชื่อ ChatGPT สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ผู้ใช้ทะลุ 1 ล้านคนภายหลังการเปิดตัวได้เพียง 5 วัน แตะล้านเร็วที่สุดนับตั้งแต่เคยมีมา และยังมีพื้นที่ให้เติบโตอีกมาก ทำให้บริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ แข่งขันวิจัยเพื่อเป็นเบอร์ 1 ในสมรภูมินี้ โดยมี 3 บริษัทใหญ่ที่สามารถสร้างนวัตกรรมนี้มาแข่งขันกัน ดังต่อไปนี้
1. ก๊ก Microsoft เริ่มต้นด้วยผู้สนับสนุนบริษัท Open AI เจ้าของแชตบอต ChatGPT มาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งจำนวนเงินที่จะสนับสนุนคาดว่าสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์
บริษัท OpenAI เจ้าของ ChatGPT ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 โดยแซม อัลท์แมน ประธานบริษัท และอีลอน มัสก์แห่ง Tesla ซึ่งในภายหลัง มัสก์ได้ลาออกจากกรรมการบริษัทในปี 2561
บริษัทนี้มีจุดแข็งคือ : เปิดตัวเจ้าแรก มีผู้ใช้พุ่งทะลุ 1 ล้านคนภายหลังการเปิดตัวเพียง 5 วัน และในปัจจุบันมีผู้ใช้ทั่วโลกทะลุ 100 ล้านคนเมื่อเดือน ม.ค.ที่แล้ว หลังเพิ่งเปิดตัวได้เพียงแค่ 2 เดือน
ด้วยยอดผู้ใช้ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางบริษัท OpenAI จึงได้เปิดตัวเวอร์ชั่นอัพเกรดในชื่อว่า ChatGPT Plus ในราคาเพียงแค่ 20 ดอลลาร์ต่อเดือนหรือราว 650 บาทเท่านั้น มาพร้อมฟีเจอร์ใหม่ เข้าใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอเหมือนเวอร์ชั่นเดิมที่เมื่อผู้เข้าใช้งานเต็มขีดจำกัด เราจำเป็นต้องรอ
นอกจากนี้ Microsoft ยังนำ ChatGPT มาใช้ใน Microsoft Office(โปรเเกรมสำนักงาน), Microsoft Team(โปรเเกรมจัดการประชุม), Microsoft Azure(ระบบคลาวด์), Microsoft Bing(บริการเสิร์ชเอนจิน)
- Microsoft ทุ่มเม็ดเงินสนับสนุนบริษัท OpenAI พัฒนา ChatGPT (เครดิต: AFP) -
2. ก๊ก Google ภายหลังการเปิดตัวของ ChatGPT ทางซันดาร์ พิชัย ซีอีโอ Google จึงประกาศ Red Code ให้พัฒนาแชตบอตเข้าสู้อย่างเร่งด่วน ในชื่อโครงการ Atlas
ชื่อแชตบอตนี้ Google จะตั้งชื่อมันว่า “Apprentice Bard หรือ Bard A.I.”
Bard นี้ถูกพัฒนาโดยเทคโนโลยี Google ที่ชื่อว่า Language Model for Dialogue Applications หรือเรียกสั้น ๆว่า LaMDA เป็นการฝึก AI ผ่านโครงข่ายข้อมูล และภาษามนุษย์อันมหาศาล
เเชตบอท Apprentice Bard กำลังอยู่ในระหว่างการเร่งพัฒนาขณะนี้ ผู้บริหารคาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการให้ใช้งานได้ภายในปีนี้
- Google ก็เร่งพัฒนาเเชตบอท Bard AI สู้ ChatGPT เช่นกัน (เครดิต: AFP) -
จุดแข็งของบริษัทนี้คือ : Google มีส่วนแบ่งการตลาดเสิร์ชเอนจินอันดับ 1 มากถึง 92.7% สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานทั่วโลกมากถึง 4,300 ล้านคน เพราะเมื่อเราไม่เข้าใจสิ่งใดก็มักคีย์หา Google ซึ่งยิ่งบริษัทเข้าถึงข้อมูลมนุษย์มากขึ้นเท่าใดก็จะยิ่งทำให้ AI ที่ถูกฝึกของบริษัทนั้นเก่งขึ้น และคล้ายมนุษย์มากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ Google ยังเป็นเจ้าของ Youtube ที่มีผู้ใช้งาน 2,600 ล้านบัญชีต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายก็สงสัยว่า เหตุใด Google ถึงไม่รีบเปิดตัวแชตบอตแข่งกับ ChatGPT ให้เร็วกว่านี้
เจฟฟ์ ดีน (Jeff Dean) หัวหน้าฝ่าย AI Google ได้ชี้แจงว่า เนื่องจากจำเป็นต้องรักษาชื่อเสียงของบริษัท ดังนั้นบริษัทจะมีความระมัดระวังอย่างยิ่งมากกว่าบริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็กในการปล่อยแชตบอตออกมา โดยเฉพาะเรื่องความเที่ยงตรงของข้อมูลเมื่อโต้ตอบกับมนุษย์
นอกจากนี้ ทีมพัฒนาของ Google ได้ทดสอบปัญหาเชาว์ระหว่าง ChatGPT ของคู่แข่ง กับ LaMDA ของตัวเอง
ปัญหาเชาว์ถามว่า “มีผู้หญิง 3 คนอยู่ในห้อง โดย 2 ใน 3 นั้นเป็นแม่และเพิ่งคลอดบุตร ตอนนี้พ่อของเด็กแรกเกิดก็เข้ามา คำถามคือ ในห้องนี้มีทั้งหมดกี่คน?”
ChatGPT ตอบว่า มี 5 คน ขณะที่ LaMDA ของ Google ตอบว่ามี 7 คนอยู่ในห้อง ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกต้อง (ผู้หญิง 3 คน+ทารกแรกเกิด 2 คน+พ่อเด็ก 2 คน)
3. ก๊ก Baidu เว็บเสิร์ชเอนจินอันดับ 1 ของจีน ประกาศแผนเปิดตัวแชตบอตเหมือน ChatGPT ในเดือน มี.ค.นี้ ส่งผลให้หุ้น Baidu พุ่งขึ้น 5.8% ทันทีหลังกระเเสข่าวออกมา ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นระหว่างวันมากที่สุดในรอบเกือบ 1 เดือน
ทางบริษัท Baidu ให้ชื่อเเชตบอตใหม่นี้ว่า "ERNIE Bot" หรือในชื่อจีนคือ "เหวินซิน อี้เหยียน(文心一言)"
ความก้าวหน้า AIจีนยังเป็นที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์กลางเพื่อความมั่นคงและเทคโนโลยีเกิดใหม่ (CSET) ระบุว่า นักลงทุนสหรัฐแห่นำเงินหลายพันล้านดอลลาร์เข้าลงทุน AI ของบริษัทจีนต่างๆ โดยนับตั้งแต่ปี 2558-2564 โดยเกือบ 1 ใน 5 ของการลงทุนในบริษัท AI จีนเป็นของนักลงทุนสหรัฐ รวมไปถึงบริษัท Intel และ Qualcomm ก็เข้าลงทุนในบริษัท AI จีนด้วย
จุดแข็งของบริษัทนี้คือ : ด้วยความที่เป็นเว็บเสิร์ชเอนจินที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในจีน จึงสามารถเข้าถึงข้อมูลของประชากรจีนมากถึง 1,400 ล้านคน อีกทั้งหากต้องการข้อมูลแดนมังกร และเนื้อหามุมมองชาวจีนแผ่นดินใหญ่ การค้นผ่าน Google มักจะไม่ค่อยพบข้อมูลที่ต้องการ ดังนั้น Baidu จึงเป็นตัวเลือกสำคัญสำหรับชาวจีนโพ้นทะเลและต่างชาติที่ต้องการทราบข้อมูลประเทศจีนด้วย
- Baidu เเห่งเเดนมังกรซุ่มพัฒนาเเชตบอท ERNIE Bot คล้าย ChatGPT เตรียมเปิดตัวมี.ค.ปีนี้ (เครดิต: AFP) -
- ภาพสรุป แสดงจุดเด่นของแชตบอต AI แต่ละเจ้า -
- ข้อกังวลของแชตบอต AI
เนื่องจากแชตบอต AI จากกรณี ChatGPT สามารถเข้าถึงข้อมูลอันมหาศาล และเข้าใจบริบทมนุษย์ได้ จึงก่อให้เกิดความกังวลเหล่านี้
1. การทุจริตการบ้าน ทางสถาบันการศึกษาทั่วโลกต่างกังวลว่า นักศึกษาจะใช้แชตบอต AI ในการเขียนรายงานส่ง โรงเรียนรัฐบาลบางแห่งในนครนิวยอร์ก และเมืองซีแอตเทิลของสหรัฐ จึงประกาศสั่งแบน ChatGPT รวมไปถึงอาจารย์บางท่านกำลังจะใช้วิธีสอบปากเปล่าร่วมกับการสอบข้อเขียนด้วย
ด้านบริษัท OpenAI เจ้าของ ChatGPT ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เตรียมออก AI Text Classifier เพื่อตรวจจับข้อเขียนว่าเป็นฝีมือมนุษย์หรือ AI เขียน
- อาจารย์หลายท่านกำลังจะใช้วิธีสอบปากเปล่าร่วมกับการสอบข้อเขียนด้วย (เครดิต: AFP) -
2. การสร้างไวรัสและโปรแกรมแฮกระบบ ในช่วงที่ทีม Google ทดสอบ ChatGPT ร่วมกับ LaMDA เขียนโค้ดโปรแกรม ผลปรากฏว่า ChatGPT สอบผ่านการสัมภาษณ์วิศวกรซอฟต์แวร์ระดับ 3 นั่นจึงเกิดความกังวลว่า หากแชตบอต AI ล้ำหน้ายิ่งกว่านี้จะถูกใช้ผลิตโค้ดอันตรายเพื่อแฮกระบบผู้อื่นหรือไม่ เพราะในขณะนี้เครื่องมือเขียนโค้ดดังกล่าวกำลังเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก และไม่จำเป็นต้องเรียนรู้โค้ดเชิงลึกก็ใช้งานได้
3. ความเที่ยงตรงของข้อมูล บริษัท Open AI ระบุว่า ข้อมูลที่ ChatGPT นำเสนอนั้นไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด ด้วยลักษณะการตอบของ ChatGPT ที่รอบรู้และเข้าถึงง่าย อาจทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อตาม โดยให้ความสำคัญกับการอ้างอิง และที่มาข้อมูลน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันสะดวกกว่าการค้นหาผ่าน Google ด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น บางประเด็นก็ต้องอาศัยประสบการณ์ตรง และมีหลายคำตอบ หลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็น “น้ำมันมะพร้าวกับน้ำมันปาล์ม อย่างไหนดีกับสุขภาพมากกว่า” “ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงไข่แดงจริงหรือไม่” ซึ่งแชตบอตอาจให้มุมมองข้อมูลเพียงฝั่งเดียวได้
4. การสร้างข่าวปลอม เนื่องด้วยแชตบอต AI โดดเด่นทางการเรียบเรียงข้อมูลเป็นคำพูด เป็นเรื่องราว จึงเป็นการง่ายที่จะสร้างเรื่องแต่งที่น่าดึงดูดในเวลาไม่กี่นาที ยังสามารถกำหนดโทนการเล่าได้อีกด้วยให้ดูแข็งขึ้นหรืออ่อนลงก็ได้ สร้างความกังวลใจว่าจะทำให้การแพร่กระจายข่าวปลอมทำได้ง่ายขึ้น
โดยสรุป แชตบอต AI กำลังยกระดับชีวิตมนุษย์ให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น มีการโต้ตอบกับมนุษย์ที่ตอบโจทย์และเป็นธรรมชาติมากกว่าที่เคยเป็น ช่วยลดภาระมนุษย์ในการทำงานเหล่านี้ได้ นั่นจึงทำให้บริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกต่างทุ่มเงินลงทุนเพื่อเป็น “เบอร์ 1” ในนวัตกรรมดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ความสะดวกสบายเหล่านี้ก็มาพร้อมความกังวลเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูล การแพร่กระจายข่าวปลอมและไวรัสที่อาจทำได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งถือว่ายังคงเป็น “ดาบสองคม” ที่มนุษย์ต้องใช้งานอย่างรอบคอบและมีวิจารณญาณ
อ้างอิง: reuters zdnet cnbc bloomberg androidpolice firstsiteguide wpdevshed