เปิด 4 ปัจจัย CEO ยักษ์ใหญ่ตะวันตก เริ่มกลับไปเยือนตลาดจีน

เปิด 4 ปัจจัย CEO ยักษ์ใหญ่ตะวันตก เริ่มกลับไปเยือนตลาดจีน

เปิด 4 ปัจจัย ทำไม CEO บริษัทตะวันตกยักษ์ใหญ่หลายรายเริ่มกลับไปเยือนประเทศจีน ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดจีน-สหรัฐ ทั้งกรณีไต้หวัน เทคโนโลยี หรือแม้แต่บอลลูนสอดแนม ผู้บริหารเหล่านี้คาดหวังอะไรจากการเยือนแดนมังกรครั้งนี้

Key Points

  • ซีอีโอบริษัทตะวันตกหลายแห่ง Apple, Volkswagen, Pfizer, Benz ฯลฯ ต่างมีแผนไปเยือนจีนในเร็ว ๆ นี้ หลังกลับมาเปิดประเทศเต็มตัว ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐ
  • แม้ล่าสุด ประชากรจีนจะลดลงครั้งแรกในรอบ 60 ปี เเต่สัดส่วนชนชั้นกลางใหม่ในหมู่ประชากรจีนกลับเพิ่มขึ้น 15.6% เป็น 163 ล้านคนจากปี 2564 แม้ว่าจะผ่านมรสุมล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดก็ตาม
  • เทคโนโลยีจีนยังอยู่ในระดับต้น ๆ ของโลก จนกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐ ทั้งการส่งยานสำรวจไปดาวอังคาร พัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และเตรียมเปิดตัวแชตบอต AI เดือน มี.ค.ปีนี้

ท่ามกลางความตึงเครียดจีนสหรัฐ ไม่ว่าสงครามเทคโนโลยี ที่สหรัฐพยายามล็อบบี้ชาติพันธมิตรไม่ให้ส่งออกชิปไปยังจีน และเตรียมถอดหุ้นบริษัทจีนออกจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ หรือแม้แต่กรณีล่าสุด สหรัฐกล่าวหาจีนว่าส่งบอลลูนสอดแนมรุกล้ำน่านฟ้าสหรัฐ ทางการจีนตอบโต้ว่าเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐได้ส่งบอลลูนมากกว่า 10 ลูกรุกล้ำน่านฟ้าจีนเช่นกัน  

อย่างไรก็ตาม ในภาพความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจเศรษฐกิจของโลก กลับพบว่า เมื่อปี 2565 สหรัฐมีการนำเข้าสินค้าจากจีน 536,800 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6.3% จากปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน จีนก็นำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 153,800 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.6% จากปีที่แล้ว ส่งผลให้ยอดการค้าของทั้งสองประเทศพุ่งขึ้นเป็น 690,600 ล้านดอลลาร์

ยิ่งไปกว่านั้น ซีอีโอบริษัทตะวันตกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น Apple บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สหรัฐ, Volkswagen ผู้ผลิตรถเยอรมนี, Pfizer บริษัทยาและวัคซีนสหรัฐ, Benz บริษัทรถยนต์เยอรมนี, Fortescue Metals บริษัทแร่เหล็กออสเตรเลีย ฯลฯ ต่างมีแผนกลับไปเยือนจีนในเร็ว ๆ นี้ทั้งสิ้น

เปิด 4 ปัจจัย CEO ยักษ์ใหญ่ตะวันตก เริ่มกลับไปเยือนตลาดจีน

- ซีอีโอ Pfizer อัลเบิร์ต เบอร์ลา (เครดิต: AFP)  -

เริ่มจาก โอลิเวอร์ บลูม ซีอีโอรถ Volkswagen เป็นซีอีโอบริษัทตะวันตกยักษ์ใหญ่รายแรก ๆ ที่ไปเยือนจีนตั้งเเต่ทางการเปิดประเทศเต็มรูปแบบเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยเขาพักอยู่ที่จีน 5 วันตั้งเเต่ปลายเดือน ม.ค. ถึงต้นเดือน ก.พ. และได้เข้าพบหุ้นส่วนกิจการร่วมค้า เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีน เเละพนักงานบริษัท

ด้านทิม คุก ซีอีโอ Apple เเละอัลเบิร์ต เบอร์ลา ซีอีโอ Pfizer ก็มีเเผนเยือนจีนในเร็ว ๆ นี้ โดยทั้ง 2 คนกำลังพิจารณาเข้าร่วมการประชุมด้านเศรษฐกิจ China Development Forum 2023 ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 25-27 มี.ค.นี้ด้วย

แล้วอะไรเป็นสาเหตุดลใจให้ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทเหล่านี้เลือกกลับไปเยือนจีน ในช่วงที่จีนกับสหรัฐขัดแย้งกันอย่างรุนแรง

 

  • 4 ปัจจัยสำคัญที่ซีอีโอบริษัทตะวันตกไปเยือนจีนช่วงนี้

1. โอกาสทางธุรกิจหลังจีนเปิดประเทศ

ประเทศจีนมีประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน บริษัทใดที่เข้าไปทำธุรกิจในจีน และเจาะตลาดได้สำเร็จ แม้เพียงเมืองเดียวก็สร้างความมั่งคั่งทางธุรกิจได้

แม้ล่าสุด ประชากรจีนจะลดลงครั้งแรกในรอบ 60 ปี แต่จากข้อมูลสถาบันวิจัยจีน QuestMobile ที่มีลูกค้าเป็น HUAWEI, Baidu, Xiaomi, Alibaba ฯลฯ รายงานว่า ในปี 2565 สัดส่วนชนชั้นกลางใหม่ (อายุ 25-40 ปี และมีกำลังซื้อมากกว่า 1,000 หยวน) ในหมู่ประชากรจีนกลับเพิ่มขึ้น 15.6% เป็น 163 ล้านคนจากปี 2564 แม้ว่าจะผ่านมรสุมล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดก็ตาม

ชนชั้นกลางจีนที่มีกำลังซื้อสำคัญเหล่านี้ ถือเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ดังนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple หรือแม้แต่ผู้ผลิตวัคซีน mRNA อย่าง Pfizer ต่างต้องการเข้าถึงตลาดจีน เพราะการเติบโตของชนชั้นกลางจีนที่มีกำลังซื้อ เท่ากับเพิ่มการเติบโตของรายได้บริษัทเช่นกัน

ราล์ฟ แบรนด์สตัตเตอร์ (Ralf Brandstätter) หัวหน้าศูนย์บริษัทรถยนต์ Volkswagen ประจำจีน กล่าวว่า “มันชัดเจนว่าตลาดจีนมีความสำคัญกับเราเป็นอย่างยิ่ง”

ทั้งนี้ Volkswagen เป็นแบรนด์รถต่างประเทศที่ชาวจีนซื้อขับมากที่สุด เเละตลาดใหญ่ที่สุดของบริษัทคือจีน

2. ฐานการผลิตที่ขาดไม่ได้ของตะวันตก

ในปัจจุบัน หากต้องการผลิตสินค้าที่ทั้งถูกและมีคุณภาพ ประเทศที่ถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ คือจีน เนื่องจากจีนผ่านการเป็นฐานการผลิตของบริษัทตะวันตกมายาวนาน เป็นแรงงานทักษะปานกลางไปถึงระดับสูง มีโครงสร้างพื้นฐานการผลิตที่เพียบพร้อม รวมถึงจีนยังสามารถสร้างเทคโนโลยีของตัวเองได้อีก จึงสามารถผลิตสินค้าได้เกือบทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่สิ่งที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในราคาที่ต่ำกว่าผลิตในชาติตะวันตกด้วย

หากเปรียบเทียบกับอินเดียและเวียดนาม ศักยภาพในการผลิตและระบบรองรับใน 2 ประเทศนี้ ยังไม่สามารถสู้จีนได้ในขณะนี้ โดยต้องใช้เวลาในการวางโครงสร้างพื้นฐานและอบรมบุคลากร

มิเฮียร์ ชาร์มา (Mihir Sharma) นักเศรษฐศาสตร์และเป็นผู้อำนวยการ Observer Research Foundation ให้ความเห็นว่า อินเดียจำเป็นต้องเพิ่มทักษะแรงงาน และสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการทำธุรกิจมากขึ้น เพื่อแข่งขันกับชาติเอเชียอื่น ๆ ได้

ด้วยเหตุนี้ แม้บริษัทตะวันตกจะกระจายฐานการผลิตส่วนหนึ่งไปยังเวียดนามและอินเดียก็ตาม แต่ในด้านความเพียบพร้อมทางการผลิต จีนยังคงตอบโจทย์ได้มากกว่า

 

เปิด 4 ปัจจัย CEO ยักษ์ใหญ่ตะวันตก เริ่มกลับไปเยือนตลาดจีน

- โรงงานผลิตในจีน (เครดิต: AFP)  -

 

3. การพลิกนโยบายของจีนหันมาสนับสนุนบริษัทเทค

เมื่อช่วงจีนปิดเมืองช่วงโควิดที่ผ่านมา บรรดาบริษัทเทคโนโลยีจีน ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Tencent, Meituan ฯลฯ ต่างเผชิญมรสุมจากนโยบายคุมเข้มของรัฐบาล ให้มีการกระจายรายได้สู่สังคมมากขึ้น ทำให้ราคาหุ้นบริษัทเทคโนโลยีจีนปรับตัวลงอย่างรุนแรง กระทบผลประกอบการบริษัท

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถแข่งขันกับเทคโนโลยีสหรัฐได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่ซบเซากลับมา รัฐบาลจีนจึงปรับนโยบาย หันมาประกาศ “สนับสนุนบริษัทเทคโนโลยี” และเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนประกาศในงานประชุมโต๊ะกลม 1+6 ครั้งที่ 7 ที่ประชุมร่วมกับเหล่าผู้ว่าการธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) องค์การการค้าโลก (WTO) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ฯลฯ ว่า จีนพร้อมเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ และจะพุ่งเป้าหมายไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจแทน ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันเป็นมิตร แสดงว่า การปราบปรามหุ้นเทคโนโลยีได้จบสิ้นแล้ว และจีนกำลังจะเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เงินทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้าประเทศ โดยในเดือน ม.ค. 2566 เพียงเดือนเดียว มีเงินทุนไหลเข้าหุ้นจีนมากถึง 131,146 ล้านหยวน หรือกว่า 650,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินทุนไหลเข้าประเทศทั้งปี 2565

ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีจีนยังอยู่ในระดับต้น ๆ ของโลก จนกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐ เห็นได้จากการที่จีนสามารถส่งยานสำรวจไปดาวอังคารได้เป็นประเทศที่สองต่อจากสหรัฐ พัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง และล่าสุดกำลังจะเปิดตัวแชตบอต AI ในเดือน มี.ค.ปีนี้ต่อจากสหรัฐ ผลงานเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งดึงดูดบริษัทตะวันตกให้เข้าไปลงทุนในจีน

ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์กลางเพื่อความมั่นคงและเทคโนโลยีเกิดใหม่ (CSET) ระบุว่า นักลงทุนสหรัฐแห่นำเงินหลายพันล้านดอลลาร์เข้าลงทุนด้าน AI ในบริษัทต่าง ๆ ของจีน โดยนับตั้งแต่ปี 2558-2564 เกือบ 1 ใน 5 ของการลงทุนในบริษัท AI จีน เป็นของนักลงทุนสหรัฐ รวมไปถึงบริษัท Intel และ Qualcomm ก็เข้าลงทุนในบริษัท AI จีนด้วย

 

เปิด 4 ปัจจัย CEO ยักษ์ใหญ่ตะวันตก เริ่มกลับไปเยือนตลาดจีน

- หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน (เครดิต: AFP) -

 

4. จีนครองสัดส่วนแร่หายากสูงที่สุดในโลก

จีนเป็นประเทศที่ผลิตแร่หายาก (Rare Earth) สูงที่สุดในโลก โดยเป็นวัตถุดิบสำคัญต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมปิโตรเลียม, แบตเตอรี่ EV, โดรน, ระบบเรดาร์ ฯลฯ โดยครองส่วนแบ่งสูงถึง 60% ของกำลังการผลิตทั่วโลก

จากปัจจัย 4 ข้ออย่าง ตลาดที่ใหญ่ของจีนพร้อมชนชั้นกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ความพร้อมของฐานการผลิต นโยบายจีนหันมาสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยี และการครองแร่หายากมากที่สุดในโลก ทำให้ผู้บริหารบริษัทตะวันตกหลายรายต่างต้องการมาเยือนจีน เพื่อแสวงหาโอกาส และกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับจีนมากขึ้น

โดยเฉพาะในช่วงการประชุม China Development Forum 2023 ที่กำลังจะมาถึงระหว่างวันที่ 25-27 มี.ค. ที่กรุงปักกิ่ง เป็นการประชุมหารือในประเด็นเศรษฐกิจและการลงทุน ระหว่างรัฐบาลจีน บรรดานักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ผู้นำองค์การระหว่างประเทศ และนักวิชาการ เพื่อให้เกิดการกระชับความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย

 

อ้างอิง: walkthechat universalweather politico scmp scmp(2) bbc wsj reuters english.news.cn