กระแส ‘รถบินได้’ มาแรง! ช่วยรถติดได้จริง หรือแค่เพ้อฝัน?
รถบินได้กำลังมาแรง เมื่อบริษัทค่ายรถหลายประเทศต่างตบเท้าเข้าสู่สนามรถยนต์บินได้นี้ ภาพปัญหารถติดที่เคยชินจะคลี่คลายลงได้หรือไม่ และความท้าทายอะไรกำลังรออยู่สำหรับรถลอยฟ้านี้
Key Points
- การจะทำให้ภาพรถบินได้เกิดขึ้นได้จริง จำเป็นต้องอาศัยหลักใหญ่ 3 ข้อ ได้แก่ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ขับขี่ และเครื่องยนต์บินได้
- เมื่อเดือน ส.ค. ปี 2565 เกิดอุบัติเหตุ เครื่องบินเล็ก Cessna 152 ชนกับเครื่องบิน Cessna 340 ในสหรัฐ
- เมื่อเครื่องบินผ่านละแวกบ้านแม้เพียงลำเดียว จะก่อเสียงรบกวน และถ้าเป็นรถบินได้หลักร้อยคัน หลักพันคันสัญจรไปมา มลพิษทางเสียงจะเป็นความท้าทายใหญ่ขึ้นมา
- รถยนต์บินได้ XPeng ของจีน (เครดิต: XPeng) -
ภาพรถบินได้โฉบเฉี่ยวไปมา การสัญจรบนท้องฟ้าอาจเป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์ในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันภาพฝันดังกล่าวกำลังก่อร่างเป็นความจริงขึ้นมาทุกที เมื่อหลายบริษัททั่วโลกต่างตบเท้าเข้าสู่สนามนี้ เร่งพัฒนา “รถยนต์บินได้ (Flying Car)” ขึ้นมา รถบนถนนที่เปลี่ยนมาบินทะยานสู่ท้องฟ้าได้
- รถยนต์บินได้ SK Telecom ของเกาหลีใต้ (เครดิต: Arjun Kharpal/CNBC) -
ล่าสุด บริษัทด้านโทรคมนาคมเกาหลีใต้ SK Telecom ผลิตรถแท็กซี่บินได้ขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทาง ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 320 กม./ชม. โดยทางผู้บริหารตั้งเป้าหมายว่า ถ้าบริษัทสามารถพัฒนาแท็กซี่นี้ให้ปลอดภัย และมีเสถียรภาพในสาธารณะได้ภายในปี 2568 ก็จะมีส่วนช่วยให้รัฐบาลสามารถอนุญาตให้บริษัทขยายรถบินได้ไปทางการแพทย์ โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยวเพิ่มได้อีกด้วย
ในประเทศสโลวาเกีย บริษัท Klein Vision ผลิตรถบินได้ ผ่านการรับรองบินขึ้นบนฟ้าแล้ว บินได้ไกลถึง 1,000 กม. พร้อมติดตั้งร่มชูชีพที่ปลายท้าย ทำความเร็วบนอากาศสูงสุด 170 กม./ชม.
- รถยนต์บินได้ Klein Vision AirCar (เครดิต: บริษัท Klein Vision ) -
ที่ออสเตรเลีย บริษัท Airspeeder ผลิตรถแข่งบินได้ Mk4 รูปทรงคล้ายรถแข่ง Formula 1 แต่เหินฟ้าได้ ทำความเร็วสูงสุดที่ 360 กม./ชม. โดยจะเริ่มต้นทดสอบภายในปี 2567 ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย และทางบริษัทยังยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการโอลิมปิก เพื่อให้จัดการแข่งขันรถแข่งบินได้ในอนาคตด้วย
นอกจากนั้นยังมีโดรนแท็กซี่จีน EHang, รถ Xpeng, Terrafugia ของสหรัฐ, รวมถึงโครงการรถยนต์บินได้ของเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฯลฯ ก็มีแผนเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้
ภาพอนาคตที่วาดฝันอันใกล้คือ เมืองล้ำยุคที่มีรถลอยฟ้าอยู่ทั่วทุกหนแห่ง ชีวิตสัญจรไปมาเหนืออาคารสูง เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการเปลี่ยนจากรถที่ต้องติดขัดอยู่บนถนน ให้เปลี่ยนเป็นวิ่งบนท้องฟ้าแทน “จะเป็นไปได้จริงมากแค่ไหน และมีความท้าทายอะไรรออยู่เบื้องหน้าบ้าง”
- รถยนต์บินได้เป็นไปได้จริงมากเพียงใด?
การจะทำให้ภาพรถบินได้เกิดขึ้นได้จริง จำเป็นต้องมีหลักใหญ่ 3 ข้อดังนี้
1. ระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถบินได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่รองรับสำหรับทะยานขึ้นฟ้า ลงจอด จุดชาร์จแบตเตอรี่หรือจุดเติมเชื้อเพลิง จุดบำรุงรักษา หน่วยงานจัดระเบียบการบินไม่ให้เกิดอุบัติเหตุปะทะกันกลางอากาศ ฯลฯ
2. ผู้ขับขี่รถบินได้ ต้องผ่านการสอบจนมั่นใจว่าสามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
3. เครื่องยนต์ที่ใช้ขับ ต้องอยู่ในสภาพดี ผ่านการบินทดสอบในระยะเวลาที่กำหนดแล้วว่า ไม่พบปัญหาอันใด
- รถบินได้ขณะเข้าโค้ง (เครดิต: บริษัท Klein Vision ) -
ถึงแม้ว่ารถบินได้สามารถเป็นไปได้จริง หาก 3 สิ่งนี้ โครงสร้างพื้นฐาน ผู้ขับขี่ และเครื่องยนต์มีพร้อมก็ตาม แต่ก็มีความท้าทายอยู่หลายประการที่ทำให้ถูกมองว่า “รถบินได้อาจยังไม่สามารถแทนที่รถบนท้องถนนได้” เพราะเหตุผลดังต่อไปนี้
1. ระบบจราจรทางอากาศยังคงเกิดขึ้นได้ยาก เมื่อเทียบกับการสัญจรบนท้องถนน มีเลนรถ มีขอบทาง มีไฟแดง และไฟเขียวที่ทำให้เรารู้ขอบเขตได้ แต่บนอากาศกลับไม่มีสิ่งเหล่านี้ ถ้าจะทำให้เกิดสังคมรถบินได้ขึ้นมา จำเป็นต้องมีระบบ AI ที่จะจัดเที่ยวรถบินไม่ให้ชนกัน และความซับซ้อนทางปริมาณรถคงมากกว่าเครื่องบิน อีกทั้งยังมีเส้นทางโดรนส่งของเพิ่มเข้ามาอีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงไม่เหมือนรถบนท้องถนนที่ขับออกมาเมื่อใดก็ได้
2. อุบัติเหตุทางอากาศ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจากคนขับ เครื่องยนต์ขัดข้อง อย่างเหตุการณ์เครื่องบินชนกันระหว่างเครื่องบินเล็ก Cessna 152 กับเครื่องบิน Cessna 340 ในสหรัฐ เมื่อเดือน ส.ค. 2565 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย ซึ่งหากเกิดขึ้นอีกก็จะเป็นอันตรายยิ่งกว่าอุบัติเหตุบนถนน เพราะแรงโน้มถ่วงและอยู่สูงเหนือพื้นโลก
3. อาชญากรรมทางอากาศ บนท้องถนนมีขอบทาง อาคารในการเข้าปิดล้อม สกัดจับได้ แต่บนอากาศไม่มี นักบินสามารถออกนอกตารางบิน และทำในสิ่งที่เราไม่คาดฝันได้
4. การอบรมนักบิน ยาวนานและยากกว่าการขับรถถนน เพราะมีฟังก์ชันที่ซับซ้อนกว่ารถทั่วไป พื้นที่ใช้ฝึกก็ขนาดใหญ่กว่าด้วย
5. สภาพอากาศที่ต้องประสบ ไม่ว่าจะเป็นพายุฝน หิมะ ฝุ่น ฟ้าผ่า น้ำแข็งที่เกาะเครื่องบิน
6. ความปลอดภัยของระบบขับขี่อัตโนมัติ ด้วยการบังคับบินที่ยากกว่า ไม่มีเส้นขอบเขตให้เห็น จึงจำเป็นต้องมีระบบบินอัตโนมัติเข้ามา
อย่างไรก็ดี “ความท้าทาย” สำหรับรถยนต์บินได้คือ เสถียรภาพของระบบ และการทนทานต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นความกังวลเดียวกันกับรถยนต์ไร้คนขับบนท้องถนนด้วย
7. มลพิษทางเสียง ทุกครั้งที่เครื่องยนต์ทำงาน ประกอบกับใบพัดจะเกิดเสียงรบกวน ลองนึกถึงเสียงเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์บินผ่านหน้าบ้าน และหากจำนวนรถบินได้ไม่ได้มีเพียงคันเดียว แต่มีจำนวนหลักร้อย หลักพันบินผ่านละแวกบ้าน คงรบกวนความสงบไม่น้อย ดังนั้น ความฝันที่เราจะเห็นเมืองใหญ่มีพาหนะบินได้ทั่วทุกที่ รอบตึกระฟ้าไปมาเหมือนหนัง Sci-Fi อาจยังคงเป็นความท้าทายอยู่ในขณะนี้ เพราะมลพิษทางเสียงดังกล่าว
ขณะที่ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทรถ Tesla และบริษัทดาวเทียม Starlink แสดงความกังวลต่อรถยนต์บินได้ว่า อาจก่อให้เกิดลมและเสียงรบกวนแก่ผู้คนข้างล่าง อีกทั้งยังมีอันตรายจากเศษซากอุบัติเหตุบนท้องฟ้าที่ตกลงมาด้วย
- ฝูงรถยนต์บินได้ (เครดิต: CNBC ) -
8. ภาพทิวทัศน์ที่งดงามจะหายไป ลองนึกภาพชายหาดที่สวยงาม แต่มีตึกบังกะโลสร้างบดบังหมด ขณะเดียวกัน ภาพทิวทัศน์อันงดงามบนท้องฟ้าก็สามารถถูกบดบังด้วยฝูงรถบินได้เช่นกัน
9. ราคารถบินได้ ขณะนี้ราคายังยากที่จะเข้าถึงได้โดยคนทั่วไป อย่างรถบิน Terrafugia ของสหรัฐ ราคาขาย 4 แสนดอลลาร์ (ราว 15 ล้านบาท) รถบริษัท SkyDrive ของญี่ปุ่น ราคา 3-5 แสนดอลลาร์ (ราว 11-19 ล้านบาท)
10. จำนวนรองรับผู้นั่ง ขณะนี้ยังคงรับได้น้อย สูงสุดอยู่ที่ 2 คน เพราะข้อจำกัดด้านน้ำหนักในการบิน
อะซิส ทาฮิรี รองประธานบริษัทเทคโนโลยีความเป็นจริงดิจิทัล (Digital Reality) ด้านการบินที่ชื่อ Hexagon กล่าวว่า ในอนาคต รถยนต์บินได้จะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ เพียงแต่ข้อจำกัดคือ น้ำหนักของแบตเตอรี่ที่อาจขยายขึ้น เพื่อรองรับพลังงานในการบิน
โดยเฉพาะยิ่งแบตเตอรี่ขนาดใหญ่มากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนักการบิน และเพิ่มความร้อนสะสมบริเวณแบตเตอรี่ที่อาจเสี่ยงต่อไฟไหม้ได้
- รถยนต์บินได้ขณะพับปีกเข้าที่เดิม (เครดิต: บริษัท Klein Vision ) -
จากความท้าทายทั้ง 10 ข้อนี้ อาจสรุปได้ว่า “รถยนต์บินได้ยังไม่สามารถแทนที่รถบนท้องถนนแบบเดิมได้ในขณะนี้”
อย่างไรก็ตาม รถยนต์บินได้สามารถเป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับการขนส่งเร่งด่วนได้ เช่น การขนส่งผู้ประสบภัย ที่สามารถเข้าถึงผู้บาดเจ็บด้วยรถภาคพื้นดิน และแปลงร่างทะยานฟ้าขึ้นได้ทันที
แม้ว่ารถยนต์บินได้ จะเป็นเทรนด์อนาคตสำคัญ ที่ทำให้การเดินทางเข้าถึงง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่การนำมาใช้ในสาธารณะจำนวนมาก ยังคงเผชิญความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเสียงรบกวนชุมชน ความปลอดภัยในการบิน และการจัดระเบียบจราจรทางอากาศ ซึ่งยังคงต้องติดตามต่อไป
อ้างอิง: frontiersin architecturaldigest americanprogress verdict cnbc robbreport
businessinsider voathai