รับมือคลื่นทุนจีน โหมกระหน่ำประเทศไทย
ผู้ประกอบการไทยจะอยู่รอดได้จะต้องเร่งเครื่องปรับตัวอย่างเต็มที่ สร้างโมเดลธุรกิจที่แข่งขันได้ รวมถึงภาครัฐต้องกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าให้เป็นธรรม เพื่อให้รับมือกับแรงถาโถมของทุนจีนที่กำลังสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
หลังจากที่ประเทศจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เมื่อปี 2544 นับเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ประเทศจีนก้าวขึ้นมาเป็นโรงงานของโลก โดยเศรษฐกิจจีนส่วนหนึ่งขับเคลื่อนด้วยการผลิตและการส่งออกที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด และทำให้ประเทศจีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแซงหน้าประเทศญี่ปุ่นขึ้นมาได้
ในอดีตประเทศญี่ปุ่นถือเป็นชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน แต่ในปี 2562 เป็นครั้งแรกที่บริษัทจีนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 1 แซงหน้าประเทศญี่ปุ่น และกลับมายึดอันดับที่ 1 ได้อีกครั้งในปี 2565 จากการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ประเทศจีนมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเป็นผู้นำตลาดอีวีของโลก
การที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนมีสูงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของแรงผลักดันการออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยไม่เฉพาะการลงทุนภาคการผลิตที่นักธุรกิจจีนแสดงให้เห็นว่ามีเงินทุนและเทคโนโลยีจนสามารถแซงหน้าการลงทุนจากญี่ปุ่นได้ แม้แต่การลงทุนในภาคการค้าและบริการที่บริษัทจีนกำลังส่งออกเทคโนโลยีและบริการ โดยเฉพาะในธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ประเทศจีนสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับขึ้นมาเป็นผู้นำของในธุรกิจอีคอมเมิร์ซระดับโลกได้
การเข้ามาลงทุนในระบบโลจิสติกส์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ สะท้อนให้เห็นถึงพลังทุนและเทคโนโลยีจีนที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงอีโคซิสเต็มส์ในประเทศไทย หลังจากที่บริษัทจีนเข้ามาสร้างคลังสินค้าและนำเทคโนโลยีการจัดการโลจิสติกส์มาใช้ ซึ่งจะทำให้สินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยได้คล่องตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไทยทำได้เพียงการตั้งรับและควบคุมดูแลให้สินค้าที่เข้ามาจำหน่ายเป็นไปตามกฎหมายไทย เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มาตรฐานของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
แน่นอนว่าการเข้ามาของทุนจริงแสดงให้เห็นถึงพลังที่สามารถชนะเจ้าของตลาดรายเดิม ไม่ว่าจะเป็นทุนที่เข้ามาในภาคการผลิตที่สามารถแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นมาได้ รวมถึงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซและเทคคอมพานี ซึ่งการที่ผู้ประกอบการไทยจะอยู่รอดได้จะต้องเร่งเครื่องปรับตัวอย่างเต็มที่ สร้างโมเดลธุรกิจที่แข่งขันได้ รวมถึงภาครัฐต้องกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าให้เป็นธรรม เพื่อให้รับมือกับแรงถาโถมของทุนจีนที่กำลังสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น