'Gen Y' วัย 30 สร้างตัวยากกว่ารุ่นพ่อแม่ หนี้พุ่ง ติดหล่มเศรษฐกิจตกต่ำ

'Gen Y' วัย 30 สร้างตัวยากกว่ารุ่นพ่อแม่ หนี้พุ่ง ติดหล่มเศรษฐกิจตกต่ำ

ขยันให้ตายก็ไม่รวย! เมื่อมนุษย์ออฟฟิศ "Gen Y" วัย 30 ปีขึ้นไป สร้างเนื้อสร้างตัวได้ยากกว่ารุ่นพ่อแม่ เพราะติดหล่มเศรษฐกิจตกต่ำเรื้อรัง ที่จะส่งผลกระทบต่อการเงินของพวกเขาในระยะยาวไปจนถึง "วัยเกษียณ"

Key Points: 

  • คน Gen Y หรือคนรุ่นมิลเลนเนียล ติดหล่มภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าคนรุ่น Gen X และ Baby Boomer
  • คนรุ่นมิลเลนเนียลมีภาระหนี้พุ่งสูง ทั้งหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, หนี้บัตรเครดิต, สินเชื่อรถยนต์ แถมมีบ้านหลังแรกล่าช้ากว่าคนรุ่นก่อน
  • ชาว Gen Y อาจได้รับผลกระทบด้านเงินเกษียณด้วย มีรายงานจากเครือข่ายความปลอดภัยหลังเกษียณชี้ว่า คนรุ่นนี้มีแนวโน้มที่จะได้รับสวัสดิการจากประกันสังคมลดลง 20%

เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานบทวิเคราะห์จาก Business Inside ระบุว่า คนรุ่นมิลเลนเนียล (Gen Y) ในวัย 30 ปีขึ้นไปในสหรัฐ กำลังเผชิญหน้ากับปัจจัยด้านลบทางเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์ นับตั้งแต่ช่วงวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้พวกเขาจมอยู่กับภาระทางการเงิน หนี้สินท่วมตัว จึงสร้างเนื้อสร้างตัวได้ยากกว่าคนรุ่นก่อนๆ อย่าง Gen X และ Baby Boomer 

แม้นี่จะเป็นรายงานผลวิเคราะห์ของประชากรในสหรัฐอเมริกา แต่เชื่อว่าชาว Gen Y วัย 30+ ในประเทศไทย และอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็คงกำลังประสบปัญหาเดียวกันจากผลพวงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ไม่ว่าจะเป็น การมีรายจ่ายในการเลี้ยงลูกที่เพิ่มขึ้นของผู้ปกครองอายุน้อย เพราะต้องออกจากงานมาเลี้ยงลูก หรือถ้าใครยังมีงานทำอยู่ก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เช่น ค่าจ้างพี่เลี้ยงเด็ก ค่าสถานที่รับเลี้ยงเด็ก หรือค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์เสริมในการเรียนออนไลน์ ขณะที่พ่อแม่บางคนได้รับผลกระทบจากนายจ้าง บ้างก็ถูกลดเงินเดือน บ้างก็ตกงาน ทำให้การเงินในครอบครัวย่ำแย่เรื่อยมาและยังไม่ฟื้นตัว

นี่ยังไม่รวมถึงการก่อหนี้ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของชาว Gen Y และการเกษียณอายุของคนรุ่นมิลเลนเนียลอาจได้รับผลกระทบจากเงินสำรองในประกันสังคมที่มีแนวโน้มลดลงในอนาคต ..ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ลองมาทำความเข้าใจไปทีละข้อ ดังนี้

\'Gen Y\' วัย 30 สร้างตัวยากกว่ารุ่นพ่อแม่ หนี้พุ่ง ติดหล่มเศรษฐกิจตกต่ำ

 

  • คนรุ่นมิลเลนเนียลหนี้พุ่ง ทั้งหนี้กู้ยืมเรียน, หนี้บัตรเครดิต, สินเชื่อรถยนต์

มีรายงานจากว่า ชาวสหรัฐที่มีอายุระหว่าง 30 ถึง 39 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียล (Gen Y) มี "หนี้สิน" ประมาณ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์ ณ ไตรมาสที่ 4/2022 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 140 พันล้านดอลลาร์จากไตรมาสที่ 3/2022 หรือหากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อ 3 ปีที่แล้วพบว่า คนรุ่นนี้มีหนี้สินพุ่งสูงกว่าไตรมาสที่ 4/2019 อยู่ถึง 27%

การก่อหนี้สินหลักๆ มาจาก "หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา" เป็นสำคัญ ซึ่งหลังจากเรียนจบหนี้ก้อนนี้เป็นตัวขัดขวางการเติบโตทางการเงินของคนรุ่นมิลเลนเนียล โดยมากกว่า 1 ใน 3 ของลูกหนี้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษารายงานว่า หนี้ก้อนนี้ทำให้พวกเขาไม่สามารถซื้อบ้านได้ เป็นต้น

ไม่ใช่แค่นั้น มีรายงานด้วยว่าคนรุ่นนี้เป็น “หนี้บัตรเครดิต” และ “สินเชื่อรถยนต์” ก้อนโต โดยทั้งสองอย่างนี้ถือเป็น “ภาระหนี้สะสม” ที่สร้างความเครียดให้คนรุ่นมิลเลนเนียลไม่น้อย หลายคนเริ่มผิดนัดชำระหนี้เหล่านี้มากขึ้น แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้นในช่วง 1-2 ปีมานี้ ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นมิลเลนเนียลค่อนข้างหนัก

ด้าน Silvio Tavares ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Vantage Score (ระบบให้คะแนนเครดิตของผู้บริโภคในสหรัฐ) กล่าวว่า ช่วงนี้เห็นภาพ ‘ช่องว่างด้านสินเชื่อ’ เกิดขึ้น ในแง่ที่ว่าผู้กู้อายุน้อยและร่ำรวยน้อย กำลังได้รับแรงกดดันทางการเงินจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่แซงหน้ารายได้ของพวกเขา แต่สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นในหมู่ผู้กู้ที่มีอายุมากกว่าและมีฐานะร่ำรวย

 

  • ชาวมิลเลนเนียลมี “บ้านหลังแรก” ล่าช้ากว่าคนรุ่นก่อนๆ

รู้หรือไม่? ชาวมิลเลนเนียลเป็นรุ่นที่ต้องต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาหลายต่อหลายครั้ง (เทียบกับคน Gen X และ BabyBoomer) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่า พวกเขาไม่สามารถทำเงินได้มากพอที่จะซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัย มาปีนี้โควิดคลี่คลาย สถานการณ์การเงินเริ่มฟื้นตัว แต่กลายเป็นว่าช่วง 1-2 ปีมานี้ เป็นช่วงที่อสังหาริมทรัพย์ดีดราคาขึ้นสูง ทำให้คนรุ่นมิเลนเนียลหลายคนต้องชะลอแผนซื้อบ้านไปก่อน

จากข้อมูลของสำนักสำรวจสำมะโนประชากรในสหรัฐ ระบุว่า อัตราการเป็นเจ้าของบ้านในประชากรกลุ่มอายุ 35 - 44 ปี อยู่ที่ 62.2% ในไตรมาสที่ 4/2022 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 1999 ซึ่งเป็นยุคสมัยของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่อยู่ในช่วงอายุน้อย พบว่าในปีดังกล่าว อัตราการเป็นเจ้าของบ้านอยู่ที่ 67.0% ในไตรมาสที่ 1/1999 และเพิ่มขึ้นเป็น 67.9% ในไตรมาสที่ 4/1999

อีกทั้งจากการสำรวจของ Bank Rate พบว่า 4 ใน 10 ของคนรุ่นมิลเลนเนียลที่ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง กล่าวว่า สาเหตุที่พวกเขายังไม่มีบ้านหลังแรกก็เป็นเพราะบ้านมีราคาแพงเกินไป และพวกเขามีรายได้ไม่เพียงพอ

\'Gen Y\' วัย 30 สร้างตัวยากกว่ารุ่นพ่อแม่ หนี้พุ่ง ติดหล่มเศรษฐกิจตกต่ำ

 

  • คนรุ่นมิลเลนเนียลอาจได้รับเงินจาก "ประกันสังคม" ลดลงหลังเกษียณ

ไม่ใช่แค่สถานการณ์หนี้สินและรายได้ที่สวนทางกับภาวะเงินเฟ้อเท่านั้นที่ทำให้ชาว Gen Y ติดหล่มทางการเงิน แต่พวกเขาอาจได้รับผลกระทบด้านเงินเกษียณที่ลดลงด้วย ศูนย์วิจัยเพื่อการเกษียณอายุแห่งวิทยาลัยบอสตัน รายงานเรื่องนี้ไว้เมื่อปี 2021 โดยระบุว่า การเกษียณอายุของคนรุ่นมิลเลนเนียลในอนาคตอาจแตกต่างจากคนรุ่น Gen X และรุ่นเบบี้บูมเมอร์ 

เนื่องจากคนรุ่นมิลเลนเนียลมักทุ่มเงินจำนวนมากไปกับการซื้อรถ ซื้อบ้าน และการจัดงานแต่งงานที่หรูหรา โดยที่ไม่มีการวางแผนการออมเงิน พวกเขาจึงมีเงินออมน้อยเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ กลายเป็นว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลสะสมความมั่งคั่งได้ไม่ดีเหมือนรุ่นพ่อแม่ และถึงแม้ว่าจะมีหลายคนพยายามเก็บออมเงินเพื่อวัยเกษียณ แต่ก็มีหนี้สินมาฉุดรั้งการเงินของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีรายงานจาก HealthView Service เครือข่ายความปลอดภัยหลังเกษียณ ระบุว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลมีแนวโน้มที่จะได้รับสวัสดิการจากประกันสังคมลดลง 20% (ตามการคาดการณ์ของ SSA) คนรุ่นมิลเลนเนียลอายุ 35 ปีขึ้นไป โดยเฉลี่ยที่มีรายได้ 50,000 ดอลลาร์ในปี 2565 จะได้รับรายได้จากประกันสังคมต่อปีน้อยลง 13,500 ดอลลาร์ในปีแรกที่เกษียณอายุ และได้ผลประโยชน์ตลอดชีพลดลง 365,000 ดอลลาร์

ในขณะที่คน Gen Y อายุ 35 ปีขึ้นไปที่มีรายได้เฉลี่ย 100,000 ดอลลาร์ในปี 2565 จะได้รับเงินเกษียณจากประกันสังคมลดลงประมาณ 563,000 ดอลลาร์ ส่วนกลุ่มที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปที่ทำเงินได้ 150,000 ดอลลาร์ในปี 2565 จะได้รับเงินเกษียณจากประกันสังคมลดลงประมาณ 677,000 ดอลลาร์

เหล่านี้คือปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลกระทบต่อการสร้างเนื้อสร้างตัวของคนรุ่นมิลเลนเนียลโดยตรง ทำให้พวกเขาติดหล่มทางการเงิน และไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหน ทำหลายจ๊อบแค่ไหน แต่สำหรับหนุ่มสาวชาวออฟฟิศหลายคนก็ยังลืมตาอ้าปากได้ยากกว่าคนรุ่นพ่อแม่อยู่ดี

-------------------------------------

อ้างอิง : BusinessInsiderLibertyStreetEconomicscrr.bc.eduMillennials student debt, Benefits Retirees