จับตา! รถไฟส่งทุเรียนไทยสู่ตลาดจีน ล้อหมุนครั้งแรก 19 เม.ย.นี้
ผู้ว่าฯ จันทบุรี ประกาศกำหนดการ รถไฟส่งทุเรียนเที่ยวแรกในประวัติศาสตร์ เส้นทางเชื่อมมาบตาพุด-กวางโจวของจีน ล้อหมุนอย่างเป็นทางการ วันที่ 19 เม.ย.นี้
วันที่ 7 เม.ย.66 นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานเปิดงาน ROAD SHOW ส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทย ทางรถไฟ สู่ประเทศจีน พร้อมบรรยายส่งเสริมการส่งออก พื้นที่ภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “สถานการณ์การผลิต ทุเรียน และผลไม้ในฤดูกาลของภาคตะวันออก ปี 2566 และการเตรียมความพร้อมในการส่งออก” โดยมีบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิร่วมบรรยายให้ข้อมูล
ทั้งนี้ งานดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัท แพน-เอเชีย ซิลค์ โรด (PAS) กับกรมวิชาการเกษตร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท โกลบอล มัลติโมคัลโลจิสติกส์ จำกัด (GML) และมหาวิทยาลัยบูรพา (วิทยาเขตจันทบุรี) ซึ่งมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ สมาคม บริษัท และภาคประชาชน ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
สำหรับการขนส่งทางรถไฟ ไปยังประเทศจีน รวมถึงยุโรป นับเป็นหนึ่งในการขนส่งที่สำคัญของไทย และมีโอกาสในการส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดไปยังมณฑลต่าง ๆ ในจีน
บริษัท PAS จะเน้นให้บริการร่วมกับพันธมิตร ในการให้บริการ Door to Door หรือจากล้งทุเรียนถึงตลาดขายผลไม้ปลายทางที่ประเทศจีน รวมทั้งทำเอกสารพิธีการทางศุลกากรและเสียภาษีขาเข้า-ออกระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ PAS ได้จัดเตรียมตู้เย็นคอนเทนเนอร์สำหรับส่งออกผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และอาหารทะเลแช่แข็งทั้งปี แก่ผู้ส่งออกสู่ประเทศจีนในปี 2566 ประมาณ 700-1,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ที่สามารถใช้บริการขนส่งทางรถไฟตลอดเส้นทาง ระหว่างประเทศไทยสู่จีน มีเส้นทางดังนี้
- มาบตาพุด - คุนหมิง ใช้ระยะเวลา 3 - 4 วัน
- มาบตาพุด - ฉงชิ่ง ใช้ระยะเวลา 4-5 วัน
- มาบตาพุด - กวางโจว ใช้ระยะเวลา 5-6 วัน
เส้นทางเหล่านี้จะเริ่มให้บริการเดินรถไฟจากประเทศไทยทุกวัน ๆ ละ 1 ขบวน โดย 1 ขบวนจะบรรทุกตู้เย็นคอนเทนเนอร์ได้ 30 ตู้ และจะเพิ่มปริมาณขบวนรถไฟตามสินค้าผู้ส่งออก โดยตั้งเป้าปีนี้จะจัดรถไฟบรรทุกสินค้าขาขึ้นและขาลงระหว่างประเทศไทยและจีนให้ได้สูงสุด 4 ขบวนต่อวัน โดยมีขบวนวิ่งทุกวัน ภายใต้คำจำกัดความที่ว่า “ถูกกว่า เร็วกว่า ปลอดภัยกว่า”