Greedflation : สู่ยุค "กำไรล้ำ น้ำมันแพง ค่าแรงถูก" | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
หนึ่งในคำถามที่ผู้เขียนได้รับ คือเพราะเหตุใด ในยุคนี้ค่าครองชีพถึงได้แพงขึ้นอย่างรู้สึกได้ แต่รายได้ในกระเป๋าของคนชั้นกลางกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
คำตอบคือต้องย้อนกลับไปหลังเศรษฐกิจได้ผ่านพ้นไปจากวิกฤต Covid-19 ใหม่ ๆ ที่ประชาชนโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ที่ได้รับเงินอุดหนุนช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ไม่สามารถออกไปใช้จ่ายได้ในช่วง Lockdown สามารถกลับมาใช้จ่ายได้มากขึ้น ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกับที่ในช่วง Lockdown ฝั่งผู้ผลิตได้ปลดคนงานออกไปเนื่องจากผลิตไม่ได้ ทำให้แรงงานรวมถึงวัตถุดิบต่าง ๆ ขาดแคลน ไม่นับรวมสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ยิ่งขาดแคลน ดังนั้น เมื่อเงินมีมากขึ้น แต่ข้าวของและบริการมีน้อยลง จึงเกิดเงินเฟ้อขึ้น
เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในช่วงแรก โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว เป็นเงินเฟ้อจากต้นทุนการผลิตเป็นหลัก แต่เป็นเพราะธนาคารกลางต่าง ๆ ประมาทจนเกินไป คิดว่าเงินเฟ้อเป็นเพียงชั่วคราว (Transitory) และจะหายเองเมื่อกำลังการผลิตกลับมา จึงไม่รีบเร่งขึ้นดอกเบี้ย และ/หรือดูดเงินกลับ
เงินเฟ้อจึงเร่งตัวสูงขึ้นต่อ และเริ่มกระจายตัวเป็นวงกว้างขึ้น โดยส่งผลให้ธนาคารกลางต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐ (Fed) ที่ต้องกลับทิศและเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว และมีส่วนทำให้ธนาคารกลางที่อื่น ๆ ต้องเร่งขึ้นตาม (เพราะมิฉะนั้นจะเกิดความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยน)
ดอกเบี้ยสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินภาคธุรกิจเริ่มเพิ่มขึ้น และเมื่อผนวกกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากวัตถุดิบต่าง ๆ ทำให้ธุรกิจต้องปรับราคาสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้น ทำให้ค่าครองชีพเริ่มสูงขึ้น กดดันให้คนชั้นกลางและฐานรากในประเทศพัฒนาแล้วเริ่มลดการบริโภคลง
เศรษฐกิจจึงเริ่มมีสัญญาณชะลอลง ขณะที่ในประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย แม้จะไม่ได้รับผลรุนแรงเท่า แต่คนชั้นกลางและฐานรากก็เริ่มได้รับผลกระทบผ่านต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้นเช่นกัน
การบริโภคและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นในระยะต่อไป ประกอบกับดอกเบี้ยที่สูงจนทำให้เกิดวิกฤตภาคธนาคารในสหรัฐและยุโรป ทำให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตรหรือ OPEC+ เริ่มรับทราบว่าทางกลุ่มคาดการณ์ความต้องการน้ำมันทั้งโลกสูงเกินกว่าความเป็นจริง
จึงประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 ล้านบาร์เรล ในเดือน พ.ค. ซึ่งเมื่อรวมกับที่รัสเซียประกาศไว้ก่อนหน้าว่าจะลดกำลังการผลิต 5 แสนบาร์เรลต่อวัน ทำให้กำลังการผลิตลดเพิ่มเติมรวมประมาณ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันนับตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นไป หลังการประกาศ ราคาน้ำมันปรับขึ้นทันที 5-6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และทรงอยู่ในระดับนั้น
แม้ราคาจะไม่ได้ปรับขึ้นมาก และดูเหมือนว่าการปรับลดกำลังการผลิตครั้งนี้เป็นเพียงการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่จะชะลอลง แต่การปรับลดกำลังการผลิต (ซึ่งในทางปฏิบัติคือการปรับขึ้นราคาน้ำมันนั่นเอง) ท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลง ไม่ต่างอะไรกับการขึ้นภาษีให้กับผู้บริโภคที่ไม่มีทางเลือก
ภาพเช่นนี้สอดคล้องกับที่ Albert Edwards นักกลยุทธ์ของสำนักวิจัย Societe Generale SA เรียกว่า "Greedflation" หรือภาวะ "เงินเฟ้อจากความโลภของบริษัท" โดยการคำนวณของ Edwards จากข้อมูลของทางการสหรัฐ พบว่ากำไรต่อหน่วยของบริษัทในสหรัฐยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนแทบจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ในขณะที่ต้นทุนต่อหน่วย (ทั้งค่าจ้างและวัตถุดิบอื่น ๆ) ของบริษัทไม่ได้สูงขึ้นมากนัก ซึ่งนั่นหมายความว่าบริษัทใช้ข้ออ้างของช่วงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เร่งขึ้นราคาสินค้าสูงกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้กำไร (หรือ Profit margin) เพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งในมุมนี้ Edwards มองว่าน่ากังวลมาก และระบุว่าทางการต้องเข้ามาจัดการกับ Greedflation นี้ (ด้วยการควบคุมราคาไม่ให้แพงขึ้น) มิฉะนั้นระบบทุนนิยมอาจจะถึงจุดจบ
ภาพเช่นนี้สอดคล้องกับยุโรป ที่แม้ว่าค่าจ้างจะปรับตัวสูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 5.1% ต่อปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับเงินเฟ้อยุโรปที่อยู่ในระดับสูงกว่า 6.9% ต่อปี
งานวิจัยจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นราคาของผู้ผลิตสูงกว่าค่าจ้าง ทำให้ได้กำไรสูงขึ้น ในธุรกิจหลายภาคส่วน เช่น การผลิต การก่อสร้าง การค้า การขนส่ง ที่พัก และบริการอาหาร
ทั้งนี้ หลายฝ่ายกังวลว่าการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและอาหารหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะทำให้บริษัทต่าง ๆ ฉวยโอกาสขึ้นราคา นำไปสู่ภาวะ “Profit-price Spiral” หรือกำไรทำให้ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แทนที่จะเป็นค่าจ้างทำให้ราคาเพิ่มขึ้นหรือ Wage-price Spiral
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทย โชคดีที่การดูแลราคาสินค้าจำเป็นของกระทรวงพาณิชย์มีประสิทธิภาพ ประกอบกับการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีของผู้ผลิตไทย
ทำให้การส่งผ่านของราคาจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าราคาที่ถูกปรับขึ้นมาระลอกหนึ่งแล้วนั้น สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หรือจะทำให้กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทย แม้จะไม่มีผลจาก Greedflation แต่เศรษฐกิจก็มีแนวโน้มจะชะลอลงมากขึ้นนั้น เป็นผลจากนโยบายการเงินตึงตัวเป็นหลัก
โดยหากพิจารณาจากรายงานเสถียรภาพทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว จะพบว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอลงชัดเจน จากการคืนหนี้ของสินเชื่อรายใหญ่ และสินเชื่อ Soft loan
แต่น่าสนใจว่าทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนั้น หากพิจารณาคุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคผ่านตัวเลข NPL พบว่าแย่ลงเช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ และความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจ ผ่าน Interest Coverage Ratio: ICR และ Operating profit margin: OPM จะพบว่าภาคการผลิตไทยน่าเป็นห่วงมากขึ้น
ผลจากการส่งออกและภาคการผลิตที่หดตัว (และมีแนวโน้มจะหดตัวมากขึ้น) ทำให้รายได้ชะลอลง ขณะที่แรงกดดันด้านต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งนั่นหมายถึงการขึ้นค่าแรงจะทำได้ยากมากขึ้น
ในระดับโลก เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับภาวะ Greedflation ชัดเจน ขณะที่ในไทย แม้จะยังไม่เห็นสัญญาณของ Greedflation ชัดเจน แต่ทั้งผู้ผลิตและประชาชนก็เผชิญกับภาวะ “ต้นทุนแพง ค่าแรงถูก” อย่างโจ่งแจ้งแล้ว
คนชั้นกลาง และประชาชนคนเดินดินทั้งหลาย โปรดทำใจ.
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่