เปิด 4 จุดเด่น ‘ตลาดอินเดีย’ ว่าที่ ‘ลูกรัก’ แทน ‘จีน’ ของแบรนด์ต่างชาติ

เปิด 4 จุดเด่น ‘ตลาดอินเดีย’ ว่าที่ ‘ลูกรัก’ แทน ‘จีน’ ของแบรนด์ต่างชาติ

ขณะนี้ “อินเดีย” กลายเป็นประเทศน่าดึงดูดสำหรับบริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดของโลกอย่าง “Apple” อะไรทำให้อินเดีย “สำคัญมาก” และ “มีศักยภาพ” ต่อธุรกิจของ Apple รวมไปถึงบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่รายอื่น ๆ

Key Points

  • ข้อมูลจากยูเอ็นระบุว่า อินเดียได้พลิกขึ้นมามีประชากรมากที่สุดในโลกแซงจีนอย่างเป็นทางการแล้วที่ 1,428 ล้านคน กลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกแทนจีน
  • อินเดียมีประชากรวัยหนุ่มสาวมากที่สุดในโลก ประมาณ 66% (กว่า 808 ล้านคน) ของประชากรทั้งประเทศ มีอายุต่ำกว่า 35 ปี
  • “อินเดีย” อาจเป็นหลุมหลบภัยทางความขัดแย้งที่ดีกว่าจีน เพราะรัฐบาลวางนโยบายต่างประเทศแบบ “เป็นกลาง”


เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ทิม คุก (Tim Cook) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท Apple Inc. ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสหรัฐและผู้ผลิตมือถือ iPhone ได้ร่วมพิธีเปิดร้าน “Apple Store” สาขาแรกในอินเดีย ที่นครมุมไบ โดยเขารับหน้าที่เปิดประตูต้อนรับลูกค้าด้วยตนเอง ท่ามกลางเสียงเชียร์ของเหล่าพนักงาน

 

เปิด 4 จุดเด่น ‘ตลาดอินเดีย’ ว่าที่ ‘ลูกรัก’ แทน ‘จีน’ ของแบรนด์ต่างชาติ

- ทิม คุกรับหน้าที่เปิดประตูต้อนรับลูกค้าด้วยตนเอง ท่ามกลางเสียงเชียร์ของเหล่าพนักงาน (เครดิต: Reuters) -

 

เปิด 4 จุดเด่น ‘ตลาดอินเดีย’ ว่าที่ ‘ลูกรัก’ แทน ‘จีน’ ของแบรนด์ต่างชาติ

- ลูกค้าชาวอินเดียกับ iPhone ของเขา (เครดิต: Reuters) -

 

คุก กล่าวสุนทรพจน์ว่า “อินเดียมีวัฒนธรรมอันสวยงาม และมีพลังอันน่าเหลือเชื่อ พวกเราตื่นเต้นในการสร้างประวัติศาสตร์อันยาวนานของเรา สนับสนุนลูกค้า ลงทุนในชุมชนท้องถิ่น และทำงานร่วมกันเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า”

นอกจากสาขาในมุมไบแล้ว Apple ได้เปิด Apple Store แห่งที่สองในอินเดียที่กรุงนิวเดลี ในวันนี้ (20 เม.ย.) ด้วย

นอกจากนี้ คุกได้เข้าพบนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียเมื่อวันพุธ (19 เม.ย.) โดยทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันที่จะยกระดับเทคโนโลยีในอินเดียไปด้วยกัน ตั้งแต่ด้านการศึกษา การผลิต ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม

ความเคลื่อนไหวนี้กำลังทำให้หลายฝ่ายจับตามองท่าทีของรัฐบาลอินเดียและบริษัท Apple และตั้งข้อสังเกตว่า “ทำไมอินเดียถึงมีความสำคัญอย่างมาก” ต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะกับ Apple

เปิด 4 ปัจจัย ทำไม Apple ให้ความสำคัญอินเดีย

  • 1. กระจายความเสี่ยงทางห่วงโซ่อุปทาน

บริษัท Apple มีฐานการผลิตในจีนมายาวนาน อีกทั้งยังเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับบริษัท Foxconn ซัพพลายเออร์รายใหญ่ในไต้หวัน ซึ่งตั้งโรงงานหลายแห่งในจีน และรับจ้างผลิตมือถือ iPhone ให้ Apple

ปัจจุบัน iPhone สามารถครองส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนในจีนสูงถึง 18% ซึ่งชาวจีนมองว่า iPhone เป็นมือถือระดับพรีเมียม เป็นของขวัญแบรนด์หรู โดยรายงาน Hurun Report Chinese Luxury Consumer Survey ปี 2561 ของสถาบัน Hurun Research Institute ระบุว่า Apple ครองอันดับหนึ่ง ของขวัญแบรนด์หรูที่ชายจีนนิยมซื้อฝากมากที่สุด และตามมาด้วยแบรนด์ Louis Vuitton, Chanel ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะเป็นตลาดใหญ่ของ Apple แต่ก็มี “ความเสี่ยงทางการเมือง” ไม่ว่าจะเป็น การจัดระเบียบกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Alibaba บริษัทอีคอมเมิร์ซ, Tencent บริษัทไอทียักษ์ใหญ่, Didi บริษัทบริการรถแท็กซี่ ฯลฯ ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมจีน จนกระทบผลประกอบการของเหล่าบริษัทเทคโนโลยี และทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง

นอกจากนี้ มาตรการปิดเมืองของจีนต่อโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้บริษัท Foxconn ต้องปฏิบัติตามข้อระเบียบควบคุมการแพร่ระบาด กระทบอุปทาน iPhone ที่จะส่งมอบให้ Apple เหล่านี้ถือเป็นความเสี่ยงทางการเมืองต่อภาคธุรกิจ ที่ทำให้ Apple เลือกกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานจากจีนมาทางอินเดียมากขึ้น

 

  • 2. ชนชั้นกลางกำลังเติบโต

ข้อมูลจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 เม.ย. ระบุว่า อินเดียได้พลิกขึ้นมามีประชากรมากที่สุดในโลกแซงจีนอย่างเป็นทางการแล้วที่ 1,428 ล้านคน และอินเดียซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นประเทศยากจน ก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มชนชั้นกลาง

 

เปิด 4 จุดเด่น ‘ตลาดอินเดีย’ ว่าที่ ‘ลูกรัก’ แทน ‘จีน’ ของแบรนด์ต่างชาติ

- ชาวอินเดียจำนวนมากยืนรอรถไฟอย่างแน่นขนัดที่ชานชาลาของสถานีรถไฟในนครมุมไบ (เครดิต: AFP) -

 

ข้อมูลจาก World Data Lab คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตชนชั้นกลางอินเดีย จะอยู่ที่ 8.5% ไปจนถึงปี 2573 ที่ทำให้อินเดียมีจำนวนชนชั้นกลางมากกว่า 800 ล้านคน กลุ่มนี้สามารถเป็นกำลังซื้อสำคัญของผลิตภัณฑ์ Apple และแบรนด์อื่น ๆ ได้

ยิ่งไปกว่านั้น อินเดียยังมีประชากรวัยหนุ่มสาวมากที่สุดในโลก โดยข้อมูลจากยูเอ็น ระบุว่า ประมาณ 66% (กว่า 808 ล้านคน) ของประชากรทั้งประเทศ มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งแรงงานวัยหนุ่มสาวที่ขยายตัวนี้จะเป็นผลดีต่อโรงงานของบริษัทต่างชาติ

 

เปิด 4 จุดเด่น ‘ตลาดอินเดีย’ ว่าที่ ‘ลูกรัก’ แทน ‘จีน’ ของแบรนด์ต่างชาติ

- หญิงสาวอินเดียกำลังเลือกซื้อเครื่องประดับทองคำที่ห้างแห่งหนึ่ง (เครดิต: AFP) -

 

  • 3. หลุมหลบภัยความขัดแย้งมหาอำนาจ

โลกในปัจจุบันกำลังแบ่งขั้วมากขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างขั้วจีนกับขั้วสหรัฐ ทั้งสองมหาอำนาจต่างตอบโต้กันทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐประกาศแบนโดรน DJI ของจีน เตรียมแบน Tiktok แอปโซเชียลมีเดียวิดีโอสั้น ปิดกั้นการส่งออกชิปสำคัญให้จีน ขณะเดียวกัน จีนก็ตอบโต้ด้วยการทบทวนการนำเข้าชิป Micron จากสหรัฐ

เมื่อความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจมีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้บริษัท Apple อยู่ในสถานะวางตัวลำบาก เนื่องจากเป็นบริษัทสหรัฐ และยังพึ่งพาฐานการผลิตและลูกค้าจากจีนเป็นหลัก

ดังนั้น ประเทศที่อาจเป็นหลุมหลบภัยทางความขัดแย้งที่ดีกว่าจีน คือ “อินเดีย” เพราะรัฐบาลวางนโยบายต่างประเทศแบบ “เป็นกลาง” อยู่ในองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจที่มีจีนเป็นแกนนำ และอยู่ในกลุ่มควอด (QUAD) ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านความมั่นคง 4 ฝ่ายที่สหรัฐเป็นผู้นำด้วย

 

  • 4. ตลาดอินเดียยังเติบโตได้อีก

ในขณะที่ Apple ครองส่วนแบ่งตลาดในจีนที่ 18% แต่สำหรับอินเดียนั้น Apple ครองในสัดส่วนต่ำกว่า 5% จึงยังมีพื้นที่ให้บริษัทเติบโตได้อีก โดยอันเจโล ไซโน (Angelo Zino) นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งสถาบันวิจัย CFRA ให้ความเห็นว่า ถ้ามองอินเดียในปัจจุบัน จะคล้ายกับจีนสมัยเมื่อ 15-20 ปีที่แล้ว สะท้อนว่าอินเดียในปัจจุบันยังมีพื้นที่สำหรับภาคธุรกิจในการขยายและเติบโตต่อได้อีก

 

เปิด 4 จุดเด่น ‘ตลาดอินเดีย’ ว่าที่ ‘ลูกรัก’ แทน ‘จีน’ ของแบรนด์ต่างชาติ

- ลูกค้าชาวอินเดียข้างร้าน Apple Store (เครดิต: Reuters) -

 

โอกาสในตลาดอินเดียจึงต่างกับกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว ประชาชนสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างถ้วนหน้า จนอาจทำให้พื้นที่การเติบโตทำได้น้อยกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างอินเดีย และจากปัจจัยทั้ง 4 ข้อนี้ จึงทำให้อินเดียมีความสำคัญต่อธุรกิจต่างชาติ รวมถึงบริษัท Apple 

อย่างไรก็ตาม Apple ยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายด้านในการเจาะตลาดอินเดีย เพราะแม้ว่าชนชั้นกลางอินเดียกำลังเติบโต สวนทางกับประชากรจีนที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่การเติบโตของชนชั้นกลางอินเดียก็ไม่ได้รวดเร็วดังใจหมาย และยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ของบริษัท IDC ในเดือน ก.พ. ระบุว่า ราคาเฉลี่ยสมาร์ทโฟนที่ขายในอินเดียส่วนใหญ่อยู่ที่ 224 ดอลลาร์หรือ 7,700 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 18% ในปี 2565 ราคาเฉลี่ยนี้ยังถูกกว่า iPhone รุ่นราคาประหยัดอย่าง iPhone SE ที่ขายในราคา 429 ดอลลาร์หรือ 14,800 บาทในสหรัฐ

อีกทั้ง Apple กำลังเผชิญคู่แข่งทั้งจากค่ายสมาร์ทโฟนเกาหลีใต้อย่าง Samsung และจีนอย่าง Xiaomi ซึ่งอยู่ในกลุ่มค่ายมือถือระบบปฏิบัติการ Android ที่ครองตลาดอินเดียสูงถึง 95%

ดังนั้น Apple จึงจำเป็นต้องงัดกลยุทธ์อย่าง การลดราคามือถือ หรือแม้แต่เปิดทางเลือกให้ชาวอินเดียผ่อนซื้อ iPhone ในเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นกว่าประเทศอื่น ๆ เพื่อทำให้ชาวอินเดียสามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น

ทิม คุก ให้ความเห็นต่อกลยุทธ์นี้ว่า มีทางเลือกทางการเงินมากมาย รวมไปถึงการนำผลิตภัณฑ์เก่ามาแลกซื้อผลิตภัณฑ์ Apple ใหม่ในราคาส่วนลด ทำให้ชาวอินเดียเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ Apple ได้ง่ายขึ้น

เป็นที่น่าสนใจว่า Apple จะสามารถเจาะตลาดอินเดียได้หรือไม่ กลยุทธ์ของ Apple ต่อจากนี้จะเป็นการแข่งขันด้านราคาเพื่อชิงส่วนแบ่งจากเจ้าตลาดเดิมอย่าง Xiaomi ด้วยการออกผลิตภัณฑ์มือถือราคาถูกออกมาสู้ หรือว่าเน้นจับกลุ่มพรีเมียมที่กำลังเติบโตจากชนชั้นกลาง โดยเน้นกำไรต่อเครื่องมากกว่าการชิงส่วนแบ่งการตลาด

สิ่งที่น่าจับตาต่อคือ การรุกคืบของ Apple บริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดในโลกมายังอินเดีย พร้อมจุดเด่นของอินเดีย 4 ข้อนี้ กำลังจะเป็น “ตัวเเปรสำคัญ” ที่ทำให้บริษัทต่างชาติรายอื่นหันมากระจายธุรกิจมายังอินเดียมากขึ้นหรือไม่

อ้างอิง: cnbccnnchinadailyworlddataILOeconomictimesbloomberg