‘ลงทุนเชิงโครงสร้าง’ นโยบายที่ควรสนใจ
การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววัน คือบันไดขั้นแรกที่จะกำหนดชะตาประเทศในอีก 4 ปีข้างหน้า
พรรคการเมืองที่ดีนอกจากจะชูเรื่องของอุดมการณ์พรรคและตัวบุคคลแล้ว แนวนโยบายก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรคำนึงถึง นโยบายที่จะช่วยให้ชีวิตคนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสามารถทำได้จริงก็เคยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคการเมืองชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายมาแล้ว
เป็นการยากมากที่จะตัดสินว่า นโยบายใดเป็นนโยบายที่ดีหรือเลวด้วยข้อจำกัดเรื่องของข้อมูล การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ง่ายและมีคำตอบที่ตายตัว ทั้งรัฐบาล ข้าราชการ เทคโนเครต นักวิชาการ หรือแม้กระทั่งแบงก์ชาติเอง ก็ล้วนเคยเสนอนโยบายที่เคยคิดว่าดีที่สุดในยุคนั้น ซึ่งก็ปรากฏผลต่อมาในภายหลังว่านโยบายนั้นมีข้อเสียมากกว่าข้อดี
แต่หนึ่งในนโยบายที่นักวิชาการและสถาบันที่มีชื่อเสียงทั่วโลกต่างเห็นตรงกันว่า เป็นการใช้งบประมาณที่ดีมีเหตุผลและก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวได้ นั่นคือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งก็เคยปรากฏให้เห็นเป็นกรณีศึกษาแล้วทั้งในไทยและต่างประเทศอย่าง ญี่ปุ่น หรือจีน ที่สามารถช่วยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง
การลงทุนในโครงสร้างสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย ก็ไม่ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น ที่มักลงทุนในการสร้าง ปรับปรุง พัฒนา โครงการขนาดใหญ่ อาทิ ถนนหนทาง รางรถไฟ สะพาน ท่าเรือ สนามบิน โรงไฟฟ้า เครือข่ายไร้สาย หรือแม้กระทั่งปรับปรุงหรือสร้างเมืองใหญ่
การลงทุนขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจคเหล่านี้ใช้เงินมหาศาลเกินกว่างบประมาณรายปีของรัฐ ทั้งรัฐไทยและต่างประเทศ จึงนิยมการตั้งงบประมาณแบบผูกพัน และก็มักจะอาศัยการกู้ยืมจากต่างประเทศ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติ
ไทยเรานั้นมีอัตราการใช้งบประมาณในการลงทุนพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ประมาณ 3% ของ GDP เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น แต่ข้อแตกต่างอย่างชัดเจนคือ ญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่ค่าเฉลี่ยการลงทุนในส่วนนี้ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7% เรียกได้ว่าสูงกว่าค่ากลาง
ขณะที่ประเทศไทยที่ลงทุนด้านนี้ที่ 3% นั้นต่ำกว่าค่ากลางของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ค่อนไปในทางสูงที่ 3.6% และการทำให้ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สุดก็คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไทยเรายังด้อยกว่าประเทศในกลุ่มเดียวกัน พูดง่าย ๆ ว่า อัตราการวิ่งของเรานั้นไม่ทันประเทศอื่นและมีแนวโน้มที่จะโดนคนอื่นแซงหน้า
การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้ดูแค่เปอร์เซ็นต์ของ GDP แต่แท้จริงแล้วดูที่เม็ดเงิน ดังนั้น 3% ของ GDP ญี่ปุ่นที่ 5 ล้านล้านดอลลาร์ จึงไม่เท่ากับ 3% ของ GDP ไทยที่ 5 แสนล้านดอลลาร์ หากคิดเร็ว ๆ งบลงทุนด้านนี้ของเรานั้นต่างกับญี่ปุ่นอยู่ถึง 10 เท่า
ประเทศที่พัฒนาแล้วมีแรงกดดันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่น้อยกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ทางออกหนึ่งก็คือการช่วยเหลือประเทศพันธมิตรภายในห่วงโซ่อุปทาน ให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น ภายใต้ความเชื่อที่ว่า จะเกิดผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองต่อประเทศพัฒนาผู้ให้ความช่วยเหลือ
จึงเกิดเป็นโครงการช่วยเหลือต่าง ๆ อาทิ โครงการ One Belt One Road ของจีนที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือนานาประเทศ โดยเฉพาะในแถบแอฟริกา เป็นต้น
ดังนั้น นโยบายการต่างประเทศ การลงทุนจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่านโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งคนไทยสมควรให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน