‘Apple’ รักษาความลับธุรกิจอย่างไร จนไม่มีใครเลียนแบบ ‘iOS’ ได้
บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Apple ซึ่งมีชื่อเสียงในการรักษาความลับขั้นสุดยอด มีวิธีเก็บความลับทางธุรกิจอย่างไรในการสร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ จนขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก
Key Points
- ตัวต้นแบบสมาร์ทโฟนที่นักพัฒนาทดลองใช้ จะมีการใส่เคสอีกสีหนึ่งครอบไว้ เพื่อไม่ให้นักพัฒนาทราบว่า iPhone รุ่นที่จะเปิดตัวนี้มีสีอะไร และลักษณะเครื่องเป็นอย่างไร
- เอ็ดเวิร์ด ไอเกอร์แมน อดีตวิศวกรบริษัท Apple ถูกทางบริษัทไล่ออกเมื่อปี 2548 เพราะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เพื่อนร่วมงานทำข้อมูลซอฟต์แวร์ตัวใหม่รั่วไหล
- บริษัทสหรัฐ GT Advanced Technologies ผู้ผลิตกระจกต้านรอยขีดข่วน เคยมีสัญญาลับกับ Apple ว่า จะต้องชดใช้เงินราว 1,700 ล้านบาทต่อครั้งหากทำข้อมูลลับที่เกี่ยวกับ Apple รั่วไหลออกมา
Apple บริษัทนวัตกรรมของสหรัฐที่มีมูลค่าแบรนด์สูงที่สุดในโลก เจ้าของมือถือ iPhone ที่มีระบบปฏิบัติการ “เจ้าเดียวที่ไม่มีใครเหมือน” อย่าง iOS ที่รวดเร็ว ใช้งานง่ายอันเป็นจุดแข็งสำคัญของ Apple เมื่อเทียบกับคู่แข่งมือถืออย่าง Samsung, Sony, Oppo, Huawei, Xiaomi, ฯลฯ ที่ล้วนใช้ระบบปฏิบัติการ Android
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อหวนนึกถึงตอน Apple เปิดตัวมือถือใหม่ โดยเฉพาะจากสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ซีอีโอผู้ล่วงลับของ Apple ก็มักสร้างความอัศจรรย์ใจแก่กลุ่มลูกค้าเสมอ ซึ่งการที่ Apple จะประสบความสำเร็จเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องเก็บความลับผลิตภัณฑ์ยาวนานเป็นปี จนกลายเป็น “วัฒนธรรมองค์กร”
ดังนั้น จากระบบปฏิบัติการ iOS ถึงทุกวันนี้ที่ยังไม่มีใครเลียนแบบได้ ไปจนถึงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ล้ำสมัยอันแปลกใหม่ จึงน่าสนใจว่า Apple มีวิธีรักษาความลับบริษัทอย่างไร
- มือถือ iPhone (เครดิต: บริษัท Apple) -
5 วิธีรักษาความลับของ Apple
- 1. ห้องทำงานลับสุดยอด
อดีตพนักงานบริษัท Apple รายหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าว The New York Times ว่า พนักงานที่ต้องทำงานในส่วนข้อมูลละเอียดอ่อน จำเป็นต้องผ่านประตูรักษาความปลอดภัยหลายแห่ง สแกนบัตรพร้อมโค้ดลับตามระดับการเข้าถึง โดยแต่ละจุดจะมีกล้องบันทึกการเข้าออกของพนักงานไว้
เมื่อเข้าถึงห้องปฏิบัติงาน (แล็บ) จะมีการคลุมผ้าดำปิดอุปกรณ์ที่อยู่ระหว่างทดลอง อีกทั้งห้องแล็บจะไม่มีกระจกหรือหน้าต่าง หรือหากมีก็จะเป็นกระจกเบลอ จนถูกเรียกว่า “ห้องล็อกดาวน์” ที่ป้องกันไม่ให้ข้อมูลอ่อนไหวเล็ดลอดออกไปได้ หากไม่มีเหตุผลสมควร
- ระบบปฏิบัติการ iOS ของ iPhone (เครดิต: บริษัท Apple) -
- 2. แยกจิ๊กซอว์พนักงานออกจากกัน
อดัม ลาชินสกี (Adam Lashinsky) อดีตบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร Fortune และผู้เขียนหนังสือ “Inside Apple: How America's Most Admired — and Secretive” ระบุว่า เมื่อ Apple เปิดรับสมัครพนักงานใหม่ โดยเฉพาะตำแหน่งสำคัญอย่าง “วิศวกร”
- หนังสือ Inside Apple: How America's Most Admired — and Secretive (เครดิต: บริษัท Amazon) -
บริษัทจะไม่แจ้งรายละเอียดความรับผิดชอบอย่างชัดเจน จนกว่าพนักงานจะเซ็นสัญญากับบริษัทแล้ว และในระหว่างการทำงาน บริษัทจะจัดสรรให้พนักงาน “ทำเฉพาะหน้าที่ตัวเอง” ไม่ให้เกี่ยวข้องกับแผนกอื่น
ยกตัวอย่างเช่น iPhone 1 เครื่อง ประกอบด้วยอุปกรณ์หลายชิ้น ซอฟต์แวร์หลายส่วน ดังนั้น การแยกส่วนหน้าที่ออกจากกันอย่างเด็ดขาดของ Apple จึงทำให้พนักงานไม่รู้ว่า ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายจะออกมาในลักษณะใด หน้าตาแบบไหน
เปรียบดั่งการถ่ายทำภาพยนตร์หรือซีรีส์ โดยเฉพาะ “ฉากจบ” จะถูกถ่ายทำหลายรูปแบบเตรียมไว้ จนแม้แต่ช่างภาพและนักแสดงก็ไม่รู้ว่าฉากจบที่แท้จริงคือฉากอะไร
- 3. ลงดาบพนักงาน หากทำข้อมูลรั่วไหล
หากพนักงาน Apple ทำข้อมูลสำคัญของบริษัทหลุดรอดสู่สาธารณะ อาจถูกลงโทษหนักถึงขั้นไล่ออก หรือขั้นสูงสุดคือ ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เช่นกรณี “เอ็ดเวิร์ด ไอเกอร์แมน” (Edward Eigerman) อดีตวิศวกรบริษัท Apple ที่ถูกทางบริษัทไล่ออกเมื่อปี 2548 เพราะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เพื่อนร่วมงานทำข้อมูลซอฟต์แวร์ตัวใหม่รั่วไหล
ยิ่งไปกว่านั้น พนักงาน Apple ไม่สามารถบอกเล่าเรื่องสำคัญของบริษัทให้กับคนสนิทอย่างลูกและภรรยาได้ ดังกรณี ฟิล ชิลเลอร์ (Phil Schiller) หัวหน้าฝ่ายการตลาดและเป็นหนึ่งในผู้บริหาร Apple ที่ต้องเก็บงำความลับการพัฒนามือถือไว้ ไม่ให้แม้แต่ลูกและภรรยารู้ แม้ว่าลูกชายของเขาจะถามว่า “คุณพ่อกำลังง่วนอยู่กับงานอะไรหรือครับ”
- ฟิล ชิลเลอร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดและเป็นหนึ่งในผู้บริหาร Apple (เครดิต: บริษัท Apple) -
- 4. มีระบบติดตามต้นแบบผลิตภัณฑ์ Apple ทุกตัว
ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา หลายบริษัทจะสร้าง Prototype ซึ่งเป็นตัวต้นแบบหรือสินค้าตัวอย่างออกสู่สาธารณะก่อน เพื่อทดลองตลาดว่าผลิตภัณฑ์นี้จะไปได้ดีหรือไม่
Apple จะทำเครื่องหมายสินค้าต้นแบบทุกชิ้นด้วยเลเซอร์เป็นหมายเลขซีเรียล และติดตามด้วยระบบส่วนกลางที่เรียกว่า iTrack รวมถึงล็อกสินค้าตัวอย่างไว้เมื่อไม่ได้ใช้งาน ทำให้การเข้าถึงสินค้าต้นแบบถูกจำกัดตามสิทธิ์ที่ได้รับในแต่ละขั้น
เมื่อนักพัฒนาทดลองใช้ตัวต้นแบบสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ จะมีการใส่เคสอีกสีหนึ่งครอบไว้เพื่อไม่ให้นักพัฒนาทราบว่า iPhone รุ่นที่จะเปิดตัวนี้มีสีอะไร และลักษณะเครื่องเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้ข้อมูลสินค้าหลุดรอดออกสู่สาธารณะก่อนวันเปิดตัว
- 5. สัญญาลับกับหุ้นส่วนทางธุรกิจ
เมื่อปี 2564 Hyundai Motor บริษัทรถยนต์ของเกาหลีใต้ ประกาศว่า ได้เริ่มต้นคุยกับบริษัท Apple เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ออกมา แต่หลังจากนั้นไม่นาน บริษัท Hyundai Motor ก็ออกแถลงการณ์ใหม่ โดยไม่ได้เอ่ยถึง Apple อีก แต่ใช้ “บริษัทต่าง ๆ” แทน
เหตุการณ์นี้อาจเป็นไปได้ว่าบริษัท Hyundai กับ Apple อาจมีข้อตกลงลับกัน ที่จะไม่ระบุชื่อ Apple ต่อสาธารณะจนกว่าจะถึงเวลาสมควร และหลังการเจรจาดังกล่าวราว 1 เดือน บริษัท Hyundai ก็แถลงว่า บริษัทไม่ได้อยู่ในช่วงหารือรถยนต์กับ Apple อีก
นอกจากนี้ เรื่องราวสัญญาลับยังเคยเกิดขึ้นกับบริษัทสหรัฐอย่าง GT Advanced Technologies ผู้ผลิตหน้าจอกระจกแซฟไฟร์ที่ทนทานต่อรอยขีดข่วนให้ iPhone
เมื่อ GT Advanced Technologies เข้าสู่กระบวนการล้มละลายเมื่อปี 2557 บริษัทรายนี้เปิดเผยว่า ในสัญญาลับที่เซ็นกับ Apple นั้น บริษัทจะต้องชดใช้ 50 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1,700 ล้านบาทต่อครั้ง หากทำข้อมูลเจรจาลับที่เกี่ยวกับ Apple รั่วไหลออกมา
โดยสรุป จะเห็นว่า กว่า Apple จะขึ้นมาสู่จุดบริษัทนวัตกรรมขั้นสูงระดับโลกได้นั้น นอกจากต้องใช้การตลาดที่เน้นความแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครในการนำเสนอ เพื่อตรึงใจลูกค้า ท่ามกลางการแข่งขันชิงส่วนแบ่งตลาดอันดุเดือดในขณะนี้แล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับ “การรักษาความลับทางธุรกิจ” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ Apple ครองความเป็นหนึ่งด้านนวัตกรรมได้
อ้างอิง: businessinsider, cnn, nytimes, cnet, heraldtribune, cnbc, reuters