‘เงินเฟ้อ’ ต่ำคาด สัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ย?

‘เงินเฟ้อ’ ต่ำคาด สัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ย?

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลข “เงินเฟ้อทั่วไป” ของไทยเดือน พ.ค. 2566  ขยายตัวเพียง 0.53% นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน เป็นผลมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า และราคาสินค้าในหมวดอาหารชะลอตัวต่อเนื่อง

ไม่รู้ว่านับเป็นข่าวดีของเศรษฐกิจไทยหรือไม่ เมื่อกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลข “เงินเฟ้อทั่วไป” ของไทยเดือน พ.ค. 2566  ขยายตัวเพียง 0.53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และยังเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน

ที่สำคัญตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดค่อนข้างมาก โดยตลาดการเงินประเมินการเติบโตของเงินเฟ้อไทยในเดือนดังกล่าวไว้สูงถึง 2.7% ดังนั้นตัวเลขที่ออกมานับว่าต่ำกว่าประมาณการแบบหลุดลุ่ย

ถามว่าเกิดอะไรขึ้น? ทำไมตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพ.ค.จึงออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ (อย่างมาก) เรื่องนี้ นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า บอกว่า 

สาเหตุสำคัญที่เงินเฟ้อเดือนนี้ออกมาค่อนข้างต่ำ เป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า  รวมทั้งราคาสินค้าในหมวดอาหารชะลอตัวต่อเนื่อง  ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือน พ.ค. 2565 อยู่ระดับต่ำ จึงทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน พ.ค. ชะลอลงตัวค่อนข้างมาก

ส่วน “เงินเฟ้อพื้นฐาน” ที่ตัดราคาพลังงานและอาหารสดออก ก็ออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดเช่นกัน โดยตัวเลขเดือน พ.ค. ขยายตัวเพียง 1.55% ขณะที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตราว 1.7%  ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาทำให้ “ไทย” จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่เงินเฟ้อต่ำ เรียกว่าต่ำสุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศ ที่มีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และ เวียดนาม

มองไปข้างหน้า กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า เงินเฟ้อไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง หรือมีโอกาสที่จะ “หดตัว” ซึ่งเป็นไปตามการลดลงของสินค้าในกลุ่มพลังงาน 

โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 จะอยู่ในระหว่าง 1.7-2.7% มีค่าเฉลี่ยที่ 2.2% ซึ่งก็อาจจะต่ำกว่าระดับนี้ได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้ายึดตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ เท่ากับว่า ดอกเบี้ยแท้จริง (ดอกเบี้ยนโยบายหักเงินเฟ้อคาดการณ์) ใกล้จะกลับมาเป็นบวกแล้ว

หากเงินเฟ้อแท้จริงกลับมาเป็นบวก ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวค่อนข้างช้า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ทั้ง สหรัฐ ยุโรป และ จีน ที่ยังมีคำถามเกี่ยวกับภาวะถดถอยอยู่ ประกอบกับหนี้ในประเทศ ทั้งหนี้ภาคเอกชนและหนี้ครัวเรือน ซึ่งอยู่ระดับสูงและมีความเปราะบางในบางกลุ่ม เราก็อาจจะเห็นการหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ในเร็วๆ นี้เช่นกัน 

ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์เองก็เชื่อว่า ใกล้จบรอบดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว เพียงแต่ต้องถามใจ กนง. ว่า จะอยากโหลดกระสุนไว้สู้กับเศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงจะถดถอยมากน้อยแค่ไหน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระวังว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยทั้งที่พื้นฐานเศรษฐกิจภายในไม่พร้อม กนง. อาจจะเป็นผู้สร้างความเสี่ยงเหล่านี้ขึ้นมาเอง!