เปิด 3 เหตุผล ‘มาเลเซีย’ เที่ยวไทยมากที่สุด แซงนักท่องเที่ยวจีน

เปิด 3 เหตุผล ‘มาเลเซีย’ เที่ยวไทยมากที่สุด แซงนักท่องเที่ยวจีน

ในเกือบครึ่งปีแรก 2566 และรวมไปถึงปีที่แล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยมากที่สุด คือ “มาเลเซีย” ปัจจัยสำคัญอะไรที่ดึงดูดชาวมาเลย์มาท่องเที่ยวในไทย สูงที่สุดอันดับ 1 แทนจีน

Key Points

  • 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย. 66) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยมากที่สุดคือ “มาเลเซีย” จำนวนสูงถึง 1,322,436 คน ขณะที่จีนอยู่ในอันดับ 2 จำนวน 845,684 คน
  • ปี 2564 CNN Travel เลือก “แกงมัสมั่น” ของไทยขึ้นมาอันดับ 1 เมนูอาหารอร่อยที่สุดในโลก ส่วนต้มยำกุ้งไทย รั้งอันดับ 8
  • การเดินทางระหว่างมาเลเซียกับไทยสะดวกกว่าแต่ก่อนมาก ไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟ กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ทางเครื่องบินราคาประหยัด และทางรถยนต์ที่ชาวมาเลย์ไม่ต้องใช้วีซ่าในการเข้าไทย


หลายคนอาจติดภาพว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยมากที่สุดคือ จีน แต่จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เปิดเผยว่า “ใน 4 เดือนแรกของปีนี้ ม.ค.-เม.ย. 66” นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยมากที่สุดไม่ใช่จีน แต่เป็น “มาเลเซีย” จำนวนสูงถึง 1,322,436 คน ขณะที่จีนอยู่ในอันดับ 2 จำนวน 845,684 คน

เมื่อปีที่แล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนไทยมากที่สุดก็เป็น “มาเลเซีย” อีกเช่นกัน ด้วยจำนวน 1,789,136 คน ตลอดทั้งปี 2565

ดังนั้น จึงน่าสนใจว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มาเลเซียหันมาเที่ยวไทยจำนวนมาก กระทั่งขึ้นสู่อันดับ 1 แซงหน้าจีน

 

เปิด 3 เหตุผล ‘มาเลเซีย’ เที่ยวไทยมากที่สุด แซงนักท่องเที่ยวจีน

- ชาวมาเลย์ (เครดิต: Shutterstock) -

 

  • ปัจจัยที่ 1 ไทยเป็นศูนย์รวมช้อปปิ้งอันโดดเด่น

ไทยเป็นประเทศที่หาอาหารบริโภคง่าย สามารถซื้อทานได้ตามทางเท้า ร้านสะดวกซื้อก็เปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมงด้วย

นอกจากนี้ อาหารไทยนับว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีชื่อเสียงระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นผัดไทย ข้าวมันไก่ แกงเขียวหวาน ต้มยำกุ้ง โดยเมื่อปี 2564 สำนักข่าว CNN Travel ได้เลือก “แกงมัสมั่น” ของไทยขึ้นมาอันดับ 1 เมนูอาหารอร่อยที่สุดในโลก ส่วนต้มยำกุ้งรั้งอันดับ 8 และส้มตำอยู่อันดับ 46

 

เปิด 3 เหตุผล ‘มาเลเซีย’ เที่ยวไทยมากที่สุด แซงนักท่องเที่ยวจีน

- ต้มยำกุ้งไทย (เครดิต: Shutterstock) -

 

ยิ่งไปกว่านั้น ทางภาคใต้ของไทย มีชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่ไม่น้อย จึงมีวิถีการกิน ห้องละหมาด อาหารฮาลาล มัสยิดที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมมาเลเซีย โดยมาเลเซียประกอบด้วย 2 เชื้อชาติหลัก ได้แก่ ชาวมุสลิมมาเลย์ 60% และชาวมาเลย์เชื้อสายจีนราว 20% ซึ่งก็มีวิถีการกินคล้ายคนไทยเชื้อสายจีนเช่นกัน

ชาวมาเลย์ เมื่อถึงไทยแล้วก็จะมาเที่ยวตลาดชื่อดังอย่าง ตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งมีสินค้าที่ขึ้นชื่ออย่างเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เกาลัด อาหารทะเลแปรรูป ฯลฯ และชาวมาเลย์ยังแวะแหล่งช้อปปิ้งในกรุงเทพฯ อย่างย่านเยาวราช ตลาดนัดจตุจักร ถนนข้าวสาร วัดวาอาราม รวมถึงห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ในไทยด้วย

 

เปิด 3 เหตุผล ‘มาเลเซีย’ เที่ยวไทยมากที่สุด แซงนักท่องเที่ยวจีน

- ตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา -

นางนงเยาว์ จิรันดร ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกัวลาลัมเปอร์ เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจากมาเลเซียนิยมท่องเที่ยวในภาคใต้ของไทย ด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรม รวมไปถึงอาหารที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้งนักท่องเที่ยวมาเลย์มียอดการใช้จ่ายในไทยราว 5,506 บาทต่อวัน หรือ 28,729 บาทต่อทริป

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศเสรี ให้อิสระทางความหลากหลายเชื้อชาติ ไม่ได้มีระเบียบทางศาสนาที่เข้มงวดเท่ามาเลเซีย สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ชาวมาเลย์พากันมาเยือนไทยเพื่อผ่อนคลาย และให้รางวัลกับชีวิต

 

เปิด 3 เหตุผล ‘มาเลเซีย’ เที่ยวไทยมากที่สุด แซงนักท่องเที่ยวจีน

- วัฒนธรรมไทยอันเป็นที่น่าสนใจสำหรับชาวต่างชาติ (เครดิต: Shutterstock) -

 

  • ปัจจัยที่ 2 มนต์เสน่ห์ของชายหาดไทย

เมื่อเอ่ยถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เป็นแดนสวรรค์ของชาวต่างชาติ ก็คงหนีไม่พ้นประเทศไทย ที่มีทั้งชายหาดที่สวยงาม น้ำทะเลใส ชวนให้ดื่มด่ำกับบรรยากาศทะเลหมอก

จากเว็บไซต์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว World Beach Guide ได้จัดอันดับชายหาดที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2566 ผลปรากฏว่า ชายหาดไทยติดอันดับไปถึง 5 แห่ง

อันดับ 1 เกาะกระดาน จังหวัดตรัง

อันดับ 9 หาดไร่เลย์ จังหวัดกระบี่

อันดับ 18 หาดฟรีด้อม จังหวัดภูเก็ต

อันดับ 21 แหลมหาด เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา

อันดับ 44 อ่าวโตนด เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี

สถานที่ที่ชาวมาเลย์มักจะมาท่องเที่ยว เพื่อสัมผัสกับความงดงาม เช่น ชายหาดสมิหลา ทะเลสาบสงขลา ทะเลหมอกเบตง หาดในภูเก็ต ฯลฯ ซึ่งเต็มไปด้วยชาวมาเลย์จำนวนไม่น้อย

 

เปิด 3 เหตุผล ‘มาเลเซีย’ เที่ยวไทยมากที่สุด แซงนักท่องเที่ยวจีน

- ภูเก็ต แดนสวรรค์ของชาวต่างชาติ -

 

  • ปัจจัยที่ 3 โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวย

เนื่องจากมาเลเซียมีพรมแดนติดไทย อีกทั้งชาวมาเลย์ก็สามารถเข้าไทยโดยไม่ต้องใช้วีซ่า (หากอยู่ไม่เกิน 30 วัน) จึงทำให้ชาวมาเลย์สามารถขับรถเข้ามาเที่ยวไทยช่วงเช้า และกลับช่วงเย็น หรืออาจนอนเพิ่มอีก 1 คืนและกลับรุ่งเช้าก็ได้

ยิ่งไปกว่านั้น การเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างชาวมาเลเซียกับชาวไทยก็สะดวกกว่าแต่ก่อนมาก ดังจะเห็นจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เพิ่มการเปิดให้บริการรถไฟสายใต้อีก 2 ขบวน เส้นทางสถานีกรุงเทพฯ – สถานีปาดังเบซาร์ (ฝั่งมาเลเซีย) – สถานีกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 65 แบ่งเป็นดังนี้

1. ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 45 กรุงเทพฯ – ปาดังเบซาร์ ออกจากสถานีกรุงเทพฯ เวลา 15.10 น. ถึงปาดังเบซาร์ (ฝั่งมาเลเซีย) เวลา 09.50 น. (ตามเวลาประเทศไทย)

2. ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 46 ปาดังเบซาร์ – กรุงเทพฯ ออกจากสถานีปาดังเบซาร์ (ฝั่งมาเลเซีย) เวลา 17.06 น. ถึงสถานีกรุงเทพฯ เวลา 12.45 น. (ตามเวลาประเทศไทย)

 

เปิด 3 เหตุผล ‘มาเลเซีย’ เที่ยวไทยมากที่สุด แซงนักท่องเที่ยวจีน

- เส้นทางกรุงเทพฯ – ปาดังเบซาร์ – กรุงเทพฯ (เครดิต: การรถไฟแห่งประเทศไทย) -

 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 การรถไฟฯ ได้เปิดเดินขบวนรถพิเศษจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ - ชุมทางหาดใหญ่ จำนวน 4 ขบวน ได้แก่

1. ขบวนรถพิเศษโดยสารที่ 947 ชุมทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ เวลาออก 07.30 น. เวลาถึง 08.25 น. (ตามเวลาประเทศไทย)

2. ขบวนรถพิเศษโดยสารที่ 948 ปาดังเบซาร์ – ชุมทางหาดใหญ่ เวลาออก 08.55 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เวลาถึง 09.50 น.

3. ขบวนรถพิเศษโดยสารที่ 949 ชุมทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ (ตามเวลาประเทศไทย) เวลาออก 14.00 น. เวลาถึง 14.55 น.

4. ขบวนรถพิเศษโดยสารที่ 950 ปาดังเบซาร์ – ชุมทางหาดใหญ่ เวลาออก 15.40 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เวลาถึง 16.35 น.

ในฝั่งมาเลเซีย ปลายเดือน เม.ย. 2566 รถไฟมาเลเซีย KTM (Keretapi Tanah Melayu) ได้จัดเดินรถขบวนพิเศษเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-หาดใหญ่-กัวลาลัมเปอร์ ภายใต้ชื่อ MY Sawasdee โดยจะเปิดบริการขบวนแรกในวันที่ 29 เม.ย. 2566 ไปถึงวันที่ 1 ม.ค. 2567 รวมจำนวน 9 เที่ยว ซึ่งรถไฟแต่ละเที่ยวมี 11 โบกี้ มีที่นั่งทั้งหมด 400 ที่นั่ง และผู้ใช้บริการรถไฟ KTM ส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซีย

ในทางการบิน ก็มีสายการบินราคาประหยัดอย่าง AirAsia ที่บินจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซียสู่กรุงเทพฯ ภูเก็ต หาดใหญ่ในราคาไม่แพง

โครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน รถไฟ และเครื่องบินที่เอื้ออำนวยเหล่านี้ จึงช่วยให้การเดินทางไปมาของชาวมาเลย์ทั้งสะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์การผ่อนคลายช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

นอกจากนี้ ช่วงเทศกาลวันหยุดของมาเลเซีย เช่น วันฮารีรายอ (วันฉลองปีใหม่ของชาวมุสลิม เดือน 10 และเดือน 12 ของปฏิทินอิสลาม)

วันชาติมาเลเซีย (วันแห่งอิสรภาพของมาเลเซีย 31 ส.ค.)

วันมาเลเซีย (วันฉลองการจัดตั้งสหพันธรัฐมาเลเซีย 16 ก.ย.) ฯลฯ ชาวมาเลย์จะพาครอบครัวมาเที่ยวในไทย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทยด้วย

จากปัจจัยสำคัญ 3 ข้อดังกล่าว ได้แก่ ไทยเป็นศูนย์รวมช้อปปิ้งอันโดดเด่นระดับโลก มีอาหารและวัฒนธรรมที่คล้ายชาวมาเลย์โดยเฉพาะทางใต้ พร้อมแหล่งธรรมชาติอันสวยงาม รวมไปถึงการเดินทางก็สะดวก มาเช้าเย็นกลับได้ จึงทำให้ชาวมาเลย์ตัดสินใจเลือก “ไทย” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ

อ้างอิง: marketeeronlinemgronlineprachachatthaigovthaigov(2)prachachatcnnworldbeachguide