รถไฟฟ้าสายสีเหลือง มาเร็ว หรือ ช้าไป? | กันต์ เอี่ยมอินทรา
"รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" ช่วงลาดพร้าว สำโรง เปิดทดลองให้ประชาชนย่านกรุงเทพตะวันออก จนถึงสมุทรปราการใช้งานแล้ว
ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการเชื่อมต่อโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนระบบรางที่ไทยพยายามพัฒนาเพื่อเชื่อมต่อระหว่างแถบกรุงเทพฯ ชั้นนอกกับปริมณฑล ถามว่าเป็นอะไรที่ใหม่จนน่าตื่นตาตื่นใจหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่าไม่ใช่ ส่วนคำถามที่ว่ามาช้าหรือมาเร็ว ก็ต้องขึ้นกับปัจจัยเปรียบเทียบและความรู้สึกของคนที่มอง
ผมเป็นวัยรุ่นในยุคที่รถไฟฟ้าสายแรกเปิด (เมื่อปี 2542) และยังจำความรู้สึกตื่นเต้นของคนกรุงเทพฯ ในช่วงที่มีการฉลองรถไฟฟ้าเปิดได้เป็นอย่างดี ความรู้สึกตื่นเต้น ความรู้สึกถึงความสุข ความรู้สึกถึงความสะดวกสบาย แต่เดิมเรามีรถไฟฟ้าเพียง 2 สายคือสายอ่อนนุช-จตุจักร และสายสีลม ทำให้การเดินทางไปตลาดนัดสวนจตุจักรของวัยรุ่นที่บ้านอยู่สาทรนั้นง่ายกว่าเดิมขึ้นมาก ผมยังจำได้ว่าวันแรกที่เปิดรถไฟฟ้านั้นคนกรุงเห่อกันมาก ผมยังจำภาพที่มองลงมาจากรถไฟฟ้าชั้น 3 ที่เห็นแต่สีดำของหัวคนไทยแน่นเต็มแพลตพอร์มไปหมด
5 ปีต่อมา มีรถไฟฟ้าใต้ดิน แม่ผมซึ่งก็เป็นชาวบ้านคนธรรมดาก็ยังไม่ค่อยมั่นใจจะใช้รถไฟใต้ดินเพราะกลัวเรื่องความปลอดภัย จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเปิดและใช้รถไฟใต้ดิน แม่บอกว่าขนาดในหลวงยังใช้ได้ ก็แปลว่าปลอดภัย จึงกล้าใช้
ตั้งแต่วันนั้นที่รถไฟฟ้าเปิดในไทยครั้งแรกจนกระทั่งวันนี้ นับได้เกือบ 25 ปีแล้ว โครงข่ายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บริเวณที่รถไฟฟ้าตัดผ่านได้พัฒนากลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ราคาที่ดินแพงขึ้น
แต่เราก็ยังคงมีคำถามในใจว่า แล้วระบบรางโดยเฉพาะหากโฟกัสที่รถไฟฟ้าในเขตเมืองใหญ่นั้น เราพัฒนาได้ช้าหรือเร็วเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งคำตอบก็คงขึ้นกับตัวเปรียบเทียบ หากเราเทียบกับประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า อาทิ เมียนมาหรือลาว ก็ต้องตอบว่า เราดีกว่าหลายขุม แต่ถ้าหากเราเทียบกับประเทศอื่น ๆ อาทิ จีน ก็คงต้องตอบว่า เราพัฒนาช้ากว่ามาก ๆ
ระบบรางของจีนนั้นถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจ เครื่องมือการกระจายความเจริญ กระจายความมั่งคั่ง ขนทั้งคนขนทั้งสินค้า และก็มีการสร้างรางรถไฟและพัฒนาต่อมาอย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด จากระบบรางที่ไม่มีใครพูดถึงหรือยกเป็นกรณีศึกษาเลยเมื่อหลายสิบปีก่อน จนกลายมาเป็นประเทศที่มีระบบรางยาวที่สุดอันดับ 2 ของโลกที่ ประมาณ 155,000 กม. รองจากอันดับ 1 ตลอดกาลอย่างสหรัฐที่เกือบ 300,000 กม.
จีนมีระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อระหว่างเมืองใหญ่ และในเมืองใหญ่ก็มีระบบรางเพื่อใช้ในเมือง แต่ถึงกระนั้นการพัฒนาสร้างรางเพิ่มก็ยังไม่ได้หยุดแต่อย่างใด ยังคงมีการสร้างรางเพิ่มอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทุกปี เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบรางที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ก็ยังไม่ได้หยุดการสร้างหยุดการปรับปรุงพัฒนาให้ระบบกว้างขวางครอบคลุมและดีขึ้นไปเรื่อย ๆ มีการสร้างทางรถไฟสายใหม่ ๆ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง
ขณะที่ระบบรางของไทยนั้นยังถือว่าพัฒนาได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร หากเปรียบเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของเรา ความยาวโดยรวมของทางรถไฟในไทยนั้น ไม่จะว่าเป็นรถไฟฟ้าบนดิน รถไฟใต้ดิน หรือรถไฟปกติ อยู่ที่ 4,127 กม. ยาวเป็นอันดับที่ 47 ของโลก เป็นรองแม้กระทั่งประเทศเมียนมา ซูดาน และการพัฒนาระบบรางที่ช้าและกินแต่บุญเก่าของเรานั้น ได้สร้างปัญหาทั้งในเชิงโครงสร้างและสังคมกับไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาต้นทุนค่าขนส่งสินค้าที่แพง ไล่เรียงไปจนถึงปัญหาส่วยรถบรรทุก
ยังไม่ต้องพูดถึงระบบขนส่งในเมืองใหญ่อื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ ที่แม้แต่รถประจำทางก็ยังไม่มี ถือเป็นเรื่องจริงที่น่าเศร้าสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเราอย่างยิ่ง