ไขเบื้องหลัง ‘ซอสศรีราชา’ ในสหรัฐ ชื่อไทย แต่ทำไมเป็นของเวียดนาม?

ไขเบื้องหลัง ‘ซอสศรีราชา’ ในสหรัฐ ชื่อไทย แต่ทำไมเป็นของเวียดนาม?

จากกระแส “ซอสพริกศรีราชา” ในสหรัฐที่ราคาพุ่งเป็นขวดละหลายพันบาทขณะนี้ ทำให้ชาวเน็ตไทยบางส่วนตั้งคำถามถึงสัญชาติที่แท้จริงของซอสยอดนิยมแบรนด์นี้ ซึ่งแม้ใช้ชื่อไทย แต่ไม่ใช่แบรนด์ไทยแต่อย่างใด

Key Points

  • ซอสพริกศรีราชาที่ขายในสหรัฐ มีชื่อว่า “ซอสพริกศรีราชาตราไก่” ของบริษัทฮุ่ยฟง ฟู้ดส์ สัญชาติเวียดนาม
  • ซอสพริกศรีราชาพานิช สูตรดั้งเดิมมาจากกิมซัว ทิมกระจ่าง คนไทยเชื้อสายจีนในอำเภอศรีราชาเมื่อปี 2456
  • รสชาติซอสพริกศรีราชาตราไก่มาจาก “พริกจาลาปิโนหรือพริกเม็กซิกัน” มีรสเปรี้ยวและเผ็ดแหลม
  • ซอสพริกศรีราชาไทย มาจาก “พริกชี้ฟ้าแดงสด” มีรสสัมผัส “เผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน”กลมกล่อม


ซอสพริกศรีราชา” ซอสที่ครอบครัวชาวอเมริกันแต่ละบ้านต้องมีติดบ้านไว้ โดยล่าสุด ราคาซอสพริกในสหรัฐนี้ พุ่งขึ้นจากราคาปกติ 5 ดอลลาร์หรือราว 175 บาท สู่ระดับราคา 70 ดอลลาร์หรือราว 2,400 บาทต่อขวดบนแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ eBay

ขณะที่ราคาบนแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ Amazon สูงมากกว่า 100 ดอลลาร์หรือราว 3,500 บาทแล้ว เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบหลักอย่างพริกจากปัญหาเอลนีโญและโลกร้อน

ไขเบื้องหลัง ‘ซอสศรีราชา’ ในสหรัฐ ชื่อไทย แต่ทำไมเป็นของเวียดนาม? - ซอสพริกศรีราชาในสหรัฐ (เครดิต: Steven Depolo from Grand Rapids, MI, USA) -

คำว่า “ศรีราชา” ชื่อนี้เป็นชื่อสถานที่จริงในไทย จากอำเภอหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ทางภาคตะวันออก แต่คำถามคือ ทำไมชาวอเมริกันถึงเข้าใจว่าซอสพริกศรีราชาเป็นของเวียดนาม ทั้งที่เป็นชื่อไทย และระหว่างซอสศรีราชา “ไทย” กับ “เวียดนาม” แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

  • ซอสพริกศรีราชาในสหรัฐ

ซอสพริกศรีราชาที่จำหน่ายในสหรัฐ มีชื่อว่า “ซอสพริกศรีราชาตราไก่” ของบริษัทฮุ่ยฟง ฟู้ดส์ (Huy Fong Foods) สัญชาติเวียดนาม ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากเดวิด ทราน (David Tran) นักธุรกิจชาวเวียดนามและเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทฮุ่ยฟง ฟู้ดส์ เขาได้ท่องเที่ยวตามภูมิภาคอาเซียน และได้ลิ้มรสซอสพริกจากอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี อันเลื่องชื่อของไทย

ไขเบื้องหลัง ‘ซอสศรีราชา’ ในสหรัฐ ชื่อไทย แต่ทำไมเป็นของเวียดนาม? - เดวิด ทราน ผู้ก่อตั้งบริษัทฮุ่ยฟง ฟู้ดส์ (เครดิต: บริษัทฮุ่ยฟง ฟู้ดส์) -

หลังจากนั้น เมื่อปี 2522 เขาอพยพไปยังสหรัฐด้วยเรือสินค้าฮุ่ยฟง และนำซอสพริกศรีราชาจากไทยมาพัฒนาต่อยอดเป็นแบบฉบับของเขา พร้อมก่อตั้งเป็นบริษัทฮุ่ยฟง ฟู้ดส์ในปี 2523 ผลิตซอสพริกนี้ในตราสัญลักษณ์ “ไก่” โดยบรรจุภัณฑ์ซอสเป็นฝาขวดสีเขียว ตัวขวดสีแดง เพื่อสื่อถึง “พริก” ซึ่งมีต้นขั้วสีเขียวและตัวพริกสีแดง

ยิ่งไปกว่านั้น ทรานยังเพิ่มรูปไก่โต้งซึ่งเป็นปีนักษัตรของเขา แปะอยู่ข้างหน้า พร้อมชื่อแบรนด์ว่า “Sriracha” (ศรีราชา)

รสชาติซอสพริกศรีราชาที่ทรานพัฒนาขึ้นมาได้มาจาก “พริกจาลาปิโนหรือพริกเม็กซิกัน” น้ำตาล เกลือ น้ำส้มสายชู และกระเทียม มีรสเปรี้ยวและเผ็ดแหลม ขณะที่ของไทยจะมีรสสัมผัส “เผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน” อย่างกลมกล่อม

เมื่อทรานนำซอสศรีราชานี้วางตลาดสหรัฐก่อนเจ้าอื่น ๆ เหล่าชาวอเมริกันเมื่อได้ลิ้มรสก็ชอบใจอย่างมาก จนกลายเป็นซอสพริกยอดนิยมอันดับต้น ๆ ในสหรัฐ มียอดขาย 10 ล้านขวดต่อปี ทำรายได้มากกว่า 150 ล้านดอลลาร์หรือราว 5,300 ล้านบาทในปี 2562 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 10% ของตลาดซอสพริกสหรัฐ  

  • ซอสพริกศรีราชาของไทย

สำหรับซอสพริกศรีราชาจากไทย ต้นตำรับเก่าแก่ที่สุด คือ “ซอสพริกศรีราชาตำรับนายกิมซัว” เริ่มผลิตครั้งแรกเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ ทราน นักธุรกิจชาวเวียดนามนำไปพัฒนาต่อ และเปิดตลาดในสหรัฐจนโด่งดังในปัจจุบัน

ซอสพริกศรีราชาพานิช คิดค้นสูตรโดย กิมซัว ทิมกระจ่าง คนไทยเชื้อสายจีนในอำเภอศรีราชาเมื่อปี 2456 ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในสมัยนั้นเรียกซอสพริกนี้ว่า “น้ำพริกศรีราชา”

ไขเบื้องหลัง ‘ซอสศรีราชา’ ในสหรัฐ ชื่อไทย แต่ทำไมเป็นของเวียดนาม? - กิมซัว ทิมกระจ่าง ต้นตำรับซอสพริกศรีราชา (เครดิต: พลตรีหญิง เสาวนิต (จักกะพาก) ไตรกิตยานุกูล) -

ความพิเศษของซอสพริกศรีราชาไทย คือ มาจาก “พริกชี้ฟ้าแดงสด” กระเทียมไทย (ผ่านการดองมาแล้ว 7 วัน) น้ำตาลทรายขาว น้ำส้มสายชู และเกลือทะเล ไม่มีใส่สารปรุงแต่ง ไม่มีใส่ผงชูรสใด ๆ และรสชาติซอสมีรสสัมผัส “เผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน” อร่อยกลมกล่อม

ซอสนี้เป็นที่นิยมในจังหวัดชลบุรีมาก จนกระทั่งพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ผู้เป็นสหาย และเป็นเจ้าของกิจการรถเมล์ขาว ซึ่งเป็นรถเมล์สายแรกที่ให้บริการในกรุงเทพฯ ช่วยขยายตลาดซอสพริกศรีราชาให้ด้วยการวางจำหน่ายตามห้างต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ จนซอสเป็นที่นิยมในเมืองหลวง

  • สูตรต้นตำรับรุ่นทวดกิมซัว แยกเป็นสองสาย

เมื่อเวลาผ่านไป “สูตรต้นตำรับรุ่นทวดกิมซัว” ก็ตกทอดลงมาสู่ทายาท 2 สาย คือ สายปู่สกล ทิมกระจ่าง และสายย่าถนอม ทิมกระจ่าง 

สำหรับสายปู่สกล ทิมกระจ่าง ได้ตั้งเป็นโรงงานผลิตซอสพริกออกจำหน่ายที่ย่านวงเวียนใหญ่ในกรุงเทพฯ และจดเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.จันทรา ต่อมาในปี 2488 ได้จดเครื่องหมายการค้าเป็นชื่อ “ตราภูเขาทอง” หรือเป็นที่รู้จักในชื่อน้ำพริกศรีราชา ตราภูเขาทอง โดยคำว่าภูเขาทองมีที่มาจากชื่อของบิดา คือ กิมซัว ซึ่งแปลว่า ภูเขาทอง เพื่อความเป็นสิริมงคล

ไขเบื้องหลัง ‘ซอสศรีราชา’ ในสหรัฐ ชื่อไทย แต่ทำไมเป็นของเวียดนาม?

- ซอสพริกศรีราชา ตราภูเขาทอง (เครดิต: bangkoksauce) -

นอกจากนี้ ซอสพริกศรีราชา ตราภูเขาทอง ยังเป็นแบรนด์แรกของไทยที่ได้ส่งออกไปขายยังต่างประเทศด้วย

  • ซอสพริกศรีราชาพานิชบุกสหรัฐ

ส่วนสายคุณย่าถนอม ทิมกระจ่าง โดยภายหลังจากแต่งงานกับดำรง จักกะพาก ลูกชายของขุนจักกะพากพานิชกิจ ซึ่งเป็นคหบดีผู้ใจบุญ ผู้พัฒนาเมืองศรีราชา จึงเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นถนอม จักกะพาก

คุณย่าถนอม จักกะพากได้ตั้งโรงงานที่บ้านในซอยแหลมฟาน อำเภอศรีราชา ใช้ตราว่า “ศรีราชาพานิช” ซึ่งเป็นระยะเวลาใกล้เคียงกับปู่สกล และต่อมาเมื่อปี 2527 ทายาทรุ่นลูกได้ขายตราศรีราชาพานิช ให้บริษัทไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตซอสปรุงรสตราภูเขาทอง โดยบริษัทไทยเทพรสยังคงรักษาเอกลักษณ์รสชาติแบบดั้งเดิมไว้ 

ไขเบื้องหลัง ‘ซอสศรีราชา’ ในสหรัฐ ชื่อไทย แต่ทำไมเป็นของเวียดนาม? - วัตถุดิบของซอสพริกศรีราชาพานิช (เครดิต: ศรีราชาพานิช) -

สำหรับซอสพริกศรีราชาพานิช ถูกวางจำหน่ายใน 50 ประเทศทั่วโลกตั้งแต่เอเชีย ยุโรป สหรัฐ และออสเตรเลีย อีกทั้งบริษัทไทยเทพรสกำลังทำการตลาดในสหรัฐอย่างหนัก เพื่อทำให้ซอสพริกศรีราชาพานิช ซึ่งเป็นต้นตำรับขนานแท้จากไทยเข้าชิงส่วนแบ่งจาก คู่แข่งใหญ่อย่างซอสพริกศรีราชาตราไก่ของเวียดนามให้ได้

ไขเบื้องหลัง ‘ซอสศรีราชา’ ในสหรัฐ ชื่อไทย แต่ทำไมเป็นของเวียดนาม?

- ขวดซอสพริกศรีราชาพานิช (เครดิต: ศรีราชาพานิช) -

บัญชา วิญญรัตน์ ทายาทของนายปริญญา วิญญรัตน์ ประธานกรรมการบริหารของบริษัทไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) เจ้าของซอสพริกศรีราชาพานิชในปัจจุบัน ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg เมื่อปี 2562 ว่า หากไทยเทพรสสามารถได้ส่วนแบ่งตลาดเพียง 1% ในสหรัฐ ก็จะเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่สำหรับบริษัท

ไขเบื้องหลัง ‘ซอสศรีราชา’ ในสหรัฐ ชื่อไทย แต่ทำไมเป็นของเวียดนาม? - เทียบซอสศรีราชาไทย VS เวียดนาม (กราฟิก: วิชัย นาคสุวรรณ) -

อ้างอิง: cnnkonruksrirachastarterstorysrirajapanichsrirajapanich(2)goldenmo,untainsaucebangkoksaucebloombergnprlatimes