ผ่าอาณาจักร ‘LVMH’ ไม่ได้มีแค่ ‘แบรนด์หรู’ รายได้อู้ฟู่ระดับโลก!

ผ่าอาณาจักร ‘LVMH’ ไม่ได้มีแค่ ‘แบรนด์หรู’ รายได้อู้ฟู่ระดับโลก!

เปิดอาณาจักรแบรนด์หรู “LVMH” ที่ทำให้เจ้าของอย่าง “เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์” กลายเป็นบุคคลที่รวยสุดอันดับ 2 ของโลกเป็นรองเพียงอีลอน มัสก์เท่านั้น แต่อาณาจักรนี้ไม่ได้มีเพียงธุรกิจแบรนด์หรูเท่านั้น

Key Points

  • ปัจจุบัน เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เจ้าของธุรกิจ LVMH ที่รวมหลากหลายแบรนด์หรู และครอบครัว มีมูลค่าสินทรัพย์กว่า 227,400 ล้านดอลลาร์
  • LVMH มีรายได้ในไตรมาสหนึ่งของปี 2566 ที่ 21,035 ล้านยูโร ซึ่งเพิ่มขึ้น 17% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
  • ถ้านับสัดส่วนตลาดของ LVMH ตามภูมิภาคของปี 2566 จะมีรายได้มากที่สุดจากทวีปเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) คิดเป็นสัดส่วน 30%


ในอดีต เหล่ามหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก มักมาจากผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นบิล เกตส์ (Bill Gates) ผู้ก่อตั้ง Microsoft ยักษ์ใหญ่วงการซอฟต์แวร์, อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เจ้าของธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการสำรวจอวกาศ, มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) เจ้าของโซเชียลมีเดีย Facebook, Instagram ฯลฯ 

แต่ในปัจจุบัน เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ (Bernard Arnault) ชายผู้เป็นเจ้าของธุรกิจ LVMH ที่รวมหลากหลายแบรนด์หรู ได้ขึ้นสู่บุคคลที่รวยเป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว รองจากอีลอน มัสก์เท่านั้น ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ของอาร์โนลต์และครอบครัวกว่า 227,400 ล้านดอลลาร์หรือราว 7.9 ล้านล้านบาท และในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เขาเคยขึ้นสู่อันดับ 1 รวยที่สุดในโลกด้วย จึงน่าสนใจว่า อาณาจักรของเขามีความยิ่งใหญ่เพียงใด ผลประกอบการและสัดส่วนตลาดเป็นอย่างไรบ้าง

ผ่าอาณาจักร ‘LVMH’ ไม่ได้มีแค่ ‘แบรนด์หรู’ รายได้อู้ฟู่ระดับโลก!

- เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ (เครดิต: AFP) -

  • LVMH ย่อมาจากอะไร

LVMH ย่อมาจาก “Louis Vuitton Moët Hennessy” เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศสที่รวมกิจการแบรนด์หรูหลายบริษัทเข้าด้วยกันภายใต้อาณาจักรเดียวกัน

อาณาจักรธุรกิจ LVMH ก่อตั้งขึ้นในปี 2530 จากการควบรวมบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น Louis Vuitton ธุรกิจแฟชั่นชื่อดัง Moët et Chandon ผู้ผลิตแชมเปญรายใหญ่ระดับโลก และ Hennessy ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คอนยัค (Cognac) ซึ่งทำมาจากผลองุ่น จนกลายเป็นชื่ออาณาจักร Louis Vuitton Moët Hennessy หรือ LVMH

  • เบื้องหลังปั้นอาณาจักร LVMH

สำหรับเจ้าของ LVMH คือ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ซึ่งปัจจุบันอายุ 74 ปี เกิดเมื่อปี 2492 ณ เมืองรูแบ (Roubaix) ประเทศฝรั่งเศส ในครอบครัวเจ้าของบริษัทก่อสร้าง Ferret-Savinel

จุดเริ่มต้นเมื่ออาร์โนลต์สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมที่สถาบัน Ecole Polytechnique แล้ว ในปี 2514 เขาก็มาช่วยงานพ่อในตำแหน่งวิศวกรโยธา

ต่อมาในปี 2519 เขาก็ตัดสินใจเปลี่ยนธุรกิจครอบครัวจากงานด้านวิศวกรรมโยธามาเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่รุ่งเรืองกว่าแทน

ในปี 2524 อาร์โนลต์ตัดสินใจพาครอบครัวไปยังสหรัฐ เพราะหวั่นเกรงนโยบายขึ้นภาษีคนรวยของพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสซึ่งนำโดยประธานาธิบดีฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ (Francois Mitterrand) ที่ชนะการเลือกตั้งในปีนั้น

อย่างไรก็ตาม ใน 3 ปีต่อมา อาร์โนลต์เดินทางกลับไปฝรั่งเศส เพราะได้ข่าวมาว่าบริษัท Boussac ยักษ์ใหญ่สิ่งทอของประเทศกำลังล้มละลาย ซึ่งบริษัท Boussac มีแบรนด์น้ำหอมใหญ่ Christian Dior ที่แม่ของเขาชื่นชอบ และห้างสรรพสินค้า Le Bon Marché อยู่ในเครือด้วย

ด้วยเหตุนี้ เจ้าของ LVMH จึงขอใช้เงินจากครอบครัว 15 ล้านดอลลาร์เข้าซื้อบริษัท Boussac ในช่วงวิกฤตินี้ จากนั้นเขาก็ขายธุรกิจต่าง ๆ ในเครือ Boussac ออกหมดให้เหลือเพียงธุรกิจน้ำหอม Christian Dior และห้างสรรพสินค้า Le Bon Marché เท่านั้น

หลังจากนั้น อาร์โนลต์ได้ปั้น 2 บริษัทนี้ให้เป็นฐานที่มั่นทางธุรกิจจนรุ่งเรือง และใช้กำไรที่ได้ขยายซื้อกิจการแฟชั่นอื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นอาณาจักร LVMH ที่ยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน

  • LVMH เป็นเจ้าของสินค้าอะไรบ้าง

หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อแบรนด์หรูชั้นนำอย่างแบรนด์ Bvlgari, Christian Dior, Louis Vuitton, Marc Jacobs, Tiffany & Co, ฯลฯ ซึ่งแบรนด์เหล่านี้ล้วนอยู่ภายใต้อาณาจักร LVMH ทั้งสิ้น

อาณาจักร LVMH ได้แบ่งธุรกิจที่ครอบครองออกเป็น 6 ส่วน มีสินค้าในเครือ 75 แบรนด์ และใช้การบริหารแบบกระจายอำนาจ ให้อิสระแต่ละแบรนด์ในการพัฒนาสินค้าตัวเองได้อย่างเต็มที่ ดังนี้

1. สินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง (Fashion and Leather goods) มี 14 แบรนด์ เช่น Louis Vuitton, Christian Dior Couture, Fendi, Loro Piana, Céline, Kenzo, Loewe, Givenchy, Berluti, Marc Jacobs, ฯลฯ

2. ห้างและร้านค้าปลีก (Selective Retailing) มี 5 แบรนด์ เช่น Sephora, Le Bon Marché, DFS , Starboard Cruise Services, ฯลฯ

3. นาฬิกาและเครื่องประดับ (Watches and Jewelry) มี 7 แบรนด์ เช่น Bvlgari, Tiffany & Co, Hublot, Zenith, Chaumet, Fred, De Beers

4. น้ำหอมและเครื่องสำอาง (Perfumes and Cosmetics) มี 14 แบรนด์ เช่น Christian Dior, Kenzo Parfums, Fenty Beauty, Fresh, Make up For ever, Stella, ฯลฯ

5. ไวน์และสุรา (Wines and Spirits) มี 23 แบรนด์ เช่น Hennessy, Moët & Chandon, Dom Pérignon, Mercier, Ruinart, Veuve Clicquot, Chandon, ฯลฯ

6. ธุรกิจอื่น ๆ (Other Activities) มี 10 แบรนด์ กระจายในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นิตยสารสื่อ  และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

ผ่าอาณาจักร ‘LVMH’ ไม่ได้มีแค่ ‘แบรนด์หรู’ รายได้อู้ฟู่ระดับโลก! - เหล่าผู้บริหาร LVMH (เครดิต: LVMH) -

  • เปิดรายได้ 6 ธุรกิจเสาหลัก LVMH

LVMH มีรายได้ในไตรมาสหนึ่งของปี 2566 ที่ 21,035 ล้านยูโร ซึ่งเพิ่มขึ้น 17% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีสัดส่วนรายได้ที่แบ่งตามธุรกิจ 6 ส่วน ดังนี้

1. สินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง มีรายได้ 10,728 ล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วน 51.01% ของรายได้ทั้งหมด

2. ห้างและร้านค้าปลีก มีรายได้ 3,961 ล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วน 18.83% ของรายได้ทั้งหมด

3. นาฬิกาและเครื่องประดับ มีรายได้ 2,589 ล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วน 12.29% ของรายได้ทั้งหมด

4. น้ำหอมและเครื่องสำอาง มีรายได้ 2,115 ล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วน 10.06% ของรายได้ทั้งหมด

5. ไวน์และสุรา มีรายได้ 1,694 ล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วน 8.06% ของรายได้ทั้งหมด

6. ธุรกิจอื่น ๆ ขาดทุน 52 ล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วน -0.25%  ของรายได้ทั้งหมด

ผ่าอาณาจักร ‘LVMH’ ไม่ได้มีแค่ ‘แบรนด์หรู’ รายได้อู้ฟู่ระดับโลก! - รายได้ LVMH ใน 6 กลุ่ม (เครดิต: LVMH) -

นอกจากนี้ ถ้านับสัดส่วนตลาดของ LVMH ตามแต่ละภูมิภาคของปี 2566 จะแบ่งได้สัดส่วนดังนี้

1. รายได้จากเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) คิดเป็นสัดส่วน 30%

2. รายได้จากสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 27%

3. รายได้จากยุโรป (ไม่รวมฝรั่งเศส) คิดเป็นสัดส่วน 16%

4. รายได้จากฝรั่งเศส คิดเป็นสัดส่วน 8%

5. รายได้จากญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 7%

6. รายได้จากตลาดอื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วน 12%

ผ่าอาณาจักร ‘LVMH’ ไม่ได้มีแค่ ‘แบรนด์หรู’ รายได้อู้ฟู่ระดับโลก! - สัดส่วนตลาด LVMH ตามแต่ละภูมิภาคของปี 2566 (เครดิต: LVMH) -

อ้างอิง: lvmhbritannicalvmh(2)staticforbes