รับมือวิกฤติประชากรลด! คนไทยอาจเหลือ 33 ล้านคน ภายใน 60 ปีข้างหน้า
บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ประชากรไทยมีแนวโน้มลดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 33 ล้านคน รวมถึงวัยแรงงานจาก 46 ล้านคนในปัจจุบัน อาจเหลือเพียง 14 ล้านคนใน 60 ปีข้างหน้า น่าสนใจว่าจะกระทบเศรษฐกิจไทยในอนาคตมากน้อยเพียงใด
Key Points
- ประเทศไทยจะเต็มไปด้วยผู้สูงวัย เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนในปี 2566 ไปเป็น 18 ล้านคน ภายในปี 2626 โดยสัดส่วนประชากรสูงวัยจะมากกว่า 50% ของประชากรทั้งประเทศ
- ประชากรจีน ยักษ์ใหญ่ด้านการบริโภคของโลก มีแนวโน้มต่ำกว่า 1 พันล้านคนภายในปี 2623 และอาจต่ำกว่า 800 ล้านคนภายในปี 2643
- สิงคโปร์อาจเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ ที่มีสัดส่วนมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศภายในปี 2569 โดย 1 ใน 4 ของประชากรเป็นผู้สูงวัย
จะเกิดอะไรขึ้น หากประชากรไทย “ลดลงครึ่งหนึ่ง” จากปัจจุบันภายใน 60 ปีข้างหน้า ซึ่งการคาดการณ์นี้มาจากคณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเหล่าผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยที่มองว่า ภายในปี 2626 จำนวนประชากรไทยจะลดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 33 ล้านคน และประชากรวัยแรงงาน จาก 46 ล้านคนในปัจจุบัน จะลดลงเหลือ 14 ล้านคน ปรากฏการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตด้านใดบ้าง
- วัยแรงงานเหลือ 14 ล้านคนใน 60 ปี
จากข้อมูลของเหล่าคณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญงานวิจัย เกื้อ วงศ์บุญสิน, ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์, พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส, ภัทเรก ศรโชติ, พัชราวลัย วงศ์บุญสิน, เรียวรุ้ง ภักดี และภาสวิชญ์ เลิศวิไลรัตนพงศ์ ระบุว่า
ทางทีมวิจัยทำการคาดการณ์ประชากรไทยด้วยโปรแกรมที่มีชื่อว่า “Spectrum” จากองค์กร Avenir Health ประเทศสหรัฐ ซึ่งสามารถคาดประมาณในอีก 100 ปีข้างหน้า โดยใช้สมมติฐาน 3 ประการดังนี้
1. เป็นการคาดประมาณประชากรจากปี 2566 ถึง 2626 (60 ปีข้างหน้า)
2. สมมติฐานอายุคาดเฉลี่ยประชากรหญิงและชาย จะใช้ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ปี 2566 - 2593) และ World Population Prospect 2565 (ปี 2593 - 2626)
3. สมมติฐานอัตราภาวะเจริญพันธุ์ (จำนวนบุตรเฉลี่ยต่อผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15-49) โดยปี 2566 จะใช้ข้อมูลจริงที่ (เท่ากับ 1.16 คน) และจะปรับลดลงตามลำดับ โดยในปี 2593 จะปรับลดลงเหลือ 0.7 (ใกล้เคียงกับอัตราภาวะเจริญพันธุ์ของประเทศเกาหลีใต้ในปี 2565 ที่เท่ากับ 0.78) และในปี 2626 จะปรับลดลงเหลือ 0.5
เมื่อกำหนดกรอบการศึกษา และทำการคาดการณ์ประชากรไทยในอีก 60 ปีข้างหน้าแล้ว จะพบว่า
1. จำนวนประชากรไทยทั้งประเทศจะลดลงจาก 66 ล้านคนในปี 2566 เหลือเพียง 33 ล้านคน ภายในปี 2626
2. จำนวนประชากรวัยแรงงาน (ช่วงอายุ 15 ถึง 64) จะลดลงจาก 46 ล้านคนในปี 2566 เหลือเพียง 14 ล้านคน ภายในปี 2626
3. จำนวนประชากรวัยเด็ก (ช่วงอายุ 0 ถึง 14) จะลดลงจาก 10 ล้านคนในปี 2566 เหลือเพียง 1 ล้านคน ภายในปี 2626
4. ประเทศไทยจะเต็มไปด้วยผู้สูงวัย (65 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนในปี 2566 ไปเป็น 18 ล้านคน ภายในปี 2626 โดยสัดส่วนประชากรสูงวัยจะมากกว่า 50% ของประชากรทั้งประเทศ
- ประชากรไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น และเด็กเกิดน้อยลง -
- ประชากรลดฮวบ สะเทือน GDP ไทยอย่างไร
หากแนวโน้มประชากรไทยลดลงเหลือครึ่งหนึ่งและส่วนใหญ่กลายเป็น “ผู้สูงอายุ” ก็อาจส่งผลให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยนั้น “ร่วงลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ถือเป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลสมัยต่อ ๆ ไป
สำหรับ GDP ย่อมาจาก Gross Domestic Product เป็นการนับรายได้ที่เกิดขึ้นภายในไทย อันประกอบด้วย 4 เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนี้
เครื่องยนต์ตัวที่ 1: C (Consumption) หมายถึง การบริโภคของภาคเอกชนและประชาชน โดยถ้าประเทศนั้นมีเด็กเกิดน้อยลง และประชากรผู้สูงอายุขยายตัวแทน อาจทำให้การบริโภคสินค้าโดยรวมลดลงได้ โดยผู้สูงอายุมีแนวโน้มทานอาหารนอกบ้าน ซื้อเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอางลดลง และใช้จ่ายภายในบ้านและการรักษาพยาบาลมากขึ้น
ดังจะเห็นได้จากเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยเติบโต รวมถึงศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่น (JCER) ยังคาดการณ์อีกว่า GDP ต่อหัวของประชากรญี่ปุ่นจะตามหลังเกาหลีใต้ภายในปี 2570 และตามหลังไต้หวันภายในปี 2571 จากการที่ชาวญี่ปุ่นมักชอบเก็บเงิน ไม่ค่อยใช้จ่าย อีกทั้งมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกด้วย
ขณะที่อินเดีย มีการเติบโตทางประชากรสูง โดยข้อมูลจากสหประชาชาติ (UN) ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 เม.ย. ระบุว่า อินเดียพลิกขึ้นมามีประชากรมากที่สุดในโลกแซงหน้าจีนอย่างเป็นทางการแล้วที่ 1,428 ล้านคน และยังมีประชากรวัยหนุ่มสาวมากที่สุดในโลก
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก UN ระบุว่า ประมาณ 66% (กว่า 808 ล้านคน) ของประชากรทั้งประเทศอินเดีย มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งแรงงานวัยหนุ่มสาวที่ขยายตัวนี้จะเป็นผลดีต่อโรงงานของบริษัทต่างชาติ
ดังจะเห็นได้จากบริษัทต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น Apple ผู้ผลิตมือถือ iPhone, Amazon ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี, Micron บริษัทผลิตชิปประมวลผล, Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ ต่างเข้ามาลงทุนในอินเดีย โดยเฉพาะบริษัท Apple ได้ย้ายฐานบางส่วนจากจีนไปยังอินเดียแทน
เครื่องยนต์ตัวที่ 2: I (Investment) คือ การลงทุนของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนจากต่างชาติ ตั้งฐานการผลิต ขยายสาขาธุรกิจมายังไทย ส่วนนี้มีแนวโน้มสอดคล้องกับ C (Consumption) เพราะถ้าประเทศนั้นมีการบริโภคภายในที่เติบโตเร็ว นักลงทุนอาจมองว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน แต่หากการบริโภคหดตัวแทน นักลงทุนอาจชะลอการลงทุนได้ และนำเงินไปลงทุนในประเทศที่เติบโตกว่าแทน
เครื่องยนต์ตัวที่ 3: G (Government Spending) คือ การลงทุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจากการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการช้อปใช้สินค้า การขยายโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง รถไฟฟ้า ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ช่วยกระตุ้นตัวเลข GDP ให้เพิ่มขึ้นได้ หากเครื่องยนต์ C และ I เริ่มชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวจำเป็นต้องใช้งบประมาณรัฐจำนวนมาก และไม่อาจทำได้ตลอด ซึ่งหากอัดฉีดเงินมากเกินไปก็อาจเพิ่มภาระหนี้ที่ประเทศต้องแบกรับในอนาคตได้ โดยในปัจจุบัน ไทยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ 31 มี.ค. 2566 อยู่ที่ 61.30%
นอกจากนี้ ประชากรไทยที่มีแนวโน้มลดลง ยังทำให้ภาระรัฐบาลในการแบกรับสวัสดิการต่าง ๆ เช่น การประกันสุขภาพ เงินบำนาญ เพิ่มขึ้นตามมาด้วย
เครื่องยนต์ตัวที่ 4: X-M (Export-Import) คือ มูลค่าการส่งออกสุทธิ ซึ่งมาจากยอดการส่งออกหักด้วยยอดการนำเข้าของประเทศ ซึ่งหากไทยขายของให้ต่างประเทศ “ได้มากกว่า” ซื้อของจากต่างประเทศ ก็จะทำให้ตัวเลข X-M นี้เป็นบวกได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าไทยซื้อของจากต่างประเทศมากกว่าส่งขายให้ต่างประเทศ ก็จะทำให้ตัวเลข X-M เป็นลบ
ปัจจุบัน การส่งออกไทยแข่งขันสูงมากกับหลายประเทศในเอเชีย ไม่ว่ากับอินโดนีเซียที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน เวียดนามที่มีเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าจำนวนมากและประชากรใกล้แตะ 100 ล้านคนภายในปีนี้ และอินเดียซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก ซึ่งหากประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้
- การส่งออก ช่วยนำรายได้เข้าประเทศ (เครดิต: Freepik) -
ดังนั้น จากแนวโน้มประชากรไทยที่กำลังลดฮวบในอนาคตอันใกล้ จนอาจกลายเป็น “วิกฤติประชากร” จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลและภาคธุรกิจในการเตรียมรับมือ เพื่อให้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้ง 4 ตัวนี้ยังคงไปต่อได้
- เทรนด์สังคมสูงอายุในยักษ์เศรษฐกิจเอเชีย
ในปัจจุบัน คำว่า “สังคมผู้สูงอายุ” กำลังเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อประชากรในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของเอเชียอย่างจีนและญี่ปุ่น ต่างมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน เช่น
- จีน สถิติทางการจีนระบุว่า ในปี 2565 จำนวนประชากรทั้งประเทศลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี นับตั้งแต่ปี 2504 มาอยู่ที่ 1,410 ล้านคน น้อยลง 850,000 คนจากสิ้นปี 2564
ส่วนตัวเลขเด็กเกิดใหม่ เมื่อปี 2559 อยู่ที่ 17.9 ล้านคน จากนั้นตัวเลขนี้ก็ค่อย ๆ ปรับลดลงทุกปีอย่างรวดเร็ว กระทั่งเมื่อปี 2564 เด็กเกิดใหม่ในจีนลดลงมาอยู่ที่ 10.62 ล้านคน และล่าสุดปี 2565 ลงมาอยู่ที่ 9.56 ล้านคน ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2493 หรือในรอบ 73 ปี
ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตในจีนค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นเล็กน้อย จากแนวโน้มสถิติดังกล่าวจะเห็นว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ประชากรจีนลดลงคือ “เด็กเกิดใหม่น้อยลง”
ไมเคิล อี. โอแฮนลอน (Michael E. O’Hanlon) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบายต่างประเทศที่สถาบัน The Brookings Institution คาดการณ์ว่า ประชากรจีนซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการบริโภคของโลก มีแนวโน้มต่ำกว่า 1 พันล้านคนภายในปี 2623 และอาจต่ำกว่า 800 ล้านคนภายในปี 2643
- ญี่ปุ่น ข้อมูลทางการญี่ปุ่นระบุว่า เมื่อปี 2564 ประเทศมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในรอบ 122 ปี อยู่ที่ 811,604 คน และมีผู้เสียชีวิต 1,439,809 คน ทำให้จำนวนประชากรโดยรวมลดลง 628,205 คน
ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันวิจัย the National Institute of Population and Social Security Research ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า จากประชากรญี่ปุ่นในปัจจุบันที่ 124.77 ล้านคน จะมีจำนวนต่ำกว่า 100 ล้านคนภายในปี 2599 และอัตราการเกิดจะต่ำกว่า 500,000 คนภายในปี 2602
- เกาหลีใต้ ปัจจุบัน เกาหลีใต้กำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุที่ขยายตัวขึ้น โดยสำนักงานสถิติแห่งเกาหลีใต้ประเมินว่า ประชากรเกาหลีใต้อาจลดลงเป็น 37.65 ล้านคนภายในปี 2613 นับเป็นการลดลง 27% เมื่อเทียบกับปี 2563 และสัดส่วนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 17.5% เป็น 46.4% ภายในปี 2613 ซึ่งหมายความว่า ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของเกาหลีใต้ในเวลานั้น อาจเป็น “ผู้สูงอายุ”
- สิงคโปร์ เพื่อนบ้านอาเซียนของไทย เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2560 แล้ว และรัฐมนตรีสาธารณสุขสิงคโปร์คาดการณ์ว่า ประเทศจะเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) ที่มีสัดส่วนมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศภายในปี 2569 โดย 1 ใน 4 ของประชากรในเวลานั้นจะเป็นผู้สูงอายุ จากสัดส่วนเดิมอยู่ที่ 1 ใน 6
แนวทางรับมือประชากรหดตัว
เพื่อลดโอกาสเศรษฐกิจหดตัวในอนาคต รัฐบาลอาจจำเป็นต้องงัดมาตรการกระตุ้นให้ผู้คนมีลูกมากขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของไทย เหตุผลสำคัญที่คนยุคปัจจุบันไม่ค่อยต้องการมีลูก คือ ภาระค่าครองชีพที่สูง และการทำมาหากินลำบาก โดยค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก 1 คน ต้องใช้เงินประมาณ 500,000- 2,000,000 บาท/คน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละครอบครัว
- ความท้าทายในการเลี้ยงลูกในปัจจุบัน (เครดิต: Freepik) -
ดังนั้น ถ้ารัฐสามารถสนับสนุนด้านเงินในการเลี้ยงดูลูก ยิ่งมีลูกมากขึ้นก็ยิ่งได้เงินรางวัลเพิ่มขึ้น เพิ่มระยะเวลาลาคลอดและดูแลลูกโดยไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกไล่ออก พร้อมลดภาระเล่าเรียนหนังสือ ก็อาจช่วยกระตุ้นให้ประชาชนต้องการมีลูกมากขึ้นได้
นอกจากนี้ การใช้เวลาร่วมกับครอบครัวมากขึ้น ยังช่วยเพิ่มโอกาสมีลูกมากขึ้นได้ โดยเอริน ฮเย วอน คิม (Erin Hye Won Kim) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประชากรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Seoul เกาหลีใต้มองว่า ผู้หญิงในปัจจุบันมีเวลาว่างน้อยกว่าผู้ชาย เพราะใช้เวลาไปกับการทำงานบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้าง
ขณะเดียวกัน คิมค้นพบว่า อัตราการเกิดจะเพิ่มขึ้นเมื่อผู้ชายช่วยงานที่บ้านมากขึ้น โดยเธอศึกษาพบว่า เมื่อสามีทำงานบ้านมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มโอกาสการมีลูกคนที่ 2 มากขึ้น
อ้างอิง: เกื้อ วงศ์บุญสิน, ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์, พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส, ภัทเรก ศรโชติ, พัชราวลัย วงศ์บุญสิน, เรียวรุ้ง ภักดี และภาสวิชญ์ เลิศวิไลรัตนพงศ์, thaigov, nso, bbc, reuters, reuters(2), reuters(3), nikkei, brookings, koreatimes, straitstimes, bangkokbiznews, bangkokbiznews(2), japantimes