‘ภาคธุรกิจ’หนุนเพื่อไทยตั้งรัฐบาล เคยพิสูจน์ผลงานเศรษฐกิจมาแล้ว

‘ภาคธุรกิจ’หนุนเพื่อไทยตั้งรัฐบาล เคยพิสูจน์ผลงานเศรษฐกิจมาแล้ว

นักธุรกิจเกาะติดโหวตเลือกนายกฯ หลังเลือกตั้ง 2 เดือนยังไม่เห็นหน้าตารัฐบาล “หอการค้า” หนุนเพื่อไทยตั้งรัฐบาล ส.อ.ท.ห่วงชุมนุมทุบท่องเที่ยว โดยเฉพาะในจังหวัดฐานเสียงก้าวไกลทั้งชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ กลุ่มอิเล็กฯ ทำแผนรับมือสถานการณ์เสี่ยง

การเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องยืดเยื้อออกไป โดยหลังจากที่รัฐสภามีมติไม่โหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นครั้งที่ 2 และทำให้การตั้งรัฐบาลสลับมาเป็นพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ รวมถึงเป็นผู้เสนอชื่อในการประชุมรัฐสภาวันที่ 27 ก.ค.2566 ซึ่งสร้างความกังวลให้กับนักธุรกิจที่กำลังจับตาการจัดตั้งรัฐบาล โดยกังวลความล่าช้าในการตั้งรัฐบาลและการชุมนุมทางการเมือง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนไทยมีความเข้มแข็งและพร้อมให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับรัฐบาลใหม่อย่างใกล้ชิดมาตลอด และหากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลสำเร็จภายใต้ระบบของประชาธิปไตยจะได้คนที่มีประสบการณ์เข้ามาขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็มีคณะทำงานในด้านนี้อยู่แล้วและเคยได้พิสูจน์ให้เห็นในครั้งที่ผ่านมา

สำหรับการโหวตในวันที่ 27 ก.ค.2566 รอดูว่ากรณี 8 พรรคร่วมเดิมยังจับมือเดินหน้าตั้งรัฐบาล โดยเสนอแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยขึ้นมาแทน ก็จะต้องมาพิจารณาว่าสมาชิกรัฐสภาจะให้การสนับสนุนถึง 375 เสียงได้หรือไม่

รวมทั้งต้องรอดูว่ากรณีทั้ง 8 พรรคร่วม สลายขั้วเพื่อเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยเป็นอิสระในการตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคใดก็ได้ ซึ่งจะมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล โดยเสนอชื่อ นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร หรือ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตามเงื่อนไขนี้ต้องเป็นไปตามความตกลงของพรรคร่วมอีกที

‘ภาคธุรกิจ’หนุนเพื่อไทยตั้งรัฐบาล เคยพิสูจน์ผลงานเศรษฐกิจมาแล้ว นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนที่เข้ามาบริหารประเทศ สุดท้ายแล้วรัฐบาลต้องเชื่อมต่อกับภาคเอกชน เพื่ออัพเดทข้อมูลและสถานการณ์เศรษฐกิจว่ามีส่วนไหนที่ยังต้องมีการแก้ไขหรือเตรียมความพร้อมมากขึ้น คงไม่มีรัฐบาลไหนไม่รับฟัง เดินหน้าทำในสิ่งที่ตนเองคิดเพียงอย่างเดียวคงไปไม่ได้

ทั้งนี้ ภาคเอกชนกังวลความล่าช้าในการตั้งรัฐบาล เพราะมีผลต่อการใช้จ่ายงบประมาณรัฐ และมีผลต่อการเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศ ในขณะที่ไทยกำลังเผชิญการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา โดยภาคเอกชนเองได้เตรียมตัวรับมือกรณีจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า แต่ในด้านของการใช้จ่ายภาครัฐยังต้องรอรัฐบาลใหม่ในการอนุมัติงบต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่หน้ากังวล ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของชาวต่างชาติในการเข้ามาลงทุนในไทย

“ในสถานการณ์ที่เกิดการชุมนุมนั้นถ้าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการขนส่งและไม่มีความรุนแรงก็ไม่น่ากังวล ซึ่งหลายประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยจะมีการประท้วงเป็นปกติพื้นฐานอยู่แล้ว ยกเว้นเกิดความรุนแรงถึงขั้นไม่แนะนำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยจะส่งผลต่อจิตวิทยาในการลงทุนอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก”

เพื่อไทยตั้งรัฐบาลเชื่อเข้าใจธุรกิจ

นายวรเดช ศิวเตชานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีอาร์เอ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชนไม่ติดว่าใครจะเข้ามาขอให้รีบเข้ามาทำงาน ดังนั้นหากเปลี่ยนจากพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมาเป็นพรรคเพื่อไทยก็ยอมรับได้ เนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยมีแนวทางการบริหารเศรษฐกิจดี กล้าเสี่ยง เข้าใจการดำเนินธุรกิจ

"การที่คุณเศรษฐาเข้ามาไม่มีปัญหา และคาดว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสร็จภายในไตรมาส 3 นี้ แต่ยอมรัับว่าสิ่งที่เป็นกังวล คือ เรื่องม็อบที่อาจเกิดขึ้น เพราะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดความรุนแรงเหมือนในอดีต”

ห่วงม็อบในพื้นที่ฐานเสียงก้าวไกล

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยยังดำเนินมาต่อเนื่องกว่า 2 เดือน หลังจากวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ซึ่งทำให้ที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติเกิดความไม่มั่นใจ รวมทั้งตั้งคำถามว่าต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร นโยบายรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร ซึ่ง ส.อ.ท.เองก็ให้คำตอบไม่ได้และทำอะไรไม่ได้มาก จึงทำได้เพียงเป็นเสียงสะท้อนให้ภาครัฐเร่งการจัดตั้งรัฐบาลให้เสร็จโดยเร็วตามกรอบไทม์ไลน์ที่ได้มีการพูดคุยกันไว้

นอกจากนี้ การโหวตนายกรัฐมนตรีทั้ง 2ครั้ง และหาข้อสรุปไม่ได้ยังอาจเป็นชนวนของสถานการณ์การชุมนุมที่ขยายวงกว้างไปยังหัวเมืองการท่องเที่ยวและส่งผลต่อบรรยากาศและภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหนึ่งเดียวที่เราคาดหวังให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้

“คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลหลายจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี ทำให้กังวลว่าหากมีการชุมนุมการเมืองจะไปกระทบต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวและทำให้ไทยเสียโอกาสดึงนักท่องที่ยวกลบัเข้ามาในช่วงไฮซีซั่น”